เปิดใจ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ชาติพัฒนากล้า แก้ปัญหาเศรษฐกิจ-สร้างรายได้ประเทศ
เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองต่างๆให้ความสำคัญ มีการหาเสียงถึงนโยบายด้านนี้อย่างต่อเนื่อง “พรรคชาติพัฒนากล้า” เป็นพรรคการเมืองที่พูดถึงนโยบายเรื่องเศรษฐกิจมาตั้งแต่เริ่มต้น โดยเป็นพรรคที่เปิดนโยบายที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศประมาณ 5 ล้านล้านบาท
“กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ประธานพรรคชาติพัฒนากล้าเกี่ยวกับรายละเอียดนโยบายเศรษฐกิจของพรรค
สุวัจน์กล่าวว่าปัจจุบันปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้มองการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศปี 2566 ต่างจากปี 2562 ที่ในตอนนั้นอยู่บนฐานความขัดแย้ง ผลการเลือกตั้งที่ออกมาจึงสะท้อนการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ความสงบไม่ได้อยู่บนพื้นฐานเรื่องของเศรษฐกิจ ขณะที่ในปี 2566 แม้ความขัดแย้งยังมีอยู่แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าคือ ปัญหาเศรษฐกิจ ฉะนั้นคนมีสิทธิ์เลือกตั้งก็จะดูว่าใครจะมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ได้บ้าง
“ผมอยู่ในการเมืองมา 30 ปี ผมคิดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจตอนนี้หนักที่สุด เพราะมีปัจจัยทั้งจากในและนอกประเทศ ความเสียหายทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นพร้อมๆกัน เช่น ช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ตลอด 2 ปี ทุกประเทศในโลกกู้เงินมาแก้ปัญหากันหมด ก่อให้เกิดภาระหนี้สินของประเทศทั่วโลก นำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ จนพูดกันว่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอย ขณะเดียวกันก็มีสงครามระหว่างยูเครน-รัสเซีย มาซ้ำเติมอีก จนเกิดผลกระทบต่อราคาน้ำมัน และราคาก๊าซธรรมชาติที่แพงขึ้น เร่งให้เกิดเงินเฟ้อ ขณะที่ภาวะหนี้สิน และโควิด-19 มีสงครามการค้าที่มีอยู่”
ประเทศไทยยังเจอความท้าทายกับภาวะที่โลกแบ่งขั้วสภาพโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โครงสร้างทางภูมิรัฐศาสตร์ เปลี่ยนไปจากยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งล้วนมีผลต่อการเคลื่อนย้ายการลงทุน ขณะที่ในปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยไม่ได้มีความพร้อมในการลองรับวิกฤติ
เพราะประเทศไทยไม่เคยมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเกิน 60% และไม่เคยมีหนี้ครัวเรือนเกิน 90% ส่วนเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่เราคาดหวัง คือนักท่องเที่ยวจากต่างชาติปีนี้อาจได้ 25ล้านคน ในปีนี้ก็จะฟื้นตัวแต่ยังไม่ดีเท่ากับในช่วงก่อนโควิด-19 ส่วนจีดีพีของไทยก็ยังไม่เป็นผู้นำในอาเซียนได้
เพราะเรามีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจระดับ 3% ขณะที่ในอาเซียนขยายตัวเฉลี่ย 5% จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่เกิดขึ้นและปัจจัยที่กดดันประเทศไทยหนัก จึงสรุปว่าการเลือกตั้งครั้งนี้พี่น้องประชาชนจะมีเกณฑ์การตัดสินใจที่ต่างจากการเลือกตั้งในปี 2562 เพราะให้น้ำหนักกับทางเศรษฐกิจมากกว่า
โฟกัสที่นโยบายเศรษฐกิจขอเป็น “Niche Market”
ประธานพรรคชาติพัฒนากล่าวว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคชาติพัฒนากล้า จึงเน้นนโยบายเศรษฐกิจมากกว่านโยบายอื่น เพราะเราไม่ใช่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ต้องครอบคลุมทุกมิติของการแก้ปัญหาของประเทศ เราจึงเป็นเหมือนกับ “Niche Market” เป็นพรรคการเมืองที่มีกลุ่มเฉพาะ มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ เหมือนเป็นหมอก็โรคเฉพาะทาง คือเราจะเน้นนโยบายเศรษฐกิจ
ระดมผู้เชี่ยวชาญทำนโยบายเศรษฐกิจ
