ประมง ‘ปิดอ่าว’ 3 เดือนฟื้นฟูแม่พันธุ์ปลาทู
เพื่อคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์ปลาทูและสัตว์น้ำมีไข่ให้แพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน กรมฯจะประกาศปิดอ่าวไทยทุกปีต่อเนื่อง ครอบคลุมพื้นที่บริเวณอ่าวไทยทั้งหมด
เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ระบุ เพื่อคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์ปลาทูและสัตว์น้ำมีไข่ให้แพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน กรมฯจะประกาศปิดอ่าวไทยทุกปีต่อเนื่อง ครอบคลุมพื้นที่บริเวณอ่าวไทยทั้งหมด แบ่งเป็น
บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนกลาง 2 ช่วงระยะเวลา ได้แก่ ระหว่างวันที่ 15 ก.พ. – 15 พ.ค. 2566 ตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ถึงอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และระหว่างวันที่16 พ.ค. – 14 มิ.ย. 2566 ในบริเวณอาณาเขตตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลางและเขตต่อเนื่องตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
บริเวณพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก 2 ช่วงระยะเวลา ได้แก่ ระหว่างวันที่ 15 มิ.ย. – 15 ส.ค. 2566 ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในฝั่งตะวันตกของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร และระหว่างวันที่ 1 ส.ค. – 30 ก.ย. ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในด้านเหนือของจังหวัดสมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี
“มาตรการปิดอ่าวไทยในปีที่ผ่านมา จากข้อมูลทางวิชาการ พบว่า การประกาศใช้มาตรการปิดอ่าวไทย ทำให้พ่อแม่พันธุ์ปลาทูมีความสมบูรณ์เพศและมีการแพร่กระจายของลูกปลาทูและสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดอื่นในพื้นที่ที่ประกาศใช้มาตรการอย่างชัดเจน”
ส่วนพื้นที่อ่าวไทยบริเวณบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเปรียบเทียบองค์ประกอบของลูกปลาทูและสัตว์น้ำชนิดอื่น พบว่า ระยะเวลาและพื้นที่บังคับใช้มาตรการ มีการปรับปรุงประกาศให้สอดคล้องกับสภาวะทรัพยากรและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา
ทั้งนี้ ในการติดตามประเมินผลทางวิชาการของมาตรการฯ พบว่าในห้วงเวลาก่อนการประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลาง ช่วงวันที่ 1 – 14 ก.พ. พบพ่อแม่ปลาทูมีความสมบูรณ์เพศในอัตราที่สูง ติดต่อกัน 2 ปี (2564- 2565) โดยในปี 2564 พบมากถึง 90.60%เป็นเพศเมีย 90.37% เป็นเพศผู้ และ ปี 2565 พบเป็นเพศเมีย 100 % และเพศผู้ 87.04 % ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปลาทูมีความสมบูรณ์เพศก่อนช่วงมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลาง และพบความยาวเฉลี่ยของ พ่อ-แม่ ปลาทูอยู่ที่ 18.5 เซนติเมตร พร้อมสืบพันธุ์วางไข่
จึงมีข้อเสนอแนะทางวิชาการว่าเห็นควรปรับปรุงมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลางให้สอดคล้องกับสภาวะทรัพยากรและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
โดยสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้มีข้อเสนอว่าควรปรับช่วงเวลาปิดอ่าวตั้งแต่วันที่ 1ก.พ. ในปี พ.ศ. 2567
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ประกาศปิดอ่าว ช่วงวันที่ 15 ก.พ.- พ.ค. เป็นระยะเวลา 90 วัน นั้น กลุ่มเรือประมงขนาดเล็ก จะได้รับอนุญาตให้ทำประมงได้ แต่ต้องเป็นเครื่องมือที่เหมาะสม ไม่กระทบกับมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลาง เช่น เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่างที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 16 เมตร เครื่องมืออวนติดตาปลาที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส มีช่องตาอวนตั้งแต่สองนิ้วขึ้นไป เครื่องมืออวนปู อวนลอยกุ้ง เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ลอบปู ลอบหมึก ซั้ง คราดหอย อวนรุนเคย เป็นต้น
สำหรับช่วงที่ วันที่16 พ.ค. – 14 มิ.ย. รวม 30 วัน อนุญาตให้เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ ถ่าง แต่ไม่ได้จำกัดความยาวของเรือที่ใช้ทำการประมง และเวลาในการทำการประมง สามารถทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่งของพื้นที่บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี และ อวนลากคานถ่าง เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตัก ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ประกอบเรือกล ที่มีขนาด 10 ตันกรอส อนุญาตให้ทำการประมงได้นอกเขตทะเลชายฝั่ง เฉพาะบริเวณเขตต่อเนื่องปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
หากผู้ใดฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 30 ล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครองอีกด้วย
แม้มาตรการปิดอ่าวไทยฯ จะสร้างข้อจำกัดต่อการประมงในบางช่วงเวลาแต่ผลที่ได้ก่อให้เกิดกระบวนการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตปลาทูแต่ละช่วงวัย ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ชาวประมงเกิดความตระหนักในการทำประมงได้อย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้คุ้มค่าและเกิดความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำและเกิดความสมดุลกับการประกอบอาชีพของชาวประมง