คลังชี้รัฐบาลยังมีช่องกู้เงินรับเศรษฐกิจโลกถดถอยสูงถึง 10% ต่อจีดีพี

คลังชี้รัฐบาลยังมีช่องกู้เงินรับเศรษฐกิจโลกถดถอยสูงถึง 10% ต่อจีดีพี

คลังไม่หวั่นเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการถดถอยของเศรษฐกิจโลก ชี้รัฐบาลยังมีช่องในการกู้เงินได้สูงถึง 10% ของจีดีพี และเสถียรภาพทางการคลังแข็งแกร่ง ประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาสูงเกินคาด จะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา THAILAND’S FUTURE ECONOMIC FORUM 2023 หัวข้อ”ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2566 จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ระบุ รัฐบาลยังมีทรัพยากรหรือช่องที่จะใช้นโยบายการคลังในการเข้ามาดูแลเศรษฐกิจหากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอยจนทำให้กระทบเศรษฐกิจไทย โดยกระทรวงการคลัง มีช่องในการกู้เงินได้อีกราว 10% ของจีดีพี โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลัง

“หากมีวิกฤติ เราก็ยังมีขีดความสามารถในการกู้เงินที่จะมาบรรเทาภาวะวิกฤติได้ โดยการก่อหนี้ของเราในปัจจุบันนั้น ก็ยังอยู่ในระดับไม่เกินเพดานการก่อหนี้ กล่าวคือ ระดับหนี้สาธารณะอยู่ในระดับ 60.67% ขณะที่ เพดานการก่อหนี้อยู่ที่ไม่เกิน 70%ต่อจีดีพี ซึ่งเราได้เปิดพื้นที่การคลังเอาไว้เพื่อกรณีฉุกเฉิน แต่ไม่ได้หมายความว่า เราต้องกู้จนหมด ส่วนหนี้ต่างประเทศก็น้อย และอัตราดอกเบี้ยก็เป็นแบบคงที่ถึง 80-90% ก็ไม่เสี่ยงต่อฐานะการคลัง”

เขากล่าวว่า ขณะนี้ เศรษฐกิจโลกที่ถดถอยได้เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในส่วนของการส่งออกที่ปริมาณลดลง แต่ราคาส่งออกนั้น ยังมีปรับขึ้น และลดลง ขึ้นอยู่กับค่าเงินบาท ทั้งนี้ ยอมรับว่าการบริหารนโยบายเรื่องค่าเงินบาทนั้น ไม่ง่าย ซึ่งต้องหาจุดสมดุลให้ดี โดยค่าเงินบาทที่แข็งค่าก็ทำให้ต้นทุนเราถูกลง โดยเฉพาะต้นทุนด้านราคาน้ำมัน แต่ในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินบาทอ่อนค่า ก็กระทบต่อราคาน้ำมัน แต่เราก็มีมาตรการมาดูแล ถามว่า จะมีมาตรการดูแลเรื่องราคาน้ำมันอีกหรือไม่ ก็ต้องวิเคราะห์เศรษฐกิจในแต่ละช่วงว่า มีเหตุการณ์อะไรเข้ามากระทบหรือไม่

“ปัจจัยลบที่มีต่อเศรษฐกิจในขณะนี้ มีอยู่ปัจจัยเดียวคือ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่เราก็วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยจะได้อานิสงส์จากการท่องเที่ยว แม้ว่า การส่งออกจะติดลบในเชิงปริมาณ แต่ราคายังเป็นบวกอยู่ ทำให้เรามองว่า เศรษฐกิจไทยเราจะไม่ชะลอ ซึ่งไอเอ็มเอฟเองก็มองว่า เศษฐกิจไทยเราจะโตขึ้นเพราะท่องเที่ยวเราเข้ามาเกินคาดการณ์ อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราต้องมองคือ การค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน และการหาตลาดใหม่ เพื่อมาทดแทนตลาดเก่า”

เขากล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ และการลงทุนทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งเศรษฐกิจไทยจะไม่ฟื้นตัวแบบ U-Shaped หรือ V-Shaped  แต่จะเป็นลักษณะ K-Shaped ที่เติบโตแบบช้าๆ แต่มั่นคง และยั่งยืน 

