ส่องแผนรัฐบาลเคาะงบฯล่วงหน้า ดูแล‘กลุ่มเปราะบาง’ หลังยุบสภาฯ

ส่องแผนรัฐบาลเคาะงบฯล่วงหน้า ดูแล‘กลุ่มเปราะบาง’ หลังยุบสภาฯ

รัฐบาลเตรียมแผนดูแลกลุ่มรายได้น้อยหลังยุบสภาฯ เตรียมเคาะงบกลางอีก 3 พันล้าน ดูแลค่าไฟกลุ่มผู้ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยถึงเดือน เม.ย. เปิดช่องหารือ กกต.หากต้องขอใช้งบฯกลางเพิ่มช่วงเป็นรัฐบาลรักษาการ ยอดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเมื่อรวมเงินกู้แล้วพุ่ง 4.2 แสนล้านบาท

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (7มี.ค.) กระทรวงมหาดไทยจะเสนอ ครม.ของบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นปี 2566 วงเงินประมาณ 3,190 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นงบประมาณในการดูแลค่าครองชีพในส่วนของค่าไฟฟ้าของประชาชนที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย ในงวดปัจจุบันคือตั้งเดือน ม.ค. – เม.ย.2566

ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการอนุมัติงบประมาณเพื่อช่วยเหลือดูแลประชาชนในช่วงที่รัฐบาลยุบสภาฯซึ่งสามารถช่วยเหลือประชาชนในส่วนของค่าไฟฟ้าได้จนถึงเดือน เม.ย.

 

เปิดช่องหารือ ก.ก.ต.หากจำเป็นต้องใช้งบกลางฯ 

อย่างไรก็ตามเนื่องจากภายหลังจากที่มีการยุบสภาฯแล้วรัฐบาลรักษาการยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอีกหลายเดือนซึ่งกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องของบกลางฯเพื่อดูแลประชาชนเพิ่มเติมจากวงเงินที่เคยอนุมัติไว้รัฐบาลสามารถยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้อนุมัติเป็นกรณีก่อนที่จะนำเรื่องเสนอที่ประชุม ครม. ซึ่งปัจจุบันนี้งบกลางฯที่เหลืออยู่นั้นเหลืออยู่ไม่มากนัก ใกล้เคียงกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 แต่มั่นใจว่าจะเพียงพอในการที่รัฐบาลจะใช้ดูแลประชาชนหากเกิดกรณีภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัย และภัยแล้งได้เพราะได้มีการเตรียมงบประมาณในกรอบของงบกลางฯรองรับในส่วนนี้ไว้แล้ว

 

 

เตรียมระเบียบใช้งบฯไปพลางก่อน 4 - 6 เดือน 

เมื่อถามว่าในส่วนของการเตรียมการเรื่องการใช้งบประมาณไปพลางก่อนในช่วงที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ เบื้องต้นสำนักงบประมาณคาดการณ์ว่าจะมีช่วงที่ใช้งบประมาณตามกรอบไปพลางก่อนเป็นระยะเวลา 4 – 6 เดือน

เนื่องจากกว่าที่จะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินคือในช่วงเดือน ส.ค.และกว่าที่จะมีการทบทวนการจัดทำงบประมาณปี 2567 แล้วเสร็จก็คาดว่าอาจจะใช้ระยะเวลาไปจนถึงเดือน ม.ค.ปี 2567 และประกาศใช้พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ได้ในช่วงเดือน ก.พ.2567 ซึ่งเป็นการคาดการณ์โดยยึดตามการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ซึ่งเป็นการทำงบประมาณหลังจากที่มีการเลือกตั้งเมื่อปี 2562

“เมื่อได้รัฐบาลใหม่แล้วสำนักงบประมาณก็ต้องเสนอกรอบระยะเวลาในการจัดทำงบประมาณใหม่ให้กับรัฐบาล พร้อมกับระเบียบการใช้งบประมาณไปพลางก่อนซึ่งขณะนี้กำหนดระยะเวลาไว้ที่ 4 – 6 เดือน ซึ่งในช่วงที่ใช้งบประมาณไปพลางก่อนกำหนดให้การเบิกจ่ายงบประมาณไม่สามารถทำได้เกินกว่ากรอบงบประมาณในปีงบประมาณที่ผ่านมาคือปีงบประมาณ 2566 ได้ ส่วนโครงการที่เป็นโครงการลงทุนใหม่ยังไม่สามารถที่จะอนุมัติจัดซื้อจัดจ้างได้”

