'ปตท.' ปรับพอร์ทรายได้สีเขียว 30% ปี 73 ชู 'เทค-คน-ทุน' ทางรอดธุรกิจใหม่
"ปตท." ปรับสัดส่วนรายได้ 30% จากธุรกิจลดคาร์บอน ภายในปี 2573 ชู 3 หัวหอกสำคัญ “เทคโนโลยี-คน-ทุน” ทางรอดธุรกิจใหม่ พร้อมจัดงานแสดงศักยภาพทั้งบริษัทในเครือและพันธมิตรมุ่งสู่่เป้าหมาย Net Zero
นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา PTT Group Tech & Innovation Day หัวข้อ แนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจใหม่และนวัตกรรมของปตท.เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ว่า ภายใต้เป้าหมายการประกาศเจตนารมณ์ของ กลุ่ม ปตท. ถึงประเด็นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 นั้น
ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท. ได้มีการดำเนินงานที่เห็นเป็นภาพชัดเจนแล้วหลายด้าน โดย ปตท. เองก็ได้ประกาศปรับสัดส่วนรายได้ภายในปี 2573 จะมีรายได้จากธุรกิจใหม่ที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 30% และในปี 2576 เพิ่มสัดส่วนลดการปล่อยคาร์บอนลงอีกกว่า 50% โดยลดธุรกิจฟอสซิลและเพิ่มนวัตกรรมเพื่อสนับสนับให้เป็นบริษัทที่เติบโตบนเทคโนโลยี และคนอยากมาอยู่ในปตท. ช่วยสนับสนุนเอสเอ็มอี พาร์ทเนอร์ธุรกิจให้เติบโตไปด้วยกันทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีหลายธุรกิจของ ปตท. ที่เน้นดำเนินงานภายใต้การดูแลการปล่อยคาร์บอนนั้นสามารถสร้างรายได้ หรือทำกำไรให้กับบริษัทได้แล้ว อย่างเช่นการลงทุนในบริษัท ฮอริษอน พลัส จํากัด ก็เริ่มเห็นความชัดเจนทั้งเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และเรื่องของแบตเตอรี่ โดยปี 2567 จะสามารถรับจ้างผลิตได้ที่ 5 หมื่นคัน
ขณะที่ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เพิ่มทุนจดทะเบียนแล้วกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท และได้ไปร่วมทุนกับ บริษัท โลตัส ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (Lotus Pharmaceutical) บริษัทยาระดับโลกของไต้หวัน ก็สามารถทำตลาดได้ดี และในปี 2565 โลตัส ฟาร์มาซูติคอล มียอดขายที่ 15,000 ล้านบาท ทำกำไรได้เกือบ 2,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจใหม่ให้ประสบความสำเร็จคือนโยบายภาครัฐ และการขับเคลื่อนไปพร้อมกับเอกชนที่ไปในทิศทางเดียวกัน และรับฟังซึ่งกันและกัน และอีกสิ่งสำคัญของการขับเคลื่อนด้วย Passion and Purpose ให้ธุรกิจประสบความสำเร็จมี 3 ส่วนสำคัญ คือ 1. เทคโนโลยี 2. ทุน และ 3. คน ซึ่งวันนี้ Purpose พร้อมแล้ว แต่อาจจะขาดนักลงทุนที่มี passion ซึ่ง ปตท. โชคดีที่มีความชัดเจนทั้ง 2 เรื่อง
“โดย ซีอีโอของปตท. เมื่อวันเข้ามารับตำแหน่งได้ขับเคลื่อนองค์กรและเปลี่ยนวิสัยทัศน์เป็น Powering Life with Future Energy and Beyond จากการที่ปตท. ประสบความสำเร็จในยุค 3.0 ที่เป็นผู้นำองค์กรสำคัญให้กับประเทศได้ดีแล้ว พอมีในยุค 4.0 ก็ต้องตัดสินใจทำเรื่องใหม่ ๆ และมองเทรนด์การดำเนินธุรกิจอนาคต”
อย่างไรก็ตาม เรื่องของเทคโนโลยีสำคัญจะต้อง Sense of Urgency และ Strategic focus ถือว่าอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญที่นำเสนอ สะท้อนเทรนด์อุตสาหกรรมโลก ถือเป็นความได้เปรียบที่ ปตท. ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว ปตท.ก็ต้องเร่งดำเนินการ ดังนั้นจึงต้องหาพันธมิตรในรูปแบบ Partnership and Platform ซึ่งกลุ่มปตท.ใช้วิธีนี้เพื่อเร่งความเร็วและสิ่งสำคัญคือ Open Innovation เพื่อบรรลุเป้าหมายได้โดยเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อ Accelerate Scale อีกทั้งการทำสิ่งต่างๆ จะต้องมีเงินทุน โดยปตท. ได้สนับสนุนในด้านนี้อย่างจริงจัง
“เราทาเลนต์ โมบิลิตี้ และหาฟิวเจอร์สกิล ซึ่งแต่ก่อนทำเรื่องปิโตรเคมี ต่อไปจะต้องมีวิศวกรไฟฟ้าด้านสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ คนปตท. ในสถาบันนวัตกรรมกว่า 100 คน ได้ออกมานอกห้องวิจัย ทำเรื่องใหม่ ๆ ที่เป็นสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ จนสามารถพัฒนาฟิวเจอร์สกิลจนตั้งบริษัทสตาร์ทอัพได้แล้ว”
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ อยากฝากในเรื่องของการใช้ยุธศาสตร์ทั้งเทคโนโลยี คน และเงินทุนในการขับเคลื่อนนวัตกรรม โดยเฉพาะในเรื่องของการรวมพลังของคนทั้งประเทศ เริ่มตั้งแต่ระดับภาครัฐ และเอกชน ส่วนระดับบริษัทจะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่คณะกรรมการบริษัทจนถึงพนักงาน กลุ่มปตท.ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเพื่อที่จะทำให้เติบโต ถ้าไม่ทำจะไม่สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ ดังนั้น ความสำเร็จหลักจะอยู่ที่คน และต้องยอมรับฟังความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อให้เห็นปัญหาและทางออกของปัญหา หากทำผิดพลาดก็ต้องให้กำลังใจ ถ้าล้มก็จับมาแต่งตัวปัดฝุ่นใหม่และก้าวต่อไปพร้อมกัน
สำหรับการจัดงาน PTT Group Tech & Innovation Day เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถแสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทิศทางกลยุทธ์ การดำเนินงาน และการลงทุนด้านนวัตกรรมของกลุ่ม ปตท. โดยมีแกนหลักคือ สถาบันนวัตกรรม ปตท. ผ่านความร่วมมือทั้งจากในกลุ่ม ปตท. และจากเครือข่ายพันธมิตรชั้นนำภายนอก จนเกิดเป็นกลุ่มงานนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ 7 ด้านมาร่วมจัดแสดง
ประกอบด้วย พลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) , ยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility) , ธุรกิจยาและการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Life Science) , ปัญญาประดิษฐ์ (AI) , หุ่นยนต์ ระบบออโตเมชั่น และการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ (Robotics & Digitalization) , การขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน (Logistics & Infrastructure) , ธุรกิจเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) และ ระบบนิเวศของนวัตกรรม (Innovation Ecosystem)