ครม.ไฟเขียวมาตรการหนุนรถEV เว้นภาษีฯนิติบุคคล - นำเข้า9ชิ้นส่วนสำคัญ
ครม. เห็นชอบร่างพ.ร.ฎ. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ พร้อมร่างประกาศกระทรวงการคลัง ยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าหรือ เรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ 9 ชิ้นส่วนสำคัญ
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่) พ.ศ. .... (การยกเว้นเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์) เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้รับเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์
เพื่อเป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นโดยไม่ต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้จะช่วยสนับสนุนให้ราคาของรถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) ลดลง ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการซื้อยานยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาถูกลง ทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการลงทุน และเป็นการสร้างแรงจูงใจให้มีการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) เพิ่มขึ้นในอนาคต
โดยสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา ได้แก่ ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ : บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ได้รับเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
ส่วนสิทธิประโยชน์ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ได้รับเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น
โดยมีเงื่อนไขคือให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด เช่น เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในเขตปลอดอากรเขตประกอบการเสรี เป็นผู้นำเข้าที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ เป็นต้น
หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไปแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
ทั้งนี้กระทรวงการคลัง รายงานว่า มาตรการนี้ไม่อยู่ในประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ แต่ได้ประมาณการจากการจ่ายเงินอุดหนุนตามมาตรการดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 – 2568 จำนวน 43,000 ล้านบาท คิดเป็นรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะสูญเสียประมาณ 8,600 ล้านบาท แต่จะเป็นการสนับสนุนให้มีความต้องการการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและทำให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งจะทำให้มีการจ้างงานและการพัฒนาฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าหรือ เรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของกิจการยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง สนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างยั่งยืนด้วย
โดยการยกเว้นอากรศุลกากร ได้แก่ ของและส่วนประกอบของ ของที่นำเข้าเพื่อประกอบหรือผลิตเป็นยานยนต์ไฟฟ้า หรือเรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รวม 9 รายการ ดังนี้
1) แบตเตอรี่ (battery)
2) มอเตอร์ขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า (traction motor)
3) คอมเพรสเซอร์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า
4) ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS)
5) ระบบควบคุมการขับขี่
6) ออนบอร์ดชาร์ทเจอร์ (on-board charger)
7) ดี ซี/ดีซี คอนเวอร์เตอร์ (DC/DC converter)
8) อินเวอร์เตอร์ (inverter) รวมถึง พีซียู อินเวอร์เตอร์ PCU inverter
และ 9) รีดักชัน เกียร์ ( reduction gear)
โดยเงื่อนไขการได้รับการยกเว้นอากร ต้องเป็นของที่นำเข้ามาตั้งแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 เพื่อประกอบหรือผลิตเป็นยานยนต์ไฟฟ้าหรือเรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ มีหนังสือรับรองจากสถาบันยานยนต์ว่าเป็นของหรือส่วนประกอบของของสำหรับนำมาเพื่อประกอบหรือผลิตเป็นยานยนต์ไฟฟ้าหรือเรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ และต้องนำไปใช้ประกอบหรือผลิตเป็นยานยนต์ไฟฟ้าหรือเรือแบบไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่นำเข้าของ
หากมีเหตุขัดข้องสามารถขอขยายระยะเวลาการผลิตได้อีกไม่เกิน 6 เดือน สำหรับของที่ได้รับการยกเว้นอากรหากไม่สามารถหรือไม่ได้นำไปใช้ประกอบหรือผลิต ภายในเวลาที่กำหนดให้ผู้นำเข้าของเข้าส่งของนั้นออกไปนอกราชอาณาจักรหรือชำระอากรโดยถือเป็นสภาพของของ ราคาและอัตราอากรที่เป็นอยู่ในวันที่นำของเข้า ทั้งนี้ให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
"กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่ารัฐอาจจะสูญเสียรายได้จากอากรขาเข้าโดยเฉลี่ยประมาณ 3,143 ล้านบาทต่อปี แต่จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในประเทศ ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคด้วย” นายอนุชา กล่าว