“พลังขับเคลื่อนปีนี้คงหนีไม่พ้นภาคการท่องเที่ยว โดยยืนยันว่า นักท่องเที่ยวทุกคนมีความหมายต่อเศรษฐกิจไทย ไม่เว้นแต่นักท่องเที่ยวแบบแบ็คแพ็ก แม้ในแง่รายได้จะมาก แต่เกสท์เฮ้าส์ ร้านอาหาร รถเข็น ก็จะได้ประโยชน์ ซึ่งจะเสริมกำลังซื้อในประเทศ”

ทั้งนี้ ปัจจุบันมาตรการของรัฐที่เข้าไปสนับสนุนการท่องเที่ยวคือ เราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งขณะนี้ ดำเนินการในเฟสที่ 5 ขณะที่ มาตรการด้านการบริโภคภาครัฐได้ออกมาตรการเพื่อกระตุ้นให้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยจึงได้ออกมาตรการช้อปดีมีคืนสูงสุด 40,000 บาท ซึ่งอยากให้มากกว่า แต่ต้องดูขีดความสามารถในการจัดเก็บรายได้

เขากล่าวด้วยว่า ในปีนี้ยืนยันว่า การใช้จ่ายของภาครัฐบาลยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในด้านของการลงทุนซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเติบโตในอนาคต ส่วนในเรื่องนโยบายงบประมาณนั้น ยังทำแบบขยายตัว แต่จะค่อยๆ ลดลง โดยในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณขาดดุล 6.95 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ประมาณ 7 แสนล้านบาท ขณะที่ ปี 2567 ตั้งงบประมาณขาดดุล 5.93 แสนล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2566 ที่ 1.02 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างมาก

“การตั้งงบประมาณต้องวางแผนให้มีเหตุมีผล เมื่อไหร่ที่ขาดดุลนานจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่กระทรวงการคลังยืนยันตลอดคือ นโยบายการคลังที่ยั่งยืน ไม่เฉพาะไทยเท่านั้นแต่ประเทศอื่นก็ทำลักษณะเดียวกัน เมื่อโควิดหมด ต้องทำนโยบายกลับเข้าสู่ภาวะปกติ” นายอาคม กล่าว 

ด้านการดำเนินนโยบายนั้น ยืนยันว่า นโยบายการเงิน และการคลังต้องสอดประสาน และทำงานร่วมกันโดยการดูแลในเรื่องเป้าหมายเงินเฟ้อ การใช้นโยบายการเงินการคลัง เพื่อดูแลเงินเฟ้อนั้นเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการทำนโยบายการเงินนั้นต้องดูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยไม่สร้างต้นทุนให้ธุรกิจมากเกินไป และไม่สร้างต้นทุนให้ครัวเรือน ซึ่งเป็นหนี้สินอยู่แล้ว

นายอาคม กล่าวว่า สิ่งที่อยากจะย้ำในปีนี้คือ ตัวที่จะทำให้เศรษฐกิจไปได้คือ การลงทุน ปีนี้เรื่องการลงทุนของภาคเอกชน การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานควรเร่งตัวขึ้น เพราะปีที่ผ่านมา อัตราการลงทุนของไทยค่อนข้างช้า จากข้อจำกัดด้านโควิด ทำให้กำลังแรงงานมีปัญหา การติดโควิดในไซต์งาน ดังนั้นในปีนี้ แรงขับเคลื่อนคือ การลงทุน โครงการอีอีซีจะมีนัยสำคัญของการสร้างการเติบโตในปีต่อๆ ไป 

ทั้งนี้ สิ่งที่คิดว่า มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของไทยในอนาคต 2 เรื่อง คือ เรื่อง Digital และ Green โดยการที่จะให้ประเทศของไปสู่ความทันสมัย การใช้เทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต แอปพลิเคชัน แพลตฟอร์ม 5G ต่างๆ ล้วนเป็นดิจิทัลอินฟาสตักเจอร์ ที่ทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ แต่ต้องไม่ลืมผลลบ เมื่อเปิดมากก็เปิดช่องให้มิจฉาชีพ เช่น ที่เผชิญทุกวันนี้ เกิดการแฮกข้อมูล การหลอกลวงมีทุกช่องทาง ดังนั้นการเกิดระบบรักษาความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์