ครม. เคาะยกหนี้ ‘อาเซียนโปแตชชัยภูมิ’ วางเงื่อนไขเร่งผลิตแก้ปัญหาปุ๋ยแพง

ครม. เคาะยกหนี้ ‘อาเซียนโปแตชชัยภูมิ’ วางเงื่อนไขเร่งผลิตแก้ปัญหาปุ๋ยแพง

ครม. แก้ปุ๋ยแพง เคาะยกหนี้ 5,848 ล้าน ให้อาเซียนโปแตชชัยภูมิ พร้อมถอนฟ้องคดีทั้งหมด เปิดทางขุดแร่โพแทชมาจ่ายแทนหนี้เดิมให้รัฐได้ จำนวนไม่ต่ำกว่าปีละ 5 หมื่นตัน ในระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี สั่งเกษตรฯ เป็นหน่วยงานรับและบริหารจัดการแม่ปุ๋ยให้เกษตรกร

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้และเงินค่าปรับของโครงการเหมืองแร่โพแทชของอาเซียนของบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน)

โดยให้ถอนฟ้องคดีศาลปกครอง และให้โครงการเหมืองแร่ฯผ่อนชำระหนี้สินด้วยผลผลิตแร่โพแทช ตามเงื่อนไขที่กำหนด รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานรับและบริหารจัดการผลผลิตแร่โพแทชที่ได้จากการชำระหนี้ของโครงการ พร้อมทั้งพิจารณาแนวทางการผลักดันการจัดหาวัตถุดิบในการผลิตแม่ปุ๋ยโพแทสเซียมให้ภาคเกษตรกรรมของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

ครม. เคาะยกหนี้ ‘อาเซียนโปแตชชัยภูมิ’ วางเงื่อนไขเร่งผลิตแก้ปัญหาปุ๋ยแพง

สำหรับเหตุผลของการดำเนินการครั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม แจ้งว่า ที่ผ่านมาบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินโครงการเหมืองแร่โพแทช อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งได้รับประทานบัตรในพื้นที่โครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. 2558 - 5 ก.พ.2583 รวม 25 ปี และบริษัทฯ ได้ทำบันทึกข้อตกลง การจ่ายผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐเพื่อตอบแทนการออกประทานบัตร โดยขอ ผ่อนชำระพร้อมอัตราดอกเบี้ย6.5% ต่อปี ผ่อนชำระจำนวน 8 งวด งวดละประมาณ 568 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,549 ล้านบาท 

โดยได้สิทธิให้ปลอดการชำระ 2 ปีแรก นับแต่ได้รับประทานบัตร โดยต้องชำระแต่ละงวดภายในวันที่ 15 ม.ค. ของปีถัดจากปีที่ปลอดชำระ 2 ปีแรก กรณีการผิดนัดไม่ชำระเงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ เพื่อประโยชน์แก่รัฐภายในกำหนดเวลาจะคิดเงินค่าปรับในอัตรา 15% ต่อปี นับแต่วันผิดนัดถึงวันชำระจริง 
แต่ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯ กลับประสบปัญหาด้านการลงทุน และขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง จึงไม่สามารถชำระเงินดังกล่าวได้ตามที่กำหนด โดย ณ วันที่ 31 ม.ค.2566 บริษัทฯ มีหนี้ค้างชำระ 5,848 ล้านบาท ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ยื่นฟ้องบริษัทฯ ต่อศาลปกครองกรณีการผิดนัดชำระเงินดังกล่าวแล้ว ซึ่งล่าสุดคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล


ต่อมาบริษัทฯ แจ้งว่า ผู้ลงทุนรายใหม่จากภาคเอกชนให้ความสนใจที่จะลงทุนในโครงการฯ แต่มีประเด็นเกี่ยวกับการจ่ายเงินผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการพิจารณาของผู้ลงทุนรายใหม่ได้ ดังนั้นครม.เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2566 จึงมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักพิจารณาความจำเป็น และความเหมาะสม และการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงพื้นฐาน รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาล และแหล่งเงินหากมีความจำเป็นต้องชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเสนอครม.พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอว่า เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามมติครม.เดิมวันที่ 24 ม.ค.2566 โดยเห็นว่า ควรผลักดันให้มีการผลิตปุ๋ยโพแทชในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า ประกอบกับโครงการมีการร่วมทุนของกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงรัฐบาลได้ร่วมลงทุนไปแล้ว รัฐบาลจึงควรดำเนินโครงการต่อไป และคงสัดส่วนหุ้นตามข้อตกลงพื้นฐาน ส่วนปัญหาภาระหนี้สินของบริษัทฯ ที่ส่งผลให้ผู้สนใจร่วมลงทุนรายใหม่ชะลอการตัดสินใจร่วมลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ดังนี้


1.เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้และเงินค่าปรับ ปัจจุบันโครงการมีภาระต้องชำระเงินผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐเพื่อตอบแทนการออกประทานบัตร จำนวน 8 งวด โดยเป็นหนี้สินค้างชำระและเงินค่าปรับผิดนัดชำระตั้งแต่งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 5 (คำนวณถึงวันที่ 31 ม.ค.2566) เป็นเงินประมาณ 4,140 ล้านบาท และยังคงเหลือเงินค่างวดที่ 6 ซึ่งครบกำหนดชำระเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2566 รวมค่าปรับผิดนัดชำระเป็นเงินประมาณ 571ล้านบาท และเงินค่างวดที่ยังไม่ครบกำหนดชำระอีกจำนวน 2 งวด คิดเป็นเงิน ประมาณ 1,137 ล้านบาท รวมเป็นหนี้สินทั้งสิ้น 5,848 ล้านบาท และเงินค่าปรับผิดนัดชำระอีกวันละประมาณ 1.4 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อให้ดำเนินงานโครงการต่อไปได้ จึงเสนอปรับโครงสร้างหนี้เงินค่างวดทั้ง 6 งวดที่ค้างชำระพร้อมเงินค่าปรับผิดนัดชำระของแต่ละงวด และเงินค่างวดที่เหลืออีก 2 งวด รวมเป็นหนี้สินก้อนเดียว


2.การผ่อนชำระหนี้สินด้วยผลผลิตแร่โพแทช เมื่อโครงการสามารถดำเนินการได้และมีผลผลิตแร่โพแทชแล้ว ให้ชำระหนี้สินดังกล่าวด้วยผลผลิตแร่โพแทชของโครงการ โดยมูลค่าผลผลิตแร่โพแทชที่นำมาหักหนี้สินให้คิดในราคา 90%ของราคาประกาศแร่โพแทชของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ณ วันที่ชำระ โดยโครงการต้องส่งมอบผลผลิตแร่โพแทชเพื่อการชำระหนี้กับรัฐไม่น้อยกว่า 10% ของผลผลิตแร่โพแทชของโครงการ จนกว่าจะหมดหนี้สิน แต่ต้องมีจำนวน ไม่ต่ำกว่าปีละ 5 หมื่นตัน ภายในระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี นับแต่วันที่มีผลผลิตแร่โพแทช ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตได้ในปี 2569


ทั้งนี้โครงการต้องเป็นผู้ชำระค่าภาคหลวงแร่ และเงินบำรุงพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยแร่แต่เพียงผู้เดียว โดยกรณีที่ภาครัฐต้องการซื้อผลผลิตแร่โพแทชเพิ่มเติมในระหว่างการชำระหนี้ หรือภายหลังจากที่โครงการได้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว โครงการ ต้องขายผลผลิตแร่โพแทชให้รัฐในราคา 93% ของราคาประกาศ ณ ขณะนั้น และโครงการต้องจำหน่ายผลผลิตแร่โพแทชของโครงการให้กับรัฐก่อน โดยจากการประเมินการชำระหนี้สินของโครงการด้วยผลผลิตแร่โพแทชตามกำลังการผลิตแร่โพแทชของโครงการ และการปรับโครงสร้างหนี้และเงินค่าปรับ โดยประเมินราคาเฉลี่ยปุ๋ยโพแทช (ปี 2561 - 2565) เท่ากับ 1.5 หมื่นบาทต่อตัน โครงการจะสามารถชำระหนี้สินทั้งหมดให้แก่รัฐได้ภายในระยะเวลาประมาณ 8 ปี 


อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้มีหนังสือยินยอมการชำระหนี้สินด้วยผลผลิตแร่โพแทชแล้ว ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ขอความอนุเคราะห์ให้กระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาเร่งรัดแก้ไขปัญหาหรือสนับสนุนให้ผู้ถือประทานบัตรเหมืองแร่โพแทชสามารถผลิตแร่ได้อย่างรวดเร็ว โดยกระทรวงเกษตรฯจะใช้กลไกของกระทรวงสนับสนุนให้เกิดแรงจูงใจในการลงทุน ทำเหมืองแร่โพแทช รวมทั้งความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ด้วย จึงได้เสนอเรื่องมายังครม.เห็นชอบแล้ว