รฟม.แจ้งเกิด ‘รถไฟฟ้าภูเก็ต’ เชื่อมสนามบิน – ห้าแยกฉลอง 21 สถานี

รฟม.แจ้งเกิด ‘รถไฟฟ้าภูเก็ต’ เชื่อมสนามบิน – ห้าแยกฉลอง 21 สถานี

รฟม.เตรียมผลักดันการลงทุน 3.5 หมื่นล้านบาท ลุยตอกเสาเข็มสร้างรถไฟฟ้าภูมิภาคสายแรกลงจังหวัดภูเก็ต เชื่อมสนามบิน - ห้าแยกฉลอง รับเจ้าภาพ Specialised Expo 2028

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประกาศความพร้อมพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง และส่วนต่อขยายไปยังท่าฉัตรไชย เพื่อทันรองรับการเดินทางของผู้เข้าร่วมชมงาน Specialised Expo 2028 ซึ่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการเสนอเพื่อเป็นเจ้าภาพจัดงาน

โดย รฟม.เตรียมลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อจัดการประชุมกลุ่มย่อย (การประชุมเพื่อพิจารณารูปแบบโครงการ) งานศึกษาทบทวนรายละเอียด ความเหมาะสม ปรับปรุงโครงการดังกล่าว ระหว่างวันที่ 20-21 ก.พ. 2566 เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลรายละเอียดโครงการฯ พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่

สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง และส่วนต่อขยายไปยังท่าฉัตรไชย จากผลการศึกษาของ รฟม.ก่อนหน้านี้ ได้ประเมินวงเงินลงทุนเฉพาะส่วนของ

ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต - ห้าแยกฉลอง อยู่ที่ 35,201 ล้านบาท แบ่งเป็น

1. ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1,499 ล้านบาท

2. ค่าก่อสร้างงานโยธา 24,774 ล้านบาท

3. ค่างานระบบรถไฟฟ้า 3,514 ล้านบาท

4. ค่าขบวนรถไฟฟ้า 2,921 ล้านบาท

5. ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง 1,065 ล้านบาท

6. Provisional Sum 1,428 ล้านบาท

 

แนวเส้นทาง รถไฟฟ้าภูเก็ต

เริ่มจากสถานีท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต โดยแนวเส้นทางช่วงนี้เป็นโครงสร้างแบบยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 4031 จากนั้นลดระดับลงสู่ระดับดินที่ทางหลวงหมายเลข 4026 มุ่งหน้าเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 402 เพื่อเข้าสู่เมืองภูเก็ต โดยแนวเส้นทางช่วงผ่านอำเภอถลางจะลดระดับเป็นทางลอดใต้ดิน มีระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร

จากนั้นแนวเส้นทางจะกลับขึ้นสู่ระดับดิน ผ่านอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร (อนุสาวรีย์วีรสตรี) สถานีขนส่ง เข้าสู่เขตเทศบาลเมืองภูเก็ต ผ่านถนนภูเก็ต และข้ามสะพานเทพศรีสินธุ์ (สะพานข้ามคลองเกาะผี) เพื่อเข้าสู่ถนนเจ้าฟ้าตะวันออก (ทางหลวงหมายเลข 4021) และไปสิ้นสุดที่บริเวณห้าแยกฉลอง ระยะทางรวมประมาณ 42 กิโลเมตร

 

โครงสร้างทางวิ่ง รถไฟฟ้าภูเก็ต

ทางวิ่งระดับพื้นดิน (At Grade) บางช่วงเป็นทางวิ่งลอดใต้ดิน (Underground) และทางวิ่งยกระดับ (Elevated) บริเวณสถานีท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต

 

ระบบรถไฟฟ้า 

เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบาชนิด Tram แบบพื้นต่ำ (Low Floor Tram) มีระบบจ่ายไฟฟ้าเหนือศีรษะ (Overhead Contact Line) และมีระบบแบตเตอรี่สำรองสามารถวิ่งได้ในระยะสั้น

 

สถานีรถไฟฟ้าภูเก็ต

ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 21 สถานี ประกอบด้วย สถานีระดับพื้นดิน 19 สถานี สถานียกระดับ 1 สถานี และสถานีใต้ดิน 1 สถานี

 

ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าภูเก็ต

ตำแหน่งที่ตั้งของโรงจอดและศูนย์ซ่อมบำรุงของโครงการฯ จะอยู่บริเวณริมทางหลวงหมายเลข 402 ฝั่งขาเข้าเมืองภูเก็ตบริเวณ กม. 31+400 – 31+600 ใกล้กับห้างโลตัสถลาง โดยตั้งอยู่ระหว่างสถานีโรงเรียนเมืองถลางและสถานีถลางมีขนาดพื้นที่ประมาณ 38 ไร่ 

 

จุดจอดแล้วจร รถไฟฟ้าภูเก็ต

อาคารจอดแล้วจรจะตั้งอยู่ที่สถานีฉลองซึ่งเป็นสถานีปลายทาง โดยสามารถรองรับการจอดรถจักรยานยนต์และรถยนต์ได้ประมาณ 200 – 300 คัน