‘เศรษฐกิจไทย’ ปี 65 ขยายตัว 2.6% ส่งออกฉุด GDP ต่ำเป้า ‘สศช.’ คาดปี 66 โต 3.2%
สศช.แถลงจีดีพีไตรมาส 4 ปี 2565 ขยายตัวได้ 1.4% แต่ติดลบจากไตรมาส 3 1.5% รับไตรมาสที่4 ส่งออกลบหนักกว่า 10.5% บริโภคภาครัฐชะลอลง ส่งผลจีดีพีปี 65 ขยายตัวแค่ 2.6% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ 3.2% ปรับจีดีพีปี 66 จาก 3.5% เหลือ 3.2% จับตาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
วันนี้ (17 ก.พ.) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงข่าว เรื่อง “รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ของปี 2565 ทั้งปี 2565 และแนวโน้มปี 2566” โดยเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ของปี 2565ขยายตัว 1.4% ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 4.6% ในไตรมาสที่สามของปี 2565 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ขยายตัวลดลง 1.5 %
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัว 2.6% ปรับตัวดีขึ้นจาก1.5% ในปี 2564 โดยเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ในปี 2565 เดิมที่คาดว่าอยู่ที่ 3.2% โดยเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวไม่ได้ตามเป้าหมายเนื่องจากภาคการส่งออกที่ปรับลดลงมากในไตรมาสสุดท้ายที่ภาคการส่งออกติดลบลงกว่า 10.5% จากผล กระทบของเศรษฐกิจโลก
โดยส่วนที่ลดลงมากเช่น สินค้ายานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น โดยเกิดจากการหดตัวอย่างรวดเร็วของประเทศคู่ค้า และอีกส่วนหนึ่งเป็นปัญหาจากการส่งออกของไทยที่ค่อนข้างที่จะแคบที่จะต้องเร่งที่จะขยายการส่งออกเพิ่มเติม โดยต้องเร่งการเจรจา FTA กับประเทศใหม่ๆ รวมทั้งต้องปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าที่เราเคยผลิตไปสู่สินค้าใหม่ๆ เพื่อให้อุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถที่จะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากปี 2564 นอกจากนี้ยังมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน
"เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ต้องติดตามสถานการณ์ ความเป็นไปได้ที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิคนั้นยังไม่มาก ต้องเร่งมาตรการต่างๆต่อเนื่อง รวมทั้งบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่จะขยายตัวต่อไปได้" นายดนุชา กล่าว
สำหรับแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 สศช.ได้ปรับคาดการณ์จีดีพีลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 3 - 4% หรือค่ากลาง 3.5% มาเหลือ 2.7 - 3.7% โดยค่ากลางอยู่ที่ 3.2%
โดยในปี 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะอยู่ที่ 28 ล้านคน จากเดิมคาดว่าอยู่ที่ 23 ล้านคน ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะติดลบ 1.6% จากเดิมที่ขยายตัวได้ 5.5% ในปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยที่จะเกิดขึ้น
สำหรับแนวโน้มของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภค ของภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.2% การใช้จ่ายรัฐบาลคาดว่าจะติดลบ 1.5%
การลงทุนรวมคาดว่าจะขยายตัว 2.2% แบ่งเป็นการลงทุนเอกชน 2.1% และการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัว 2.7%
สำหรับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2566 ควรให้ความสำคัญกับ การดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อย ทั้งหนี้สินในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาด การสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่การผลิตของภาคการเกษตร การปรับโครงสร้างการผลิตและการขยายผลการทำเกษตรยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์ การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า โดยการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก การส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังมีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดี และการสร้างตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง การติดตามประเมิน
รวมทั้งสถานการณ์และเงื่อนไขการค้าโลก การพัฒนาสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม ให้มีคุณภาพ และมาตรฐานตรงตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิต การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และ การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหาร จัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสมเพื่อรองรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดย การแก้ไขปัญหาและเตรียมความพร้อมให้ภาคการท่องเที่ยวรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งการพิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการสนับสนุนอื่น ! ให้ผู้ประกอบการสามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้ การส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูงและยั่งยืน
นอกจากนี้ยังควรต้องมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และ การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ
สำหรับการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน ได้แก่ การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2563 - 2565 ให้เกิดการลงทุนจริงโดยเฉพาะโครงการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างประเทศเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต
การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน
ด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ และ การพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูงเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมที่เน้น เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้มข้น
รวมทั้งต้องมีการขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐควบคู่ไปกับการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังเพื่อรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนในระยะป่านกลางและเพิ่มศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การติดตาม เฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก และ การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