กกร. เชื่อมั่นเศรษฐกิจไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย ด้วยแรงหนุนภาคบริการ ท่องเที่ยว
กกร. คาดเศรษฐกิจไทยปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.0-3.5% ประเมินส่งออกมีโอกาสหดตัวในกรอบ -1.0% ถึง 0.0% แต่การท่องเที่ยวและมาตรการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาครัฐจะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญลดโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
นายเกรียงไกร เธียรนุกุลประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ในฐานะประธาน กกร. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า กิจกรรมเศรษฐกิจภาคบริการที่ขยายตัวได้จากการเดินทางท่องเที่ยวและการก่อสร้าง เป็นแรงสนับสนุนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโลกมีโอกาสเกิดภาวะถดถอยลดลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังเติบโตได้จากภาคบริการเป็นหลัก ทั้งนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศหลักในเดือนก.พ. ปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของจีนนั้นคาดว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 2
อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมกิจกรรมในฝั่งภาคการผลิตยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน สำหรับการส่งออกของไทยมีแนวโน้มหดตัวต่ออีกระยะหนึ่ง สอดคล้องกับการส่งออกของคู่แข่งของไทยในภูมิภาค เช่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่มีทิศทางหดตัวเช่นเดียวกัน โดยได้รับผลกระทบจากกิจกรรมภาคการผลิตของโลกที่ยังอยู่ในภาวะหดตัว
รวมถึงการปรับสมดุลระดับสินค้าคงคลังหลังจากความต้องการสินค้าที่ได้อานิสงส์จากโควิด-19 โดยเฉพาะสินค้าเกี่ยวกับการ work from home ลดลง ซึ่งมีผลให้สินค้าบางประเภทมีแนวโน้มอยู่ในวัฏจักรสินค้าช่วงขาลง เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ราคาสินค้าส่งออกยังมีแนวโน้มลดลงตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ จึงคาดว่ามูลค่าการส่งออกทั้งปี 2566 อาจต่ำกว่าปีที่ผ่านมาได้
ทั้งนี้ กกร. ประเมินว่าการส่งออกไทยจะมีโอกาสหดตัวในกรอบ -1.0% ถึง 0.0% เทียบกับประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.0% ถึง 2.0%
"อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะไม่เกิด technical recession หรือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเชิงเทคนิค โดยคาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 1 ปี 2566 จะไม่หดตัวติดต่อกันจากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ซึ่งหดตัว 1.5% เทียบกับไตรมาสกอ่นหน้า โดยการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนเศรษฐกิจในไตรมาสแรกให้ฟื้นตัวได้ และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีจะเพิ่มสูงถึงราว 25-30 ล้านคน"
ที่ประชุม กกร. จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.0-3.5% ตามกรอบเดิมที่เคยประเมินไว้ การท่องเที่ยวและการขับเคลื่อนการใช้จ่ายของภาครัฐยังเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจ สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.7 ถึง 3.2%
ทั้งนี้ เนื่องจากภาคการส่งออกที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยจึงควรให้ความสำคัญในการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เร่งการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล รวมทั้งอาศัยโอกาสจากภาคการท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวต่อเนื่องในช่วงนี้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่จะกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้ในกรอบประมาณการเศรษฐกิจเดิม
นอกจากนี้ ปัจจัยท้าทายสำหรับภาคเอกชนในปีนี้ยังคงอยู่ ทั้งเรื่องค่าแรง ความผันผวนของค่าเงินบาทและต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น จึงอยากให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้ร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นการแก้ไขปัญหา รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ให้สามารถปรับตัวรับความเสี่ยงผลจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยที่ทยอยปรับสูงขึ้น