ส่องธุรกิจ “เชฟรอน” ในไทย หลังไม่มีสัมปทาน “เอราวัณ” ขายปั๊ม “คาลเท็กซ์”
เปิดแผนธุรกิจ “เชฟรอน ประเทศไทย” ภายหลังไม่มีสัมปทานแหล่ง “เอราวัณ” และขายปั๊ม “คาลเท็กซ์” ให้กับบริษัทลูก ส่งผลให้สัดส่วนการผลิตก๊าซในอ่าวไทยลดลง จับตา “แหล่งไพลิน” หมดสัญญาสัมปทานอีก 5 ปี
“เชฟรอน” ได้บุกเบิกและพัฒนาธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย มานานกว่า 60 ปี ปัจจุบัน บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผลิตทั้งก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว และน้ำมันดิบ ตอบสนองต่อความต้องการพลังงานของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่นำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าให้กับคนไทย
ส่วนที่เหลือนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม เชื้อเพลิงยานพาหนะ ก๊าซหุงต้ม และวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ส่วนก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ทั้งหมดส่งให้กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึงปตท.จะส่งก๊าซผ่านท่อใต้ทะเลไปยังโรงแยกก๊าซธรรมชาติของปตท. ที่จังหวัดระยองและนครศรีธรรมราช
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด มีบริษัทในเครือที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย อาทิ บริษัท เชฟรอน ปัตตานี จำกัด บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เชฟรอน ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดนครศรีธรรมราช
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผ่าน บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด หรือชื่อเดิมคือ บริษัท น้ำมันคาลเท็กซ์ (ไทย) จำกัด เป็นบริษัทในเครือของ เชฟรอน คอร์ปอเรชั่น ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2491 ให้บริการลูกค้าในประเทศไทยทั้งลูกค้าสถานีบริการน้ำมันและลูกค้าเชิงพาณิชย์ภายใต้แบรนด์ “คาลเท็กซ์” มากว่า 70 ปี
โดยจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงหลากหลายชนิด อาทิ น้ำมันดีเซลเกรดธรรมดาและเกรดพรีเมียม น้ำมันแก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว น้ำมัน เชื้อเพลิงเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม และน้ำมันอากาศยาน นอกจากนี้ ยังจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นคุณภาพสูงหลากหลายชนิด ได้แก่ น้ำมันหล่อลื่นคาลเท็กซ์ฮาโวลีน และน้ำมันหล่อลื่นคาลเท็กซ์เดโล่ รวมถึงน้ำมันหล่อลื่นสำหรับภาคอุตสาหกรรม มีสำนักงานแห่งใหญ่ในประเทศไทยตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร และเป็นผู้บริหารคลังน้ำมันร่วมอีก 2 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทยในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดสงขลา
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า หลังจากที่ เชฟรอน ได้ส่งมอบพื้นที่สัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติ แหล่งเอราวัณ, แหล่งปลาทอง, แหล่งสตูล และแหล่งฟูนาน ให้กับ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ส่งผลให้เชฟรอนเหลือแหล่งผลิตปิโตรเลียมหลัก ๆ อยู่ 2 แหล่ง คือ แหล่งไพลิน กับแหล่งเบญจมาศ กำลังการผลิตก๊าซรวมประมาณ 400-500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน, ก๊าซธรรมชาติเหลวราว 15,000-16,000 บาร์เรลต่อวัน และน้ำมันดิบราว 7,500 บาร์เรลต่อวัน เหลือสัดส่วนราว 30% ของปริมาณการผลิตเดิม อีกทั้งพนักงานยังคงมีอยู่ระดับ 600 คน ซึ่ง 99% เป็นคนไทยอาจจะต้องทบทวนอัตราพนักงานหรือต้องหาธุรกิจอื่นเสริมเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายจากตรงนี้ด้วย
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า และจากการที่เชฟรอนจะเสนอขอกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ขยายอายุสัมปทานแหล่งผลิตปิโตรเลียมไพลินซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2571 ออกไปอีก 10 ปี นั้น ก็คงจะต้องหารืออย่างเข้มข้น แม้ว่าทางเชฟรอนระบุว่าตามกฎหมายแล้วสามารถทำได้ในการต่อระยะเวลาผลิต ซึ่งขณะนี้เชฟรอนทำหนังสือขอมาแล้ว คณะกรรมการจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยหลัก ๆ รูปแบบการผลิตจะเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าหากเชฟรอนจะต่อสัญญาอาจจะต้องรับเงื่อนไขเพิ่มเติม อาทิ รักษากำลังการผลิต หรือเพิ่มกำลังการผลิตในปริมาณเท่าไหร่ โดยหากเงื่อนไขรับได้ทั้ง 2 ฝ่ายก็สามารถต่อสัญญาได้ในเงื่อนไขที่รัฐบาลต้องได้รับผลประโยชน์ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ จากแนวโน้มการที่กระทรวงพลังงานเปิดประมูลแหล่งปิโตเลียมแหล่งใหม่ต้องการนำระบบสัญญาแบบแบ่งบันผลผลิต (Production Sharing Contract) หรือ “ระบบ PSC” มาใช้แทนระบบสัญญาสัมปทานเดิมที่ใช้มานานหลายสิบปี สำหรับ ระบบ PSC ถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการ ในระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตนั้น ภาครัฐจะมีส่วนร่วมในการอนุมัติแผนงาน งบลงทุน ตลอดจนการดำเนินงานต่าง ๆ ร่วมกับผู้ได้รับสัญญา ซึ่งข้อดีคือ ภาครัฐสามารถเข้าไปกำกับดูแลเรื่องการลงทุนได้อย่างชัดเจน
สำหรับผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐจะได้รับจากระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตนั้น ภาครัฐจะได้รับค่าภาคหลวงปิโตรเลียมในอัตรา 10% ของผลผลิตรวม, ส่วนแบ่งผลผลิตปิโตรเลียมไม่น้อยกว่า 50% หลังหักค่าใช้จ่าย และยังมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมอีก 20% ของกำไรสุทธิ เป็นต้น
“คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า อีก 5 ปี เชฟรอนจะสามารถต่ออายุสัมปทานแหล่งผลิตปิโตรเลียมไพลินจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ ซึ่งถ้าหากไม่สามารถขอขยายอายุสัมปทานได้ เชื่อว่าด้วยศักยภาพของทรัพยากรที่ยังคงมีอยู่ในแหล่งไพลิน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็จะต้องรีบเปิดประมูลก่อนที่จะหมดสัญญาสัมปทานและจะมีปัญหาในการขอเข้าพื้นที่เหมือนแหล่งเอราวัณอีกหรือไม่”