'กรมการขนส่งทางราง' ลุ้นรัฐบาลใหม่คลอด พ.ร.บ.ยกระดับระบบราง
กรมการขนส่งทางรางลุ้น ครม.ชุดใหม่เสนอร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ ส.ค.นี้ หวังเร่งสอบคุณสมบัติออกใบอนุญาตผู้ประกอบการและผู้ขับ พร้อมคุมราคาค่าโดยสาร ระบุปัจจุบันอุตสาหกรรมโตก้าวกระโดด บุคลากรขาดแคลนกว่า 700 ราย
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาโครงการศึกษา ออกแบบ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการและการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล (e-License R) โดยระบุว่า เบื้องต้นโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างศึกษา ใช้วงเงินราว 15 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการศึกษา 7 เดือนแล้วเสร็จ ควบคู่ไปกับขั้นตอนการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง พ.ศ. .... ที่จะมีผลบังคับใช้ และส่งผลให้กรมฯ สามารถกำกับการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล ยกระดับมาตรฐานของระบบขนส่งทางรางมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 แล้ว แต่เบื้องต้นได้รับทราบว่า วันที่ 28 ก.พ.นี้ จะเป็นการประชุมสภาฯ ครั้งสุดท้าย ดังนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงเสนอพิจารณาไม่ทันภายในสภาปัจจุบัน และจำเป็นต้องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาครั้งใหม่ภายใต้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งตามข้อมูลคาดว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ในเดือน ส.ค.2566
“ตอนนี้ พ.ร.บ.กรมรางฯ ก็จะกลับเข้าสู่ขั้นตอนแรกเริ่มอีกครั้ง เพราะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาไม่ทันในรัฐบาลนี้แล้ว ดังนั้นตามขั้นตอนหลังจากได้รัฐบาลใหม่ กรมฯ จะดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ต่อ ครม. ชุดใหม่เพื่อร้องขอให้นำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับมาพิจารณาต่ออีกครั้ง ภายใน 60 วัน หรือภายในเดือน ส.ค. - ก.ย.2566 ดังนั้นตามขั้นตอนก็คาดว่า พ.ร.บ.กรมรางฯ จะมีการพิจารณาอนุมัติภายในปีนี้”
ทั้งนี้ หากร่าง พ.ร.บ.กรมรางฯ ผ่านการพิจารณาแล้ว กรมฯ จะดำเนินการเตรียมออกใบอนุญาต ด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัลให้ภายใน 90 วัน โดยแบ่งเป็น
1.ใบอนุญาตสำหรับผู้ประการเดินรถ โดยจะมีอายุใบอนุญาตเท่ากับอายุสัมปทานที่ผู้ประกอบการได้รับ
2.การออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประจำหน้าที่ อาทิ พนักงานขับรถ และพนักงานควบคุมรถ มีอายุ 5 ปี โดยจะเป็นใบอนุญาตพนักงานขับรถขนส่งทางราง ได้แก่ ใบอนุญาตขับรถไฟฟ้า ใบอนุญาตขับรถไฟดีเซล ใบอนุญาตขับรถไฟฟ้าความเร็วสูง ใบอนุญาตขับรถรางไฟฟ้า และใบอนุญาตประเภทอื่นๆ ตามที่อธิบดีฯ ประกาศ
3.การจดทะเบียนรถขนส่งทางราง โดยรถขนส่งฯ จะต้องเข้ารับการตรวจสอบคุณลักษณะทุก 8 ปี ซึ่งหากมีการตรวจพบว่าพนักงานที่ปฏิบัติงานไม่มีใบอนุญาตจะมีโทษทั้งจำและปรับ
“การขอใบอนุญาตทั้งหมดนี้จะไม่เสียค่าธรรมเนียม แต่ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้โดยสาร ผู้ใช้บริการ เป็นการยกระดับมาตรฐานของระบบขนส่งทางราง ขณะที่พนักงานขับรถไฟและรถไฟฟ้าจะได้รับการรับรองว่ามีคุณสมบัติที่ดี และสามารถนำใบอนุญาตไปสมัครกับผู้ประการเดินรถรายอื่นได้ด้วย นับเป็นการเพิ่มโอกาสการทำงานให้กับพนักงานขับรถไฟและรถไฟฟ้า”
สำหรับขั้นตอนการขอใบอนุญาต และการจดทะเบียนผ่านระบบดิจิทัล ดังนี้
1.การยืนยันตัวบุคคลกลางสำหรับการบริการภาครัฐ
2.การยื่นเอกสารและคำขอแบบออนไลน์
3.การมอบหมายงานและแจ้งเตือน ผ่านเจ้าหน้าที่โดยอัตโนมัติ
4.การตรวจสอบข้อมูลและลงรับเอกสารแบบออนไลน์
5.การรวบรวมเอกสาร สำหรับกรพิจารณาก่อนเข้าอนุกรรมการ
6.ชำระเงินกลางของบริการภาครัฐ
7.การจัดส่งใบอนุญาตรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้รายชื่ออิเล็กทรอนิกส์
อย่างไรก็ดี พ.ร.บ.กรมรางฯ จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์กำกับดูแลระบบขนส่งทางรางให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด เนื่องจากขณะนี้ในไทยมีพนักงานขับรถไฟและรถไฟฟ้า รวมถึงเจ้าที่ประจำศูนย์ควบคุมการเดินรถ (OCC) ประมาณ 2,000 ราย ในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีพนักงานขับรถไฟ ประมาณ 1,250 ราย ขณะที่จำนวนตู้รถไฟ และรถไฟฟ้า มีประมาณ 1.02 หมื่นตู้ แต่ยังไม่มีการกำกับดูแลและออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน
นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า หาก พ.ร.บ.กรมรางฯ มีผลบังคับใช้ นอกจากการกำกับดูแลเรื่องของการออกใบอนุญาตผู้ประกอบการ พนักงานขับรถไฟและรถไฟฟ้าแล้ว ยังจะมีการควบคุมในส่วนของเพดานราคาค่าโดยสารรถไฟและรถไฟฟ้าให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการ อีกทั้งจะส่งผลให้ระบบขนส่งทางรางยกระดับมาตรฐานให้สอดคล้องกับการขยายตัวที่เกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด และยังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรอยู่ประมาณ 700 ราย