พาณิชย์ คาดเปิดโต๊ะเจรจารอบแรกเอฟทีเอไทย-อียู ได้ไตรมาสแรก

พาณิชย์ คาดเปิดโต๊ะเจรจารอบแรกเอฟทีเอไทย-อียู ได้ไตรมาสแรก

“จุรินทร์”เผย หลังครม.เห็นชอบทำเอฟทีเอกีบสหภาพยุโรปหรืออียู เตรียม แจ้งอียูรับทราบ ก่อนประกาศนับหนึ่งเพื่อเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการ เผยจะช่วยสร้างแต้มต่อทางการค้า การลงทุนให้กับการส่งออก ด้านกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ คาดเปิดโต๊ะเจรจารอบแรกได้ในไตรมาสนี้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบการทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งมี 27 ประเทศ  โดยหลังจากนี้ตนจะรีบแจ้งให้นายวัลดิส โดมโบรฟสกิส รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า หรือเทียบเท่าในระดับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของสหภาพยุโรป รับทราบ เพื่อดำเนินการขอความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศ เมื่อเสร็จสิ้น จะประกาศนับหนึ่งอย่างเป็นทางการร่วมกันระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป เพื่อเดินหน้าการเจรจา FTA ต่อไป

       

ทั้งนี้ ในปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับ 18 ประเทศ ถ้าเพิ่ม FTA ไทย-สหภาพยุโรปอีกหนึ่งฉบับ จะเป็น 15 ฉบับและเพิ่มจำนวนประเทศเป็น 45 ประเทศ ถ้าอนาคตสามารถทำเพิ่มได้อีก 1-2 ฉบับ จะสามารถแซงหน้าเวียดนามในเรื่องแต้มต่อทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ ได้ และยังจะช่วยเร่งรัดส่งเสริมการลงทุนและเพิ่มการส่งออกต่อไปในอนาคต


 "เอฟทีเอฉบับนี้ สำคัญอย่างยิ่ง รอมานานเป็น 10 ปี วันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเกือบก้าวสุดท้าย เพราะคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบมอบให้ผมเป็นผู้ดำเนินการต่อไป โดยการเริ่มเจรจา FTA ตั้งเป้าร่วมกันกับสหภาพยุโรป ตอนผมไปบรัสเซลส์ เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยจะเร่งประกาศนับหนึ่งภายในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งสหภาพยุโรปมี FTA กับอาเซียนเพียง 2 ประเทศ คือ เวียดนามและสิงคโปร์ ถ้าสำเร็จ ไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ของอาเซียน”นายจุรินทร์กล่าว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ภายหลังที่ครม.มีมติให้ความเห็นชอบ เจรจาเอฟทีเอ ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป แล้ว ขั้นตอนจากนีเทางไทยจะทำหนังสือแจ้งมติครม.ของไทยไปยังอียูให้รับทราบอย่างเป็นทางการ ขณะที่ทางอียูอยู่ในระหว่างหารือกันภายในของสหภาพยุโรปเพื่อขอคำรับรองจากสมาชิก 27 ประเทศ ซึ่งหากว่าได้คำรับรองแล้วซึ่งคาดว่าไม่นาน ก็จะมีการประกาศเปิดการเจรจาระหว่างไทยกับอียูอย่างเป็นทางการ จากนั้นก็จะมีการประชุมเปิดการเจรจากันนัดแรกภายในไตรมาสนี้ โดยกรอบการเจรจาเอฟทีเอก็น่าจะคล้ายกับเอฟทีเอที่อียูทำกับประเทศอื่นๆ เช่น เปิดตลาดสินค้า บริการ การลงทุน เป็นต้น แต่ในรายละเอียดของข้อบทต่างๆก็ขึ้นอยู่กับการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่าย

ทั้งนี้ สหภาพยุโรป มีความสำคัญกับไทย โดยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 รองจากจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ในปี 2565 ไทยค้ากับสหภาพยุโรปมูลค่า 41,038 ล้านดอลลาร์ เพิ่ม 2.87% คิดเป็นสัดส่วน 7% ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 22,794 ล้านดอลลาร์เพิ่ม 5.17% หรือประมาณ 843,378 ล้านบาท

ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้มอบสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู ซึ่งผลการศึกษาระบุว่า ในกรณีที่ไทยและอียูซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 27 ประเทศ ได้ลดภาษีศุลกากรสินค้าระหว่างกันทุกรายการคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจของไทย (GDP)ขยายตัว 1.28%หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.05 แสนล้านบาท โดยการส่งออกจากไทยไปโลกจะสูงขึ้น 2.83%หรือ 2.16 แสนล้านบาท และการนำเข้าจากโลกสูงขึ้น 2.81%หรือ 2.09 แสนล้านบาท โดยขณะเดียวกัน การเจรจาจะส่งผลให้ความตกลงรวมประเด็นการค้าใหม่ ๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ สิ่งแวดล้อมและแรงงาน และการแข่งขันทางการค้า เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการเจรจาด้วยความรอบคอบรัดกุม และมีการหารือผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึง เนื่องจากอียูมีมาตรฐานสูง