‘สภาพัฒน์’ ชี้จ้างงานไทยฟื้นชัด แต่หนี้ครัวเรือนยังน่าห่วง จับตา NPL เพิ่ม

‘สภาพัฒน์’ ชี้จ้างงานไทยฟื้นชัด  แต่หนี้ครัวเรือนยังน่าห่วง จับตา NPL เพิ่ม

"สภาพัฒน์"แถลงข้อมูลภาวะสังคมไตรมาส 4/2565 พบภาวะการจ้างงานไทยฟื้นตัวดีทุกด้าน แต่ภาวะหนี้ครัวเรือนในส่วนที่เป็น NPL ยังน่าเป็นห่วง แนวโน้มเพิ่มในช่วงเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว จับตาหนี้เช่าซื้อรถยนต์ บัตรเครดิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 4/2565 เกี่ยวกับสถานการณ์การจ้างงาน และสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของประเทศไทย 

โดยสถานการณ์ด้านแรงงานของไทยถือปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนในทุกด้าน โดยกลับมาใกล้เคียงกับในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยมีการจ้างงานรวม 39.6 ล้านคน ขยายตัว 1.5% ส่วนการว่างงานลดลงเหลือ 1.32% คิดเป็นผู้ว่างงาน 4.6 แสนคน ลดลงจากในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อัตราการว่างงานเคยอยู่ที่ 1.96%

โดยการจ้างงานที่ดีขึ้นเป็นผลจากการจ้างงานในสาขานอกภาคเกษตรกรรมที่เพิ่มขึ้น 3.4% โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการค้าส่งและค้าปลีก ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า และสาขา การผลิตมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น

เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต สำหรับภาคเกษตรกรรม การจ้างงานหดตัว 3.4%  จากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้และการย้ายสาขาของแรงงาน ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น โดยชั่วโมงการทำงานภาพรวมและภาคเอกชนเฉลี่ยอยู่ที่ 42.6 และ 46.5 ชั่วโมง/สัปดาห์ ผู้ทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้นโดยมีจำนวนกว่า 6.3 ล้านคน

ขณะที่ผู้ว่างงานแฝงและผู้เสมือนว่างงานลดลงกว่า 28% และ 19%  ตามลำดับ

‘สภาพัฒน์’ ชี้จ้างงานไทยฟื้นชัด  แต่หนี้ครัวเรือนยังน่าห่วง จับตา NPL เพิ่ม

สถานการณ์ด้านแรงงาน ปี 2565 ผู้มีงานทำมีจำนวน 39.2 ล้านคน ขยายตัว1% โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม ขยายตัว 2%  ตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นหลังจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวและการส่งออกที่ขยายตัวขึ้นจากปีก่อน

ขณะที่ภาคเกษตรกรรม การจ้างงานหดตัว 1.2% จากผลกระทบของอุทกภัยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 และการเคลื่อนย้ายของแรงงานไปสู่สาขาที่ฟื้นตัวได้ดี

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไปเกี่ยวกับการจ้างงาน คือ

  • การจ้างงานในอุตสาหกรรมส่งออกและโอกาสการหางานของเด็กจบใหม่ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปและมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจกระทบต่อการจ้างงานในสาขาที่เกี่ยวข้องและเป็นอุปสรรคต่อการหางานของเด็กจบใหม่

 

  • ภาระค่าครองชีพของแรงงานจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง

 

  • ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยว โดยสาขาโรงแรม ที่พัก ภัตตาคาร และร้านค้า ยังมีความต้องการแรงงานอีกประมาณ 1 หมื่นตำแหน่ง ใน 60 จังหวัด

นายดนุชากล่าวต่อว่าในส่วนของหนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสาม ปี 2565 ประเด็นที่น่าสนใจของสถานการณ์หนี้ครัวเรือนคือการขยายตัวในทุกประเภทสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นเป็น 11.8% จากไตรมาสก่อน 8.8% และสินเชื่อบุคคลภายใต้การกำกับขยายตัวเพิ่มเป็น 21.4% ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 25%

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยในส่วนนี้มีกลุ่มที่เคยเป็นลูกหนี้ดีแต่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนกลายเป็นหนี้เสียแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย

โดยมูลหนี้ของกลุ่มนี้อยู่ที่ 4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า เมื่อเทียบกับไตรมาสหนึ่งปี 2565 และมีจำนวนบัญชีที่เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 4.7 ล้านบัญชี จาก 4.3 ล้านบัญชีของไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเกือบ 60% เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล

ทั้งนี้ไตรมาสสาม ปี 2565 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.90 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% จาก 3.5% ของไตรมาสก่อน GDP อยู่ที่ 86.8% 

สำหรับคุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ยังคงทรงตัว โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไตรมาสสี่ ปี 2565 มีสัดส่วน 2.62% ต่อสินเชื่อรวม เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่ปรับตัวดีขึ้น 

ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงจาก 88.1% จากไตรมาสที่ผ่านมาเหลือ 86.8% เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่ปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (SML) หรือสินเชื่อค้างชำระน้อยกว่า 3 เดือน พบว่า สินเชื่อกล่าวถึงพิเศษในสินเชื่อรถยนต์มีสัดส่วนสูงถึง 13.7% ของสินเชื่อรวม

นอกจากนี้ จากข้อมูลเครดิตบูโรพบว่า ลูกหนี้เสียจากผลกระทบของ COVID-19 ยังมีปริมาณมาก แม้สถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลายลง ซึ่งในระยะถัดไปมีประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญ คือ

  • การเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ที่เริ่มมีสัญญาณการผิดชำระหนี้ เพื่อลดความเสี่ยงในการตกชั้นของลูกหนี้ที่มีจำนวนมาก และ

 

  • การมีมาตรการเฉพาะเจาะจงในการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้เสียจากผลกระทบของ COVID-19 เพื่อลดจำนวนลูกหนี้เสียไม่ให้เพิ่มขึ้น