‘หมูเถื่อน’ ทะลัก เกษตรกรขาดทุนอ่วม!!
ลงพื้นที่ฟังเสียงสะท้อนประชาชน กังวลหมูเถื่อนหรือไม่ หลังผู้เลี้ยงจี้รัฐสกัดหมูเถื่อนจริงจัง หวั่นนำโรคระบาดเข้าไทย กระทบอุตสาหกรรมหมูทั้งประเทศ พร้อมฟังมุมมอง ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา น.สพ.วรวุฒิ ศิริปุณย์
นายสัตวแพทย์วรวุฒิ ศิริปุณย์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผยถึง สถานการณ์ราคาหมูหน้าฟาร์มที่กำลังร่วงลงไม่เป็นท่าติดต่อกันมาหลายสัปดาห์ กระทั่งปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 84-88 บาท/กก. แต่ราคาขายจริงนั้นถูกกดราคาต่ำสุดไปถึงราว 70 กว่าบาท/กก.แล้ว ขณะที่ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 100.07 บาท/กก. ขาดทุนยับเยินจาก “กองทัพหมูเถื่อน” ที่ยังเกลื่อนเมือง คาดรายย่อยทยอยเลิกเลี้ยง ถามรัฐแค่ป้องกันไม่ให้เข้าไทยก็ไม่ต้องตามจับให้วุ่นวาย ล่าสุด กรมศุลฯ ประกาศเปิดตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างกว่า 1,000 ตู้ในโครงการท่าเรือสีขาว เกษตรกรหมูยืนยันพร้อมร่วมตรวจสอบ
“ราคาขายหมูหน้าฟาร์มที่ตกต่ำอย่างหนักในขณะนี้ สะท้อนชัดเจนถึงปริมาณหมูเถื่อนที่ระบาดอยู่ในตลาด ทั้งๆที่มีการส่งสัญญาณถึงรัฐมาโดยตลอดว่าหมูเถื่อนยังคงเกลื่อนเมืองอยู่ แม้ปีที่แล้วจะจับหมูเถื่อนได้ราว 1 ล้านกิโลกรัม ก็เป็นเพียง 5% ของที่ระบาดอยู่ในตลาดเท่านั้น เราร้องขอเพียงช่วยป้องกันไม่ให้มันเข้ามา เจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องเดือดร้อนไปตามจับ ไม่ต้องกังวลกับสุขภาพผู้บริโภคชาวไทยว่าจะเสี่ยงกับหมูที่ไม่ผ่านการตรวจโรค และไม่ก่อให้เกิดการเบียดเบียนตลาด กดราคาหมูของเกษตรกรไทยจนเดือดร้อนถึงขั้นขาดทุนกันเช่นนี้ หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ คนเลี้ยงหมูของไทยต้องสูญพันธุ์แน่” นายสัตวแพทย์วรวุฒิกล่าว
ทั้งนี้ การป้องกันที่ดีที่สุดไม่ให้หมูเถื่อนเข้าสู่ประเทศไทย คือดักตั้งแต่ทางเข้า ณ ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งล่าสุด มีการดำเนินโครงการ “ท่าเรือสีขาว” ซึ่งกรมศุลกากรรายงานว่า จะมีการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ที่ตกค้างอยู่ในท่าเรือแหลมฉบังกว่า 1,000 ตู้ เพื่อตรวจสอบดูสิ่งของผิดกฏหมาย ซึ่งนับเป็นโครงการที่ช่วยป้องปรามไม่ให้หมูเถื่อนทะลักเข้าสู่ตลาดได้ โดยในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นเปิดตู้ตกค้างนั้น ขอให้กรมศุลกากรเร่งเปิด “ตู้ที่เก็บความเย็น” ซึ่งมักจะเป็นแหล่งเก็บซ่อนหมูเถื่อนได้นานนับปี และเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะพบหมูเถื่อนอยู่ในจำนวนตู้ที่ตกค้างนี้แน่นอน โดยชมรมฯ พร้อมจะเข้าร่วมตรวจสอบด้วย
นายสัตวแพทย์วรวุฒิ กล่าวอีกว่า ในชีวิตจริงเกษตรกรไม่สามารถขายหมูหน้าฟาร์มได้ตามราคาที่สมาคมฯประกาศ เพราะเกิดการกดราคากันขึ้น เป็นการบังคับทางอ้อมให้เกษตรกรจำใจต้องขายขาดทุน เนื่องจากหากไม่ขายก็จำเป็นต้องเลี้ยงหมูต่อไป ในขณะที่ค่าวัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่งสูงขึ้นมาก เท่ากับต้นทุนการเลี้ยงจะเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องตัดใจขาย นับเป็นสถานการณ์ที่น่าเห็นใจที่สุด จึงต้องขอวอนเจ้าหน้าที่รัฐเร่งกวาดล้างจับกุม พร้อมๆกับป้องกันหมูเถื่อนล๊อตใหม่ อย่าให้เข้ามาทำลายตลาดหมูไทยมากไปกว่านี้
อนึ่ง สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รายงานราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม ประจำวันพระที่ 19 ก.พ. 2566 เปรียบเทียบกับ ราคาวันพระก่อนหน้า (13 ก.พ. 2566) พบว่ามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยระบุสาเหตุสำคัญว่า เกิดจากปัญหาหมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ต้องประกาศปรับลดราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มลงในทุกภาค ดังนี้ ภาคตะวันออก ปรับราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มเหลือ 84-86 บาท/กก. ลดลง 6 บาท/ก.ก. ภาคอีสาน ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มเหลือ 86-88 บาท/กก. ลดลง 8-10 บาท/ก.ก. ภาคเหนือ ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มเหลือ 88 บาท/กก.ลดลง 6 บาท/ก.ก. และ ภาคใต้ ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มเหลือ 86 บาท/กก. ลดลง 4 บาท/กก.