สสว. เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME เดือน ม.ค. ชะลอตัวลงหลังปีใหม่
สสว. เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME เดือนม.ค. 2566 ชะลอตัวลงหลังปีใหม่ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว มีความกังวลจากต้นทุนอาหารสดที่เพิ่มขึ้น รวมถึงพลังงานที่ปรับสูงขึ้นอีกครั้ง ขณะที่ภาคการผลิตเริ่มเพิ่มการผลิต และสะสมสินค้าคงคลังเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) ประจำเดือนม.ค. 2566 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า ค่าดัชนี SMESI อยู่ที่ระดับ 53.9 ลดลงจากระดับ 55.7 เนื่องจากกำลังซื้อชะลอตัวลงในช่วงปลายเดือน หลังจากพุ่งสูงขึ้นในช่วงเทศกาล โดยมีความกังวลด้านต้นทุนเพิ่มอีกครั้งในทุกภูมิภาค
ทั้งนี้ องค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลให้ค่าดัชนี SMESI เดือนม.ค.ลดลง ได้แก่ กำไร คำสั่งซื้อโดยรวม ต้นทุน และการจ้างงาน ซึ่งมีความเชื่อมั่นลดลงอยู่ที่ระดับ 58.8 63.4 38.0 และ 50.0 ขณะที่องค์ประกอบด้านปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการ และการลงทุน ปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ค่าดัชนีฯ ส่วนใหญ่จะชะลอตัวลงจากเดือนก่อน แต่ยังคงอยู่สูงกว่าระดับค่าฐานที่ 50 ยกเว้นต้นทุนที่เริ่มมีแนวโน้มปรับลดลงจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นอีกครั้ง
เมื่อพิจารณารายภาคธุรกิจ พบว่า ภาคการบริการ มีค่าดัชนี SMESI ลดลงสูงสุดอยู่ที่ 54.4 จาก 57.5 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในทุกกิจกรรม เนื่องจากการสิ้นสุดลงของเทศกาลวันหยุดยาว ในขณะที่บริการซ่อมบำรุงและกิจกรรมสันทนาการปรับตัวดีขึ้น
รองลงมาคือ ภาคการค้า อยู่ที่ระดับ 53.4 จากระดับ 55.0 ชะลอตัวลงทั้งภาคการค้าปลีกและค้าส่งในหลายพื้นที่ และกำลังซื้อที่ได้จากนักท่องเที่ยวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ผู้ประกอบการภาคการค้าปลีกบางรายเริ่มปรับจำนวนสินค้าในสต็อกลง จากต้นทุนการซื้อสินค้าเพื่อขายมีราคาสูงขึ้น
ขณะที่ภาคการเกษตร ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 52.1 จาก 53.0 ชะลอตัวลงจากสถานการณ์ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวสำคัญได้ผลผลิตน้อยลงในปีนี้ รวมถึงผลผลิตในกลุ่มปาล์มและยางพาราที่ราคาอยู่ในระดับต่ำ
ส่วนภาคการผลิต ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 53.8 จากระดับ 54.3 ชะลอตัวลงแม้ในหลายธุรกิจจะมีการเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อสะสมสินค้าคงคลังไว้ขายในช่วงเวลาถัดไป แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการยังเผชิญความกังวลด้านต้นทุนทั้งจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าสินค้าวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง
สำหรับดัชนี SMESI รายภูมิภาค เดือนม.ค. 2566 พบว่า ปรับตัวลดลงทุกภูมิภาคแต่ยังคงอยู่ในระดับเกินค่าฐานที่ 50 โดยภูมิภาคที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุด ได้แก่ ภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 56.3 จากระดับ 60.7 ผลจากเศรษฐกิจในพื้นที่ชะลอตัวลงจากกำลังซื้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากในเดือนก่อนหน้า และประสบปัญหาฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ซึ่งชะลอการใช้จ่ายรวมถึงความกังวลต่อราคาสินค้าและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ภูเก็ต ยังปรับตัวดีขึ้นจากการมีกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศและนักท่องเที่ยวจีนเริ่มเข้ามาในพื้นที่
รองลงมาคือ เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 52.8 จากระดับ 54.9 จากราคาสินค้าต้นทุนที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่ม โดยบางส่วนเริ่มมีการปรับราคาขายสินค้าให้สูงขึ้น ขณะที่ภาคการค้าปลีกกำลังเผชิญปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จากผู้ประกอบการร้านค้าในกลุ่มโมเดิร์นเทรดที่ทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายมากขึ้น
ภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 56.0 จากระดับ 58.0 ภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องชะลอตัวลงจากเดือนก่อน เนื่องจากสิ้นสุดช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลปีใหม่ ขณะที่ภาคธุรกิจได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวก็เผชิญกับกำลังซื้อที่ลดลง แต่ภาคการผลิตโดยเฉพาะการผลิตเสื้อผ้าประเภทมัดย้อมและผ้าลินินในกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปและบริการให้เช่าชุดพื้นเมืองสำหรับใส่ประกอบการท่องเที่ยวยังคงขยายตัว สำหรับยาสมุนไพรมีปริมาณการผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงเวลาถัดไป
ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 53.0 จากระดับ 54.2 เศรษฐกิจในพื้นที่ชะลอตัวลง จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยปรับตัวลดลงหลังจากผ่านพ้นช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยเฉพาะลูกค้าแบบ Walk-in ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้การใช้จ่ายของประชาชนในพื้นที่ลดลง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 53.4 จากระดับ 54.5 ผลจากกำลังซื้อในพื้นที่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า แรงงานเริ่มทยอยกลับไปทำงานในภูมิภาคอื่น รวมถึงกำลังซื้อจากภาคเกษตรที่ชะลอตัวลงที่ถึงแม้ราคาสินค้าเกษตรจะปรับดีขึ้น แต่ผลผลิตสินค้ากษตรลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 52.0 จากระดับ 52.2 ภาพรวมชะลอตัวลงเล็กน้อยจากภาคการบริการเป็นหลัก ขณะที่ภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นในเกือบทุกรายการ โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์จากไม้ที่ได้อานิสงส์จากการเริ่มทำป้ายหาเสียงในช่วงเลือกตั้ง ในขณะที่ภาคการค้าทั้งค้าปลีกและค้าส่งยังปรับดีขึ้น โดยกำลังซื้อยังมาจากแรงงานในพื้นที่ที่ได้รับโบนัสในช่วงสิ้นปี
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 53.6 ปรับตัวลดลงจากระดับ 55.2 โดยเฉพาะภาคบริการและภาคการผลิตที่กังวลต่อกำลังซื้ออาจลดลงในอนาคต รวมถึงปัจจัยด้านต้นทุนที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง