'ผู้แทนการค้าฯ’เร่งดึง ‘EV’ลงทุนเพิ่ม เผย ‘BWW’สนใช้ไทยเป็นฐานผลิต

'ผู้แทนการค้าฯ’เร่งดึง ‘EV’ลงทุนเพิ่ม เผย ‘BWW’สนใช้ไทยเป็นฐานผลิต

ผู้แทนการค้าเผยรถ EV ไทยผงาดเตรียมดึงค่ายรถลงทุนเพิ่ม จ่อของบกลางฯ 4-5 พันล้านอุดหนุนค่ายรถที่ลดภาษีสรรพสามิตทำให้รถ EV ราคาลดลง พร้อมเสนอหลักการเรื่องการสนับสนุนสร้างโรงงานแบตเตอรี่ EV ให้ครม.รับทราบ เผยค่ายรถยังจ่อลงทุนอีวีในไทยต่อเนื่อง

Key points

  • ทีมปฏิการเชิงรุกดึงการลงทุนที่มีผู้แทนการค้าไทยเป็นประธานได้วางยุทธศาสตร์ในการดึงการดึงลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายแบบโฟกัสเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา
  • โดยหนึ่งในอุตสาหกรรมที่วางเป้าหมายไว้คือรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อรักษาความเป็นฮับผลิตรถยนต์ของไทย
  • การลงทุนในอุตสาหกรรม EV ในไทยในระยะเวลา 3 ปี รวมกว่า 46โครงการ มูลค่า 78,115 ล้านบาท 
  • ปัจจุบันมีค่ายรถหลายค่ายตัดสินใจที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถ EV โดยล่าสุดค่ายรถที่สนใจมาลงทุนคือ BMW ค่ายรถชื่อดังสัญญาชาติเยอรมัน
  •  บีโอไอเตรียมแผนโรดโชว์กว่า 200 ทริปเพื่อดึงการลงทุนเพิ่มเติมในสาขาต่างๆรวมทั้งการดึงการลงทุนในอุตสาหกรรม EV เพิ่มเติม  

 

รัฐบาลได้ตั้งทีมปฏิบัติการเชิงรุกได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ “Better and Green Thailand 2030” เพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในระยะ 10 ปีข้างหน้า โดยมีเป้าหมายดึงดูดการลงทุนมากกว่า 2 ล้านล้านบาท สร้างตำแหน่งงานใหม่ 625,000 อัตรา และเพิ่มจีดีพีของประเทศอีก 1.7 ล้านล้านบาท

\'ผู้แทนการค้าฯ’เร่งดึง ‘EV’ลงทุนเพิ่ม เผย ‘BWW’สนใช้ไทยเป็นฐานผลิต

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และหัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เปิดเผยว่าในนโยบายการผลักดันรถยนต์ไฟฟ้า หรือ (EV) ที่รัฐบาลได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง 2 ปี ถือว่าประสบผลสำเร็จเกินคาด โดยปี 2565 ไทยถือว่าเป็นอันดับต้นของโลกในแง่ของยอดขายรถ EV ทำให้เห็นว่าเรามีตลาดที่ใหญ่พอที่จะดึงดูดการลงทุน

ปี 2566 จะมีบริษัทรถยนต์ค่ายยุโรปที่เข้ามาลงทุนผลิตรถ EV ในไทยเพิ่มเติม คือ บริษัท BMW ซึ่งจะเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนเพื่อจำหน่ายในไทยและเป็นฐานสำหรับส่งออกไปยังอาเซียน ซึ่งก็ถือว่าเป็นความสำเร็จหลังจากที่สามารถดึงค่ายรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของจีน และญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติมได้

สำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องในส่วนของรถ EV รัฐบาลอยู่ระหว่างทำงานในการเจรจากับบริษัทชั้นนำที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถ EV โดยเฉพาะในส่วนของอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ โดยมีเป้าหมายที่จะดึงการผลิตเข้ามาในประเทศไทย และในอนาคตต้องมีสัดส่วนในการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถ EV มากกว่ามาเลเซีย ตามแนวโน้มของอุตสาหกรรม และระบบนิเวศน์รถ EV ที่ใหญ่มากขึ้นในประเทศไทย

\'ผู้แทนการค้าฯ’เร่งดึง ‘EV’ลงทุนเพิ่ม เผย ‘BWW’สนใช้ไทยเป็นฐานผลิต

ม.ล.ชโยทิต กล่าวว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบมติของคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้า (บอร์ดอีวี) โดยมีเรื่องที่สำคัญคือการขอเงินสนับสนุนจากงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนปี 2566 วงเงิน 4-5 พันล้านบาท เพื่อจ่ายอุดหนุนค่ายรถยนต์ที่เข้าโครงการกับภาครัฐที่ภาครัฐจ่ายเงินอุดหนุนภาษีสรรพสามิตรถ EV สูงสุดคันละ 150,000 บาท ซึ่งวงเงินที่ขอไว้ถือว่าครอบคลุมจำนวนรถที่เข้าโครงการในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนั้นยังมีเงื่อนไขของการขยับระยะเวลาการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพื่อชดเชยการนำรถ EV เข้าทั้งคันเนื่องจากภาคเอกชนได้ขอให้มีการขยายระยะเวลาจากเดิมที่เคยกำหนดว่าต้องผลิตในจำนวน 1.5 เท่าของรถที่นำเข้าภายในเวลา 2 ปี

ส่วนมาตรการสนับสนุนโรงงานแบตเตอรี่รถ EV ด้วยเงินอุดหนุนการลงทุนจำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท นั้นต้องรอ ครม.อนุมัติในหลักการเช่นกันเพื่อให้สามารถดำเนินมาตรการได้ต่อ และต้องอนุมัติภายในช่วงเวลาก่อนที่จะมีการยุบสภาฯเพื่อให้กรอบการดำเนินการในเรื่องนี้มีผลต่อเนื่องไปถึงช่วงรัฐบาลรักษาการ และทีมปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และบีโอไอสามารถนำไปใช้ในการโรดโชว์ได้หลังจากที่ ครม.รับทราบแล้ว

ทั้งนี้ ทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดึงดูดการลงทุนใหม่จากต่างประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล และอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการริเริ่มออกวีซ่าประเภทใหม่สำหรับผู้พำนักระยะยาว (Long-term Resident หรือ LTR Visa) เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ ผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ และผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี ให้เข้ามาทำงานและอยู่อาศัยระยะยาวในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้ประเทศไทยมีกลุ่มบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตได้

\'ผู้แทนการค้าฯ’เร่งดึง ‘EV’ลงทุนเพิ่ม เผย ‘BWW’สนใช้ไทยเป็นฐานผลิต

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ เปิดเผยว่า ท่ามกลางวิกฤติแบ่งขั้วทางการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้เกิดการโยกย้ายฐานผลิตครั้งใหญ่ ด้วยจุดแข็งของประเทศไทยทั้งด้านความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรที่มีคุณภาพ อุตสาหกรรมสนับสนุนที่แข็งแกร่ง และศักยภาพการเป็นศูนย์กลางในหลายด้านของอาเซียน รวมถึงนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ ดิจิทัล และพลังงานสะอาด 

“ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกได้เลือกใช้ไทยเป็นฐานลงทุนธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะใน 5 อุตสาหกรรมมุ่งเป้า ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ BCG และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” 

ทั้งนี้ ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 5 อุตสาหกรรม ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2563-2565) รวมกัน 2,687 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 6 แสนล้านบาท ง

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมทั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า มียอดขอรับส่งเสริมรวม 46โครงการ มูลค่า 78,115 ล้านบาท ผู้ประกอบการรายสำคัญ เช่น เมอร์เซเดส-เบนซ์, เกรท วอลล์ มอเตอร์, เอสเอไอซี มอเตอร์ (เอ็มจี), บีวายดี ออโต้, ฮอริษอน พลัส, กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์, อีวีโลโม เทคโนโลยี

สำหรับแผนการดึงลงทุนของบีโอไอในปีงบประมาณ 2566 ได้วางแผนจัดกิจกรรมเชิงรุกเจาะกลุ่มเป้าหมายกว่า 200 ครั้ง ทั้งการจัดคณะโรดโชว์จากส่วนกลางและสำนักงานบีโอไอ 16 แห่งทั่วโลก เพื่อเผยแพร่มาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่และโอกาสการลงทุนในประเทศไทย การจัดสัมมนารายประเทศ รายอุตสาหกรรม 

รวมทั้งจับมือกับกลุ่มที่จะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน เช่น ธนาคารใหญ่ บริษัทที่ปรึกษา สมาคมอุตสาหกรรม และหน่วยงานพันธมิตร และการเดินสายพบปะบริษัทสำคัญ โดยมีนักลงทุนเป้าหมายหลัก คือ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เกาหลี อินเดีย สหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น