สศช.ห่วง ‘หนี้ครัวเรือน’ ทะลุ 14.9 ล้านล้าน
สภาพัฒน์เผยหนี้สินครัวเรือนไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 14.9 ล้านล้านบาท ห่วงลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียจากผลกระทบโควิด-19 ที่ยังมีจำนวนมาก ย้ำต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เฉพาะกลุ่ม
เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ดนุชา พิชยนันท์ ระบุ ไตรมาส 3 ปี 2565 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.9 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% จาก 3.5% ของไตรมาสก่อน โดยปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2564 เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่ปรับตัวดีขึ้น
ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 86.8% ลดลงจาก 88.1% จากไตรมาสที่ผ่านมา สำหรับคุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังคงทรงตัว โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ไตรมาสสี่ปี 2565 มีสัดส่วน 2.62% ต่อสินเชื่อรวม
จากข้อมูลเครดิตบูโร พบว่า กลุ่มลูกหนี้ดีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จนกลายเป็นหนี้เสียยังมีปริมาณมาก แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลายลง แต่มูลค่าหนี้เสียของกลุ่มดังกล่าวยังสูงถึง 4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 และมีจำนวนบัญชีที่เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 4.7 ล้านบัญชีจาก 4.3 ล้านบัญชีของไตรมาสก่อนหน้าซึ่งเกือบ 60% เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล
สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นเสมือนกับดักต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต ซึ่งต้องติดตามและให้ความสำคัญ เพื่อลดจำนวนลูกหนี้เสียไม่ให้เพิ่มขึ้นและรักษาสถานะลูกหนี้ให้อยู่ในระบบการเงิน
ท่องเที่ยวบูมหนุนจ้างงานเพิ่ม
ขณะที่สถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาส 4 ปี 2565 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม ขณะที่การจ้างงานภาคเกษตรกรรมยังคงหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2
สำหรับภาพรวมปี 2565 อัตราการมีงานทำและชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อน COVID-19 ผู้มีงานทำมีจำนวน 39.2 ล้านคน ตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นหลังจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวและการส่งออกที่ขยายตัวขึ้นจากปีก่อน
ไตรมาส 4 ปี 2565 การจ้างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ขยายตัว 1.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการจ้างงานในสาขานอกภาคเกษตรกรรมที่เพิ่มขึ้น 3.4% โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการค้าส่งและค้าปลึก ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว
ส่วนอัตราการว่างงานไตรมาส 4 ปี 2565 ปรับตัวดีขึ้นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน มีผู้ว่างงาน 4.6 แสนคน ลดลงทั้งจำนวนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและไม่เคยทำงานมาก่อน
ส่วนแนวโน้มตลาดแรงงานปี 2566 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจาก
สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่คลี่คลายลง โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ
ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่ 1) การจ้างงานในอุตสาหกรรมส่งออกและโอกาสการหางานของเด็กจบใหม่ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปและมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจกระทบต่อการจ้างงานในสาขาที่เกี่ยวข้องและเป็นอุปสรรคต่อการหางานของเด็กจบใหม่
2) ภาระค่าครองชีพของแรงงานจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง และ 3) ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยว โดยสาขาโรงแรม ที่พัก ภัตตาคาร และร้านค้า ยังมีความต้องการแรงงานอีกประมาณ 1 หมื่นตำแหน่ง ใน 60 จังหวัด