คนไทยลงทุนทำ’ ธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยง’ เพิ่มตอบรับ วิถีชีวิต New Normal
วิถีชีวิต New Normal โสด สังคมผู้สูง อายุ ดันธุรกิจบริการสัตว์เลี้ยง บูม เหตุนิยมการเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อน การยกสถานะสัตว์เลี้ยงเสมือนคนในครอบครัว ส่งผลให้ธุรกิจบริการสัตว์เลี้ยงมีผลตอบรับที่ดี ดึงดูดนักลงทุนเข้าตลาดเพิ่มขึ้น
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยข้อมูลธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงในประเทศไทย พบว่า ปี 2563 - 2565 ธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงมีอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้น ปี 2563 จดทะเบียนจัดตั้ง 63 ราย ทุนจดทะเบียน 101.90 ล้านบาท ปี 2564 จัดตั้ง 68 ราย เพิ่มขึ้น 5 ราย หรือ 8% ทุน 119.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.23 ล้านบาท หรือ 17% ปี 2565 จัดตั้ง 130 ราย เพิ่มขึ้น 62 ราย หรือ 91% ทุน 210.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91.22 ล้านบาท หรือ 77%
การลงทุนของผู้ประกอบการในธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับปริมาณการขายอาหารสัตว์และมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยปริมาณการขายอาหารสัตว์ตั้งแต่ปี 2560 - 2564 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2564 เพิ่มขึ้น 13% จากปีที่ผ่านมา (2563) ขณะที่ปี 2565 คาดว่าจะมีปริมาณการขายอาหารสัตว์ในตลาดราว 929 ล้านกิโลกรัมเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ประมาณ 8 %
โดยจำนวนอาหารสัตว์ในตลาดสอดคล้องกับจำนวนการเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้นของสังคมไทย ลักษณะของอาหารสัตว์มีการแบ่งประเภทมากขึ้น เช่น โรคเฉพาะของสัตว์เลี้ยง การบำรุงเฉพาะส่วน และตามอายุของสัตว์เลี้ยง ซึ่งสนับสนุนธุรกิจบริการดูแลสัตว์ให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าและการบริการที่หลากหลาย
“สินิตย์ เลิศไกร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยง ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดย ปัจจุบันสังคมไทยเข้าสู่ภาวะการแข่งขันทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการประกอบสัมมาอาชีพ ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไป การไม่มีครอบครัว ครองตัวเป็นโสด สังคมผู้สูงอายุ และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น การเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญและมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงมีการเติบโตต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
หากพิจารณาแนวโน้มมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงพบว่า ปี 2564 มีมูลค่าสูงถึง 44,592 ล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าในปี 2569 ตลาดสัตว์เลี้ยงจะมีมูลค่าสูงถึง 66,748 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 8.4 %ซึ่งเป็นปัจจัยบวกให้กับธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ผลกำไรจากการประกอบธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยง ก็น่าสนใจเช่นกัน โดยข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า ผลประกอบการธุรกิจ โดยรายได้รวมของธุรกิจ ปี 2562 อยู่ที่ 2,933.51 ล้านบาท กำไร 57.63 ล้านบาท ปี 2563 รายได้รวม 3,512.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 578.93 ล้านบาท หรือ 20% กำไร 46.31 ล้านบาท และ ปี 2564 รายได้รวม 4,267.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 755.28 ล้านบาท หรือ 22% กำไร 127.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 81.45 ล้านบาท หรือ 176%
ทั้งนี้ธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของคนไทย มีมูลค่าการลงทุน 1,334.93 ล้านบาท คิดเป็น 98.19% ของการลงทุนในธุรกิจทั้งหมด ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติสูงสุด คือ จีน มูลค่า 5.15 ล้าน รองลงมา คือ ญี่ปุ่น มูลค่า 5.02 ล้านบาท อังกฤษ มูลค่า 3.88 ล้านบาท และอื่นๆ มูลค่า 10.62 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามแม้ว่าการเติบโตของธุรกิจบริการดูแลสัตว์จะมีแนวโน้มที่ดีแต่มีสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องพึงระวัง โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แนะนำว่า ผู้ประกอบการธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงควรมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพิ่มช่องทางการให้บริการโดยนำเทคโนโลยีมาช่วยในการดำเนินธุรกิจ และพัฒนารูปแบบการให้บริการใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า เช่น การให้บริการโดยคำนึงถึงความสะอาด มีมาตรฐาน ใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัย สามารถติดตามสัตว์เลี้ยงได้ 24 ชั่วโมง มีบริการที่ครบวงจร
รวมทั้งให้ความสำคัญกับการรักษาโรคของสัตว์เลี้ยงทั้งโรคทั่วไปและเฉพาะทาง รวมทั้ง ธุรกิจต้องคำนึงถึงการบริหารต้นทุน และใส่ใจการบริการที่เป็นเลิศเพื่อดึงลูกค้าให้กลับมาใช้บริการซ้ำ ส่งผลให้ผู้ใช้บริการเกิดความประทับใจ และธุรกิจสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง
ธุรกิจบริการดูแลสัตว์ จึงถือเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองอีกธุรกิจหนึ่งในยุคนี้ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ล้อไปกับธุรกิจอาหารสัตว์ที่ปัจจุบันมีโอกาสเติบโตสูงและสร้างมูลค่าเพิ่มมาก หลังคนรุ่นใหม่เปย์ไม่อั้น พร้อมมองหาสินค้า-บริการอำนวยความสะดวกและดูแลสุขภาพ ดังนั้นธุรกิจบริการดูแลสัตว์จึงเติบโตตามไปด้วย