ทั้งนี้การจัดทำนโยบายเศรษฐกิจพรรคใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน โดยระดมประสบการณ์ผู้ใหญ่ในพรรค และนักวิชาการอยู่ในพรรคด้วย และช่วยกันคิด จนออกมาเป็น 12 นโยบายสำคัญ โดยจัดสร้างแพลตฟอร์มเศรษฐกิจกันใหม่ หาจุดแข็งของประเทศไทยให้เจอและนำไปใช้ โดยต้องหาเงินเข้าประเทศให้ได้ 5 ล้านล้านบาท
โดยพรรคแบ่งเศรษฐกิจเป็นเฉดสี และนำมาจัดกลุ่มหยิบจับให้ชัดเจน เช่น เศรษฐกิจสีเหลือง ได้แก่ ซอฟต์พาวเวอร์ ทั้งกีฬา ดนตรี ศิลปะ ที่ต้องทำให้เป็นเศรษฐกิจที่ชัดเจน โดยจะต้องมีกองทุนซอฟต์พาวเวอร์ 10,000 ล้านบาทไว้สนับสนุน
ขณะที่ในด้านเศรษฐกิจสีเขียว คาร์บอน เครดิต อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ควรหยิบมาทำให้เป็นกิจจะลักษณะ หรือเศรษฐกิจสีเทา อะไรที่ยังไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือคลุมเครือ ที่เกี่ยวกับ ชีวิตกลางคืน แรงงานต่างด้าว หวย ก็ควรหยิบมาทำให้เป็นเรื่องถูกกฎหมาย หรือเศรษฐกิจสีขาว ในเรื่องของการท่องเที่ยว การดูแลสุขภาพ ท่องเที่ยวสายมู หรือเศรษฐกิจสีเงิน มีผู้สูงอายุ 12 ล้านคน ก็ทำให้เป็นเศรษฐกิจได้ เช่น หมู่บ้านผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลสุขภาพ การออกแบบอายรยะสถาปัตย์ ทั้งหมดนี้เราพยายามทำให้ชัดเจน โดยประเมินรายได้การจ้างงานที่จะเกิดจากตรงนี้มีมูลค่า 5 ล้านล้านบาท
ส่วนเรื่องของ “เครดิตบูโร” ที่มีการพูดกันว่าคนไม่มีเครดิตแต่ต้องการต่อยอดทางธุรกิจได้ ตอนนี้มีคนที่ได้รับผลกระทบตรงนี้ 5 ล้านราย ในช่วงโควิด-19 มีการจ่ายหนี้ไม่ตรงบ้าง ทำให้ระบบเครดิตบูโรรายงานพฤติกรรมในทางลบ จึงหมดโอกาสได้รับเครดิตดีๆ จึงต้องการให้มีการปรับปรุงเพื่อให้มีลมหายใจต่อยอดใหม่ ไม่ใช่รายงานด้านลบด้านเดียว ให้รายงานด้านดีๆ ด้วย เช่น เขายังจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟได้ ยังผ่อนชำระได้หรือมีเงินเดือนที่สูงกว่าค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่หักล้างเครดิตบูโรได้จึงพูดถึงเครดิต สกอริ่ง ให้มีโอกาสกลับมาสร้างเนื้อสร้างตัวกันใหม่
ในเรื่องนโยบายการเพิ่มเงินในกระเป๋าให้ประชาชนเพื่อให้มีภาระภาษีน้อยที่สุดนั้นต้องทำให้คนเงินเดือนไม่ถึง 40,000 บาทไม่เสียภาษีบุคลธรรมดา มาจากเดิมที่คนมีรายได้หลังหักค่าลดหย่อนเกิน 150,000 บาทถึงเสียภาษี
ตอนนี้จะเปลี่ยนเป็นใครมีเงินหลักหักค่าลดหย่อน เกิน 300,000 บาทถึงค่อยเสียภาษี เท่ากับเงินเดือนๆละ 40,000 บาท หรือปีละ 480,000 บาท เมื่อหักค่าลดหย่อน 180,000 บาท ก็เหลือรายได้สุทธิ 300,000 บาท
“ตรงนี้คำนวณดูแล้ว 3 กรมภาษีเก็บรายได้ปีละ 3 ล้านล้านบาท แต่ด้วยนโยบายที่จะช่วยคนเกือบ 4ล้านคนไม่ต้องเสียภาษีจะมีผลกระทบเป็นเงินเพียง 20,000 กว่าล้านบาท เทียบแล้วน้อยมากไม่ถึง 1% ของรายได้จัดเก็บรวม แต่ช่วยเติมเงินในประเป๋าที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจทางอ้อมได้”
กางแผนลดค่าใช้จ่ายประชาชน
สำหรับในส่วนของการลดค่าใช้จ่ายของประชาชน จากเรื่องของน้ำมันแพง ก๊าซแพง ค่าไฟฟ้าแพง พรรคจึงจะมีส่วนของนโยบายรื้อโครงสร้างพลังงาน ในเรื่องของค่าการกลั่นที่สิงคโปร์ ซึ่งกำหนดราคาที่เหมาะสมได้จากปัจจุบันไม่ได้ถูกกำหนดว่าจะเป็นเท่าไหร่แต่ไปขึ้นลงตามราคาสิงโปร์ ไม่ได้สะท้อนค่าการกลั่นจริงๆ จึงต้องมีสูตรการคิดต้นทุนที่เป็นธรรมกับผู้บริโภคส่วนเรื่อองไฟฟ้า ทุกคนร้องไฟฟ้าแพง วันนี้มีไฟฟ้าถูกแพงขึ้นอยู่กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ที่มีกำลังการผลิต 53,000 เมกกะวัตต์ แต่ใช้จริง 33,000 เมกะวัตต์ มีส่วนเกิน 20,000 เมกกะวัตต์ เท่ากับมีไฟฟ้าสำรอง 40%ดีในแง่เสถียรภาพ แต่เกินไปมากจนกระทบกับค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) เพราะ 53,000 เมกกะวัตต์ ไม่ใช่เอกชนผลิตคนเดียว มีที่เอกชนผลิตและขายให้ กฟผ.
