“เอฟดีไอ” เวียดนามปี 66 วิ่งฉลุย “ภูมิรัฐศาสตร์-เทรดวอร์” หนุน
การลงทุนโดยตรง (FDI) ของเวียดนามยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยกระทรวงวางแผนและการลงทุน เวียดนาม คาดการณ์ว่าในปี 2566 เวียดนามจะสามารถดึงดูดการลงทุนได้ราว 36,000-38,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งจะเกิดมูลค่าการลงทุนจริงในปีนี้ราว 22,000-23,000 ล้านดอลลาร์
โดยในปีนี้เวียดนามจะให้ความสำคัญกับการอนุมัติลงทุนในโครงการที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ เทคโนโลยีสีเขียว และสร้างมูลค่าเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการที่จีนเปิดประเทศอาจเข้ามาแย่งเม็ดเงินลงทุนที่จะไหลเข้ามา เนื่องจากจีนถือเป็นประเทศผู้นำและจุดหมายการลงทุนของภูมิภาค แต่เชื่อว่าเวียดนามจะเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจของการเคลื่อนย้ายฐานทุนจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน และจะยังขยายตัวต่อเนื่องไปจนถึงปี 2568
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกของเวียดนามในปี 2566 ยังคงขยายตัวได้ดีแม้ว่าจะไม่โดดเด่นเท่าปีก่อนเนื่องจากแรงต้านจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณคำสั่งซื้อที่ลดลงในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีที่แล้วเช่นเดียวกับไทย อย่างไรก็ตาม มองว่าเศรษฐกิจเวียดนามที่โตได้ 8% ในปีที่แล้วจะยังโตต่อเนื่องในปีนี้ แม้จะพึ่งพาการส่งออกเยอะแต่ก็ยังเติบโตได้
ขณะที่การลงทุนโดยตรงในประเทศเวียดนาม (FDI) ในปีที่ผ่านมามีบริษัทที่เข้ามาลงทุนกว่า 2,000 บริษัท เมื่อเทียบสัดส่วนมูลค่าการลงทุนกับประเทศไทยแล้ว คิดเป็นอัตรา 3 ต่อ 1 ซึ่งมองว่าในปีนี้ก็จะยังคงขยายตัวในลักษณะนี้ เนื่องจากกระแสของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ยังคงอยู่ ซึ่งจะกดดันให้เกิดการเคลื่อนย้ายฐานผลิตของทั้งบริษัทจีนและต่างชาติออกจากจีน
ทั้งนี้ เวียดนามถือเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ ทั้งจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นสิงคโปร์ และไต้หวัน นับเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคนี้ รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย และอันดับสามเป็นไทย โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กว่า 50 ประเทศ การขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างโดดเด่นในปีที่ผ่านมา และการเดินหน้ากลยุทธ์สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการลงทุน
รวมทั้งการลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่มไฮเทค เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อัจฉริยะและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ต้องการกระจายความเสี่ยงการลงทุน
นอกจากนี้ เวียดนามยังได้เปรียบเรื่องต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับไทย เวียดนามมีต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 2.80 บาทต่อหน่วย และค่าแรงขั้นต่ำที่ถูกกว่า ทำให้ดึงดูดกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง เช่น สิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งจะได้ประโยชน์ในการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศยุโรปและประเทศที่มีข้อตกลง FTA
จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจเวียดนามในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยเป็นจุดยุทธศาสตร์การลงทุนสำคัญ ซึ่งจะดึงดูดการลงทุนเข้ามาในช่วงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้คาดว่าสถิติการลงทุนในเวียดนามปีนี้ยังขยายตัว
“การขยายตัวของการลงทุนจะมีมาก โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ดับบลิวเอชเออยู่ระหว่างการเจรจากับนักลงทุนรายใหญ่ที่จะซื้อนิคมอุตสาหกรรมที่เวียดนาม ขณะที่ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ยังให้ความสนใจลงทุนในไทย โดยในปีนี้ดับบลิวเอชเอตั้งเป้ายอดขายนิคมอุตสาหกรรมในเวียดนามอยู่ที่ 550 ไร่”
สำนักงานสถิติเวียดนาม รายงานว่า ในปี 2565 เวียดนามมีมูลค่าเอฟดีไออยู่ที่ 22,400 ล้านดอลลาร์ เป็นการลงทุนจากกว่า 100 ประเทศ โดยสิงคโปร์มีมูลค่าลงทุนสูงสุด อยู่ที่ 6,460 ล้านดอลลาร์ รองลงมาเป็นเกาหลีใต้ มูลค่า 4,880 ล้านดอลลาร์ และญี่ปุ่น 4,780 ล้านดอลลาร์
การลงทุนได้กระจายการลงทุนใน 54 จังหวัด ซึ่งโฮจิมินห์เป็นจังหวัดที่มีสติการลงทุนสูงที่สุดมูลค่า 3,940 ล้านดอลลาร์ รองลงมาเป็นเมืองบินห์เซือง 3,140 ล้านดอลลาร์ และกว๋างนินห์ 2,370 ล้านดอลลาร์
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย รายงานว่า ภาคการผลิตของเวียดนามยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (IIP) ในปี 2565 เพิ่มขึ้น 7.69% โดยอุตสาหกรรมการแปรรูปและการผลิตเพิ่มขึ้น 8.1% การผลิตและการจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น7.05% การจัดการและบำบัดน้ำเสียเพิ่มขึ้น 7.45% และอุตสาหกรรมเหมืองแร่เพิ่มขึ้น 5.19%
สำหรับอุตสาหกรรมการแปรรูปและการผลิตที่เพิ่มขึ้น เช่น การผลิตเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 32.3% , ยาและเวชภัณฑ์ เพิ่มขึ้น 19.2% , เครื่องหนัง เพิ่มขึ้น 15.6% ,เสื้อผ้า เพิ่มขึ้น 14.8% ,เครื่องจักรกล เพิ่มขึ้น 19.1% ,ยานยนต์ เพิ่มขึ้น 12.3% และกระดาษ เพิ่มขึ้น 10% ในขณะที่อุุตสาหกรรมที่ลดลง เช่น การผลิตโลหะ ลดลง 2.5% และผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ลดลง 6.6%
ในขณะที่เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตช้าลงในปี 2566 เนื่องจากพบกับความท้าทายต่างๆ เช่น การเติบโตของ ภาคการส่งออกที่ลดลงจากความต้องการของตลาดสหรัฐและยุโรปที่ชะลอตัว รวมทั้งความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ขององค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง เศรษฐกิจเวียดนามในปี2566 จะเติบโตระหว่าง 6.3-7.2% จากปัจจัยสนับสนุน เช่น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวการเร่งการเบิกจ่ายเงินทุนภาครัฐ และการลงทุน โดยตรงจากต่างประเทศที่ยังขยายตัวในปี 2566