สัญญาณการบริโภคฟื้น หนุนความเชื่อมั่นสูงสุดในรอบ 36 เดือน
ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ.ปรับตัวดีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 สูงสุดในรอบ 36 เดือน นับแต่เดือนมี.ค.63 ชี้เศรษฐกิจเริ่มแผ่ว จับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ยกดดันเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เตรียมปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจใหม่ในเดือน พ.ค.นี้
Key Points
- ดัชนีความเชื่อมั่นเดือน ก.พ.2566 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และอยู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี
- มาตรการกระตุ้นการบริโภค เช่น ช้อปดีมีคืน ลดภาษีที่ดี ส่งผลดีต่อการบริโภคในปี 2566
- เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวในรูปตัว K ทำให้ผู้บริโภคยังไม่มั่นใจสถานการณ์เศรษฐกิจ
- มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินเศรษฐกิจของไทยในปี 2566 จะขยายตัว 3-4%
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายงานผลการสำรวจตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศจำนวน 2,239 คน พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 51.7 เป็น 52.6 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 36 เดือนนับตั้งแต่เดือน มี.ค.2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยเริ่มประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดจากโรคโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 46.8 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม อยู่ที่ 49.9และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่อยู่ที่61.2ซึ่งปรับตัวดีขึ้นทุกรายการแลสูงสุดในรอบ36เดือนนับตั้งแต่มี.ค.63
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจัยบวกสำคัญมาจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนทั้งการท่องเที่ยวของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยหลังจากที่จีนเปิดประเทศ รวมถึงสถานการณ์โควิดในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงอย่างมากจากช่วงครึ่งปีแรกทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการอย่างมีนัยสำคัญ"
นอกจากนี้ยังมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2566 ที่ภาครัฐมีให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่น ช้อปดีมีคืน, มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น และทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดปรับดีขึ้นราคา เงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อย
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย พบว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตแบบ K-Shape โดยดูจากยอดขายรถ มอแตอร์ไซค์ การใช้ไฟฟ้า เป็นต้น และเมื่อมาดูดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็ฟื้นขึ้นแต่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ คือ ที่ระดับ 100 โดยไม่มีรายการใดใกล้เคียงถึงระดับ 100 แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนยังคงกังวลในสถานการณ์โควิดในประเทศไทยและทั่วโลกที่ยังคงมีอยู่แม้ว่าจะคลายตัวลงก็ตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต
ที่น่าแปลกใจคือ แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ.ปรับดีขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้น แต่ก็มีลักษณะอาการแปลกๆในแบบที่ไม่ทะยานขึ้นอย่างโดดเด่น ซึ่งมาจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ
1.ภาวะเศรษฐกิจนิ่ง หลังจากที่ภาคการส่งออกของไทยขยายตัวในอัตราติดลบตลอดไตรมาส 4ปี 65 ซึ่งทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 1.4% และทั้งปีขยายตัวเพียง 2.6%
2.สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประกาศตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจปี 66 จะขยายตัวน้อยกว่าที่คาดไว้ เดิมที่ 3-4% เป็น 2.7-3.7% จากปัญหาอัตราดอกเบี้ยสูง และค่าเงินบาทที่ผันผวน ประกอบกับต้นทุนพลังงานที่สูง และยังคาดการณ์การส่งออกว่า ปี 66 อาจมีสัญญาณของการติดลบได้
3.ผู้บริโภคมองว่าต้นทุนค่าครองชีพยังทรงตัวสูง โดยเฉพาะจากราคาพลังงาน
ทั้งศูนย์ฯจะมีการปรับประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ในเดือน พ.ค.เพราะมีสัญญาณของเศรษฐกิจที่แผ่วลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อมากกว่าที่คาดไว้เดิมที่อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 4.5 % แต่อาจถึง 5-6 % ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย
ดังนั้นที่สิ่งที่เราหวังว่า การส่งออกจะฟื้นตัวในครึ่งปีหลังและการท่องเที่ยวจะกลับมาและมีน้ำหนักพอชดเชยการส่งออกที่หดตัวหรือไม่ ซึ่งอาจจะไม่เป็นตามที่คาด ขณะเดียวกัน ต้องดูราคาพืชผลทางการเกษตร และมาตรการของรัฐ ทั้งบัตรสวัสดิการของรัฐ และเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งจะเห็นผลในช่วงไตรมาส 2 ขณะที่บรรยากาศเศรษฐกิจโลกก็น่าจะชัดในไตรมาส 2เช่นกัน
“ม.หอการค้าไทย มองเศรษฐกิจไทยโต 3-4% และยังมีโอกาสโตในกรอบ 3.5% บวกลบ ยังไม่เปลี่ยนมุมมอง แต่สัญญาณที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากขึ้น จากโอกาสที่เศรษฐกิจโลกขึ้นดอกเบี้ย และอาจชะลอตัวลงต่อนานกว่าเดิม ส่วนเศรษฐกิจไทยก็รอดูว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นดึงส่งออกให้ภาคเศรษฐกิจฟื้นในไตรมาส 2 ได้"นายธนวรรธน์ กล่าว
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือน ก.พ.2566 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่างพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยอยู่ที่ 49.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ มิ.ย.2565 โดยเฉพาะภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวอย่างโดดเด่น ทำให้มองว่าเศรษฐกิจดีขึ้น
โดยมีปัจจัยหนุนมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น มาตรการช้อปดีมีคืน มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าท่องเที่ยวมากขึ้น ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ค่าเงินบาทอ่อนค่า อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจก็ยังมีความกังวลต่อเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวส่งผลต่อภาคการส่งออก การที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย สคช.ปรับประมาณตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจ 2566 ขยายตัว 2.7-3.7 % การส่งออกไทยเดือนม.ค.ติดลบ 4.53 %
ทั้งนี้ภาคธุรกิจต้องการให้ภาครัฐดูแลเรื่องต้นทุนการประกอบการ โดยเฉพาะเรื่องค่าพลังงานสนับสนุนด้านการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมาตรการแก้ไขภาระหนี้สินในครัวเรือนของประชาชน และหนี้สินทางธุรกิจจากผู้ประกอบการ