 

กองทุนประชารัฐฯใช้เงินหมุนเวียนและงบประมาณ

สำหรับกรณีของวงเงินที่มีการอนุมัติให้กับกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้กับผู้ที่ได้รับสิทธิ์ตามบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปีนี้นั้น ครม.เมื่อสัปดาห์ก่อนได้มีการอนุมัติงบกลางฯเพิ่มเติมให้ 9,140 ล้านบาท จากวงเงินที่กระทรวงการคลังคาดว่าต้องใช้เงินประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท

 

 

เนื่องจากในกองทุนประชารัฐฯนั้นยังมีวงเงินคงเหลืออยู่ประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาท โดยเป็นเงินจากปีงบประมาณ 2566 ที่ได้รับจัดสรรวงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท และวงเงินคงเหลือจากปี 2565 วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับงบกลางฯที่ ครม.อนุมัติให้นั้นทำให้มีวงเงินเพียงพอที่จะดูแลผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับสิทธิตามบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.59 ล้านคนในปีนี้

“เงินที่ใช้ดูแลผู้มีรายได้น้อยในส่วนของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้นยังมีเพียงพอทั้งจากเงินที่คงเหลืออยู่ในกองทุนประชารัฐฯและงบกลางฯที่รัฐบาลได้มีการอนุมัติไป 9,100 ล้านบาทเศษ”

เมื่อถามว่าในส่วนของนโยบายเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ 700 – 1,000 บาทจะสร้างภาระต่องบประมาณมากหรือไม่ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกล่าวว่าคงต้องมาดูอีกทีว่าหลังการเลือกตั้งพรรคการเมืองจะมีการนำสิ่งที่ได้หาเสียงไว้มาทำเป็นมาตรการจริงหรือไม่ ซึ่งในขั้นตอนที่จะนำมาใช้นั้นต้องมีการหารือกับหลายภาคส่วนและดูในส่วนของงบประมาณที่ต้องมีการนำไปใช้ในอีกหลายโครงการและหลายแผนงาน

 

ยอดใช้งบฯบัตรสวัสดิการรวมเงินกู้ฯทะลุ 4 แสนล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 6 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 โดยใช้วงเงินรวมกว่า 422,405.01 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินจากงบประมาณฯ 333,229.6 ล้านบาท แบ่งเป็นการอนุมัติในปีงบประมาณต่างๆได้แก่

  • ปีงบประมาณ 2561 จัดสรรงบประมาณ 43,614.5 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ์ 14.2 ล้านคน
  • ปีงบประมาณ 2562 จัดสรรงบประมาณ 93,155.4 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ์ 14.6 ล้านคน
  • ปีงบประมาณ 2563 จัดสรรงบประมาณ 47,843.5 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ์ 13.9 ล้านคน
  • ปีงบประมาณ 2564 จัดสรรงบประมาณ 48,216 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ์ 13.5 ล้านคน
  • ปีงบประมาณ 2565 จัดสรรงบประมาณ 34,986.4 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ์ 13.2 ล้านคน
  • ปีงบประมาณ 2566 คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณรวม 65,413.80 ล้านบาท และมีผู้ได้รับสิทธิ์ 14.6 ล้านคน

 

อีกส่วนหนึ่งเป็นวงเงินอนุมัติจากเงินกู้ตามพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯในช่วงสถานการณ์โควิด-19 วงเงินรวม 89,175.53 ล้านบาท แบ่งเป็น การใช้เงินกู้ตาม

  • พ.ร.ก.ฯปี 2563 วงเงิน 64,018.73 ล้านบาท
  • พ.ร.ก.ฯปี 2564 วงเงิน 25,156.68 ล้านบาท

โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้เงินในโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19