GMS กับบทบาทนำภูมิภาคสู่ Borderless Economics
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับทราบเรื่องผลการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 25 (The 25th GMS Ministerial Conference)
ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
1.รับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (Greater Mekong Subregion : GMS) (แผนงาน GMS) ครั้งที่ 25
2.มอบหมายหน่วยงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามผลการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 25 และให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงคมนาคมไปดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญว่าด้วยกลุ่มประเทศ GMS (ประเทศไทย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สปป.ลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน) ได้เห็นชอบเรื่องต่างๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ โอกาสครบรอบ 30 ปีของการจัดตั้งแผนงาน GMS ซึ่งมีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ เช่น โครงการขยายถนนทางหลวง GMS ระยะที่ 2 ที่ได้ขยายถนนทางหลวงหมายเลข 22 และ 23 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และโครงการขยายถนนทางหลวงเป็น 4 ช่องจราจรสู่ด่านพรมแดนทุกด่าน ส่งผลให้การสัญจรและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมีความสะดวกและเกิดการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาค
นอกจากนี้ มีโครงการสำคัญที่ไทยดำเนินการร่วมกับ สปป.ลาว ได้แก่ โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากสถานีท่านาแล้งไปยังเวียงจันทน์ ระยะทาง 7.5 กิโลมตร และโครงการปรับปรุงถนนหมายเลข 12 (R12) ใน สปป.ลาว (ช่วงสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 ไปยังด่านพรมแดนน้ำพาว) ซึ่งทำให้ไทยและ สปป.ลาว เป็นศูนย์กลางด้านการค้าและโลจิสติกส์ใน GMS และการสนับสนุนแนวทางการระดมทุนใหม่ๆ เพื่อพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การออกตราสารหนี้สีเขียว
การเร่งดำเนินงานตามความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งข้ามพรมแดนใน GMS (GMS Cross-Border Transport Agreement GMS CBTA) ในระยะแรกอย่างต่อเนื่อง ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้คลี่คลายลง โดยเฉพาะการเร่งปรับปรุงกฎระเบียบการดำเนินงานในด่านพรมแดนเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการใน GMS และเพื่อให้เกิดการบูรณาการห่วงโซ่มูลค่าของ GMS เข้ากับห่วงโซ่มูลค่าโลกต่อไป
นอกจากนี้ สนับสนุนให้กิจการธุรกิจท่องเที่ยวขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย นำเทคโนโลยี ดิจิทัลมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าและแก้ไขปัญหาทางธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่น
ส่วนแผนการดำเนินงานในระยะต่อไปให้เร่งพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งอย่างต่อเนื่องและครอบคลุม เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน โครงการปรับปรุงท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวเพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกในการนำเข้า ส่งออก รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพื่อจูงใจการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 แห่ง และพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Easten Econornic Comidor : EEC) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาโครงการลงทุนมูลค่าสูง และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมและลดความยากจนแก่ประชาชนตามแนวชายแดนและพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ
จากแผนงานของ GMS ที่มีลักษณะความร่วมมือที่ยึดด้านภูมิประเทศเป็นหลัก กำลังนำเอาจุดเด่นของความร่วมมือมาลดจุดอ่อนของระดับการพัฒนาที่ต่างกัน หากแผนดังกล่าวประสบความสำเร็จ การสร้าง Borderless Economics ก็จะเป็นการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น