การรถไฟฯ โต้ปม 'ที่ดินเขากระโดง' ยันบันทึกบัญชีตามมาตรฐาน
การรถไฟฯ ชี้แจงกรณี ส.ส. พรรคประชาชาติ อภิปรายพาดพิงการไม่บันทึกบัญชีที่ดินเขากระโดงในงบการเงินให้ครบถ้วน ยันบันทึกในงบการเงินตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 ส่วนที่ดิน 5 พันไร่ อยู่ระหว่างพิสูจน์สิทธิในชั้นศาล
รายงานข่าวจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ตามที่พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชาติ ได้อภิปราย เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยพาดพิงถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับที่ดินเขากระโดง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ วันที่ 30 ก.ย. 2564 โดยสรุปว่า “ในเอกสารประกอบการพิจารณาที่การรถไฟฯ จัดส่งให้แก่กรรมาธิการงบประมาณนั้น ระบุที่ดินนอกย่านของการรถไฟฯ ที่จังหวัดบุรีรัมย์ - โรงโม่ ทางเข้าเขากระโดง ว่ามีจำนวน 69.19 ไร่เท่านั้น ในขณะที่ศาลฎีกาได้เคยตัดสินว่า ที่ดินบริเวณดักงกล่าวเป็นที่ดินของการรถไฟฯ 5,000 กว่าไร่ จึงมีข้อสงสัยว่าที่ดินที่นอกเหนือจาก 69.19 ไร่ หายไปไหน”
อย่างไรก็ดี เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงในการบันทึกบัญชีที่ดิน และมีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวอย่างครบถ้วนการรถไฟฯ จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
การกำหนดรายละเอียดในทะเบียนบัญชีสินทรัพย์กรณีที่จะต้องส่งให้กับคณะกรรมาธิการงบประมาณ เพื่อประกอบการพิจารณา ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 16 เรื่องที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ สำหรับมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 เรื่องที่ดิน อาคารและอุปกรณ์
“ข้อ 7 กิจการต้องรับรู้ต้นทุนของรายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์เป็นสินทรัพย์ก็ต่อเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขทุกข้อ ต่อไปนี้
7.1 มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตจากรายการนั้น และ
7.2 กิจการสามารถวัดมูลค่าต้นทุนของรายการนั้นได้อย่างน่าเชื่อถือ”
ส่วนที่ดิน จำนวน 69.19 ไร่ ตามที่พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ได้กล่าวถึงนั้น เป็นเส้นทางเดินรถแยกจากสถานีรถไฟบุรีรัมย์เข้าไปยังที่ดินการรถไฟฯ บริเวณเขากระโดง ซึ่งไม่มีปัญหาการโต้แย้งกรรมสิทธิ มีข้อมูลครบถ้วน ชัดเจน การรถไฟฯ จึงสามารถบันทึกรายการดังกล่าวลงในบัญชีสินทรัพย์ของการรถไฟฯ จำนวน 69.19 ไร่ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานบัญชี ฉบับที่ 16 และ สตง. ไม่ได้ท้วงติงโต้แย้งในประเด็นนี้
สำหรับพื้นที่ที่เหลือในจำนวน 5,083 ไร่ ซึ่งพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ได้กล่าวว่า การรถไฟฯ ไม่ได้บันทึกทะเบียนสินทรัพย์ นั้น เป็นที่ดินที่ยังมีปัญหาการโต้แย้งกรรมสิทธิ และอยู่ระหว่างกระบวนการพิสูจน์สิทธิ จึงเป็นกรณีที่ยังไม่สามารถวัดมูลค่าต้นทุนของรายการที่ดินนั้นได้อย่างน่าเชื่อถือ ทำให้ไม่สามารถลงบันทึกในทะเบียนสินทรัพย์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 ได้ ซึ่งการรถไฟฯ ได้ฟ้องเพื่อพิสูจน์สิทธิต่อศาลปกครองกลางไปแล้ว
ทั้งนี้ การบันทึกบัญชีทรัพย์สินหรือหลักฐานอื่นใด จำนวน 5,083 ไร่ ดังกล่าว การรถไฟฯ ได้จัดเก็บหลักฐานในรูปแบบต่างๆ ประกอบด้วย
• พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี พุทธศักราช 2462 ประกาศวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 โดยมีการจัดเก็บแผนที่อยู่ที่ กระทรวงเกษตราธิการ ที่ว่าการกรมรถไฟหลวง และศาลารัฐบาล มณฑลนครราชสีมา และมณฑลอุบลราชธานี
• พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.2464 ประกาศ ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2464
• รวมถึงเอกสารการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อพิสูจน์สิทธิในที่ดินดังกล่าว เนื่องจากที่ดินดังกล่าว มีการออกเอกสารสิทธิทับซ้อน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิ
โดยการรถไฟฯ ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล เมื่อกระบวนการพิสูจน์สิทธิเสร็จสิ้น หรือคดีถึงที่สุดแล้ว การรถไฟฯ พร้อมที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาและจะได้ดำเนินการตามมาตรฐานบัญชี ฉบับที่ 16 ต่อไป
สำหรับที่ดินรถไฟเส้นทางพังงา – ท่านุ่น ที่พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชาติ นำมากล่าวอ้างนั้น ข้อเท็จจริงปรากฎว่า บริเวณดังกล่าวมีพื้นที่รวมประมาณ 905 ไร่ และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ประมาณ 251 ไร่ กรณีนี้จึงมีลักษณะเช่นเดียวกันกับพื้นที่เขากระโดงที่ได้มีการบันทึกรายการทะเบียนสินทรัพย์สำหรับที่ดินบางส่วนแล้ว ซึ่งยังคงมีที่ดินอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งยังต้องมีการพิสูจน์สิทธิในชั้นศาล เมื่อกระบวนการพิสูจน์สิทธิเสร็จสิ้น จึงจะนำมาบันทึกในรายการทรัพย์สิน ตามมาตรฐานบัญชี ฉบับที่ 16 ต่อไป
ทั้งนี้ การรถไฟฯ ขอยืนยันว่าได้ดำเนินการทุกอย่างตามระเบียบ และขั้นตอนของกฎหมาย ด้วยความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล ดำเนินการอย่างอิสระตรงไปตรงมา ไม่เลือกปฏิบัติ โดยเห็นแก่ประโยชน์ขององค์กร และประเทศชาติเป็นสำคัญ