'ทวี สอดส่อง' เตือนนายกฯ รับผิดชอบประมูลสายสีส้ม รัฐเสียหาย 6.8 หมื่นล้าน
'ทวี สอดส่อง' เตือนนายกฯ ต้องรับผิดชอบกรณีประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ทำให้รัฐเสียหาย จ่ายแพงมากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท
พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และ เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ (28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล กรณีเรื่องร้องเรียนรถไฟฟ้าสายสีส้มว่า อำนาจนายกรัฐมนตรีไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการดำเนินการ แต่ขั้นตอนการดำเนินการมีคณะกรรมการ ซึ่งมีอำนาจสิทธิ์ขาดของเขาอยู่ข้างล่าง กระทรวงก็รับผิดชอบในระดับกระทรวงเป็นลำดับสายบังคับบัญชา
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี อาจจะหลงลืมไปว่าท่านยังมีอีกสถานะหนึ่ง คือ ฐานะเป็นประธานกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 13 พระราชบัญญัติ การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 20 เรียกให้หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่ดำเนินโครงการเข้าร่วมลงทุนเข้าชี้แจง ให้ความเห็น หรือ จัดส่งข้อมูลหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการร่วมลงทุน เพื่อวินิจฉัยกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ มีอำนาจในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อพิจารณา หรือปฏิบัติหน้าที่ ด้วย ดังนั้น เมื่อท่านก็ทราบมาตลอดอยู่แล้ว ก็เชื่อว่าน่าจะทราบดั้งนี้
1. การกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ ตามประกาศเชิญชวนปี พ.ศ.2565 มิได้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ที่กำหนดให้ประมูลในรูปแบบ International Competitive Bidding ให้ผลตอบแทนเหมาะสมเป็นธรรม และมีผู้เข้าแข่งขันได้มากราย
2. คณะกรรมการคัดเลือก ไม่ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ บริษัทอิตาเลียนไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ที่ผู้บริหารมีคำพิพากษาถึงที่สุด โทษจำคุก เป็นคุณสมบัติต้องห้าม ประกาศให้ผ่านเป็นผู้มีคุณสมบัติ เพื่อเป็นคู่เทียบแข่งขันราคา
3. ราคาที่ผู้ชนะการคัดเลือกในปี พ.ศ. 2565 แตกต่างจากผู้ยื่นข้อเสนอในปี พ.ศ. 2563 มากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท ทั้งที่เนื้องานเท่ากัน ชิ้นงานเดียวกัน รัฐต้องจ่ายแพงไม่ได้ประโยชน์การดำเนินการดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติ การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มาตรา 6 คือ ไม่โปร่งใส ไม่รักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ และรัฐจะไม่ได้ประโยชน์สูงสุด ตามข้อกำหนดในมาตรา 40 ซึ่งเอกชนได้ฟ้องคดีไว้ต่อศาลปกครองกลาง คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง
กระผมและคณะร่วมกันยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ไต่สวนดำเนินคดี กับนายกรัฐมนตรีกับคณะโดยกล่าวหาว่ามีการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 , พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 และพระราชบัญญัติความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 - 13
โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีหน้าที่กำกับการปฏิบัติราชการตามพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการ ร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลโครงการร่วมทุนดังกล่าว ให้เป็นไปโดยสุจริตถูกต้องตามกฎหมายรักษาประโยชน์ของชาติอย่างเที่ยงธรรม
และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมใน ฐานะรัฐมนตรีของหน่วยงานในสังกัดที่มีอำนาจหน้าที่กำกับกิจการของ รฟม. ตามพระราชบัญญัติการ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 มาตรา 72 และเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ตาม พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ส่วน รฟม. และ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
อนึ่ง รัฐมนตรีคมนาคมอ้างมาโดยตลอดว่า ต้องรอฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดซึ่งที่เป็นคดีพ.ศ. 2563 ที่ “อ้างคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคนละคดีคนละประเด็น”กับการประมูลครั้งที่สอง ตามประกาศเชิญชวนปี พ.ศ. 2565 ที่จะนำเข้า ครม. ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง และกว่าศาลปกครองสูงสุดจะตัดสินต้องใช้เวลาในอนาคตไม่น้อยกว่า 3 ปี
อายุ ครม. เหลือเวลาไม่ถึง 1 เดือน ตามธรรมเนียมประเพณีจะไม่การอนุมัติโครงการที่มีผลกับงบประมาณในอนาคต รัฐบาลอย่าเอาการบริหารราชการแผ่นดินช่วง 2 สัปดาห์สิ้นสุดอายุ “เป็นเทศกาลเทกระจาด” ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นนายกรัฐมนตรีและ ครม. “ต้องร่วมกันรับผิดชอบที่ให้รัฐจ่ายค่ารถไฟฟ้าสายสีส้มแพงมากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้