ซึ่งในช่วงพีคความต้องการก็จ่ายให้ในราคาเต็ม แต่ช่วงความต้องการใช้ต่ำเอกชนมีค่าต้นทุนในการลงทุนไว้ ฉะนั้นเวลาไม่ผลิต กฟผ.ก็มีค่าพร้อมจ่ายให้แม้ไม่ได้จ่ายไฟ ทำให้เวลามีไฟฟ้าสำรองเยอะเกินไป กลายเป็นค่าแปรผันที่เป็นค่าเอฟที ตรงนี้ควรปรับไฟฟาสำรองให้มีความเหมาะสมยังอยู่ในความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่ไม่เยอะเกินไป แค่ 20% ก็เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจแล้ว
นอกจากนี้ต้องเร่งรัดพัฒนาโครงการร่วมไทย-กัมพูชามาทดแทน ซึ่งเป็นสัญญามาตั้งแต่ปี 2544 กว่า 20 ปีมาแล้วทางกัมพูชาก็พร้อม เราก็พร้อมและปริมาณไม่น้อยกว่าแหล่งเอราวัณ หากได้มาปริมาณก๊าซก็จะมากพอหมดห่วงได้เลย
สำหรับนโยบายที่ต้องช่วยเหลือภาคเกษตร เป็นจุดแข็งของประเทศ ข้าว อ้อย ยาง มันสำปะหลัง ปาล์มข้าวโพด ต้องมีแผนแม่บทในอีก 5 ปี แทนที่จะส่งออกสินค้าเกษตรแบบเดิมที่เป็นวัตถุดิบ ต้องเพิ่มรายได้โดยเอาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมมาเพิ่มมูลค่าสินค้เกษตร เช่น ยางพาราผลิต 5 ล้านตัน ส่งออกเป็นยางดิบ ยางแท่ง 4.5 ล้านตันเป็นวัตถุดิบ ส่วนอีก 500,000 ตัน เป็นยางรถยนต์ ซึ่งมูลค่าเท่ากับที่ส่งออกเป็นวัตถุดิบ หากปรับโครงสร้างใหม่ประเทสไทยจะเป็นมหาอำนาจทางการเกษตรได้ เหล่านี้คือจุดแข็งที่ประเทศไทยมีและนำมาใช้ได้
ดันซอฟต์พาวเวอร์คู่ท่องเที่ยว
เช่นเดียวกับซอฟต์พาวเวอร์ นโยบายท่องเที่ยว ก่อนโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน อยู่คนละ 10 วัน ค่าใช้จ่ายวันละ 5,000 บาท หรือ ทริปละ 50,000 บาท สมมติทำนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 70-80 ล้านคน และให้อยู่นานขึ้นเป็น 12 วัน และให้จ่ายเพิ่มเป็นวันละ 6,000 บาท ก็เพิ่มค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวจากเดิม 2 ล้านล้านบาทเป็น 5 ล้านล้านบาทได้ โดยสร้างสินค้าใหม่ด้านท่องเที่ยว ทำท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทำแหล่งท่องเที่ยวเพื่อรองรับกลุ่มดิจิทัลนอร์แมท ทำสตรีทฟู้ด และมิชลินเพิ่มขึ้น และไปหาตลาดใหม่จากพึ่งจีนให้ไปบุกตลาดอินเดีย ที่มีประชากรอันดับหนึ่งของโลก จีดีพีขยายตัวสูง ระยะทางใกล้กับไทยเพียง 3 ชั่วโมง มีความสัมพันธ์และพื้นฐานทางวัฒนธรรมใกล้เคียง ตอนนี้มี 1.5 ล้านคนเติมได้อีกเยอะ รวมถึงเกาหลีก็เพิ่มได้เยอะ
และสุดท้ายคือ นโยบายมอเตอร์เวย์ทั่วไทย ทั่วทิศ 2,000 กิโลเมตร วันนี้มีกรุงเทพ-พัทยา คนก็รอมอเตอร์เวย์โคราชเมื่อใดจะเปิด
ถ้าเปิดได้การลงทุนการท่องเที่ยวจะไปอีสานบางใหญ่-กาญจนบุรีก็ยังไม่เปิด จึงควรมีนโยบายมอเตอร์เวย์ทั่วไทย ไปเหนือ อีสาน ตะวันออก และลงใต้ ควบคู่กับถนน 4เลน ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทั่วประเทศด้วย