กยท. เปิดดีลแรกขาย ยางพรี่เมี่ยม กว่า 500 ตัน

กยท. เปิดดีลแรกขาย ยางพรี่เมี่ยม กว่า 500 ตัน

กยท ผลักดันการซื้อขายยางมาตรฐานการจัดการป่าไม้ยั่งยืนสำเร็จ ดีลแรกกว่า 500 ตัน ระหว่างสหกรณ์ยางพาราชุมชนตำบลหนองแคน จำกัด กับ บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด มหาชน เริ่มส่งมอบยางล๊อตแรก 60 ตัน

นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์  ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ซื้อยางหลายประเทศให้ความสำคัญด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม กยท. จึงเร่งส่งเสริมสวนยางไทยให้เข้าสู่ระบบการรับรองป่าไม้ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ยางพารา ระยะ 20 ปี ตั้งแต่กระบวนการปลูกสร้างสวนยาง เก็บเกี่ยว แปรรูป และผลักดันให้เกิดการซื้อ - ขายผลิตภัณฑ์จากยางพารามาตรฐานสากลผ่านระบบตลาดยางพาราของ กยท. โดย กยท. รวบรวมคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อยางแล้วประสาน กยท. ระดับเขตที่จะมีข้อมูลของเกษตรกรที่ทำสวนยางผ่านมาตรฐานที่กระจายอยู่ในแต่ละภาค เพื่อหาผลผลิตยางที่ตรงตามความต้องการของผู้ซื้อ

กยท. เปิดดีลแรกขาย ยางพรี่เมี่ยม กว่า 500 ตัน กยท. เปิดดีลแรกขาย ยางพรี่เมี่ยม กว่า 500 ตัน กยท. เปิดดีลแรกขาย ยางพรี่เมี่ยม กว่า 500 ตัน

“การส่งมอบยางตามสัญญาการซื้อขายยางก้อนถ้วยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนตามหลักสากล ระหว่าง สหกรณ์ยางพาราชุมชนตำบลหนองแคน จำกัด และ บริษัท ไทยอิสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) โดย บริษัท อี.คิว. รับเบอร์ จำกัด เป็นการซื้อขายยางกว่า 500 ตัน  ซึ่งส่งมอบยางล๊อตแรกแล้ว 60 ตัน

 นับเป็นจุดเริ่มต้นและต้นแบบให้เกษตรกรชาวสวนยางเกิดความมั่นใจในการทำสวนยางตามมาตรฐานสากล เพื่อรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขายยางที่ราคาสูงกว่ายางทั่วไป นำไปสู่ความยั่งยืนในอาชีพการทำสวนยาง” ผอ.ฝ่ายเศรษฐกิจยาง กล่าว

ด้าน นายธรรม นิลสุวรรณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน  กล่าวว่า สหกรณ์ยางพาราชุมชนตำบลหนองแคน จำกัด เป็นสถาบันเกษตรกรที่อยู่ภายใต้การส่งเสริมการทำสวนยางตามมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ของ กยท. เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (กยท.ข.อนบ.)

โดยสหกรณ์ผ่านการรับรองมาตรฐานฯ เมื่อปี 2565 มีเนื้อที่สวนยางกว่า 3,600 ไร่ การขายยางก้อนถ้วยของสถาบันครั้งนี้  ถือเป็นการขับเคลื่อนภายใต้แนวทางเพิ่มมูลค่าสินค้าและความยั่งยืนของสวนยางพารา เป็นสิ่งที่สะท้อนและตัวอย่างที่ดีสำหรับเกษตรกร กลุ่มสถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวสำหรับการดำเนินธุรกิจการซื้อ - ขายยางพาราที่จะเกิดขึ้น

 

 สหกรณ์แห่งนี้สามารถดำเนินการจัดการสวนยางและได้รับใบรับรองมาตรฐานฯ สำเร็จเป็นแห่งแรก โดยภายในเดือนเมษายนนี้จะมีสถาบันเกษตรกรอีก 2 กลุ่มที่จะได้รับใบรับรอง ได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยางเอราวัณพัฒนา จำกัด และสหกรณ์กองทุนสวนยางห้วยก้านเหลือง จำกัด คาดว่าจนถึงปี 2567 จะมีสถาบันเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 8 แห่ง ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานดังกล่าว รวมเป็นพื้นที่สวนยางไม่น้อยกว่า 15,000 ไร่ ทั้งนี้ กยท.ข.อนบ.จะยึดความต้องการของตลาดเป็นแนวทางในการส่งเสริมการผลิตยาง