‘สหรัฐ’ ใช้ไต้หวันสกัดจีน ขึ้นเบอร์ 1 เศรษฐกิจโลก

‘สหรัฐ’ ใช้ไต้หวันสกัดจีน ขึ้นเบอร์ 1 เศรษฐกิจโลก

“ธีรชัย” ชี้ “สหรัฐ” คิดทุกวิถีทางสกัดจีน หวั่นก้าวขึ้นเบอร์ 1 ผู้นำเศรษฐกิจโลก โดยใช้ “ไต้หวัน” เป็นเครื่องมือสกัดความสัมพันธ์ ลดพันธมิตรรอบด้าน ระบุ หาก “จีน” อยากเป็นผู้นำเศรษฐกิจโตต้องเร่งเพิ่มทุน-พัฒนาเทคโนโลยีแข่ง

Key Points

  • สหรัฐ ทำทุกวิถีสกัดจีน หวั่นขึ้นเบอร์ 1 ผู้นำเศรษฐกิจโลก
  • อาศัยไต้หวันเป็นเครื่องมือสกัดความสัมพันธ์ ลดพันธมิตร
  • หากจีนอยากเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกต้องเร่งเพิ่มทุน พัฒนาเทคโนโลยี
  • เศรษฐกิจโลกชะลอตัวกระทบส่งออกไทย หวังพรรคการเมืองคิดนอกกรอบ

 

รายการ DEEP Talk ของกรุงเทพธุรกิจ ซึ่งเผยแพร่ทางยูทูปและเฟซบุ๊คของกรุงเทพธุรกิจวันที่ 9 มี.ค.2566 ได้นำเสนอประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีน โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในรายการ DEEP Talk ว่า ตั้งแต่สหภาพโซเวียดล่มสลาย ส่งผลให้สหรัฐเสมือนเป็นประเทศมหาอำนาจเดียวและครองมหาอำนาจแห่งเดียวในโลกเป็นเวลานานกว่า 30 ปี ส่งผลให้ในแง่ของการเป็นอยู่ นโยบายเศรษฐกิจสหรัฐ ได้ประโยชน์จากการเป็นมหาอำนาจ ที่ผ่านมาสหรัฐให้ความสำคัญกระบวนการโลกาภิวัตน์ ประเทศจีนที่เป็นฐานการได้ประโยชน์ด้วย 

ดังนั้น สหรัฐเริ่มกังวลว่าจีนที่เป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 จะแซงเศรษฐกิจสหรัฐ จึงคิดหาทางชะลอและหาทางเบรกไม่ให้จีนมีโอกาสวิ่งแซง

ทั้งนี้ สหรัฐจึงใช้ไต้หวันเป็นเครื่องมือในการแหย่จีน เนื่องจากจีนมีแนวโน้มที่จะพยายามบริหารจัดการไต้หวัน ซึ่งทำให้รัฐบาลจีนทยอยหาวิธีที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจการค้าให้แน่นแฟ้นขึ้นเรื่อย ๆ จะเห็นได้จากพรรคฝ่ายค้านของไต้หวันที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนได้ชนะเลือกตั้ง ซึ่งจีนเองก็ไม่ได้รีบร้อนที่จะไปทำอะไรไต้หวัน

นอกจากนี้ ในการพยายามรวมเชื้อชาติกับไต้หวันจะส่งผลดีกับไต้หวัน และในภาพรวมเศรษฐกิจจีนที่เป็นแม่เหล็กก้อนใหญ่ เพราะเมื่อไต้หวันลงทุนกับจีนสามารถทำกำไรได้ดีและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ส่งผลดีถึงการลงทุนธุรกิจในทวีปแอฟริกาหรือเอเชีย 

 

 

ดังนั้น สิ่งที่จะเป็นอุปสรรคคือการเป็นแม่เหล็กของจีนที่มีแนวโน้มที่มีพลังและแรงดึงดูดมากขึ้น และทำให้สหรัฐพยายามตัดอำนาจอิทธิพลของจีนที่จะดึงดูดไต้หวัน

รวมทั้งจากการที่จีนมีแนวทิศทางเศรษฐกิจที่โต ส่งผลให้สหรัฐใช้กลยุทธ์เข้าไปเบรกการใช้อุปกรณ์โทรคมนาคม เช่น อุปกรณ์ของหัวเว่ย โดยให้เหตุผลว่าผู้ที่ใช้สินค้าของหัวเว่ยในสหรัฐเสี่ยงต่อความมั่นคง แม้ในข้อเท็จจริงอาจไม่มีความเสี่ยง รวมทั้งอนาคตจะส่งผลให้ธุรกิจโทรคมนาคมของจีนที่จะขยายตัวครองตลาดสหรัฐยากขึ้น รวมถึงตลาดยุโรปและออสเตรเลียด้วย อีกทั้งยังไม่ให้เนเธอแลนด์ขายอุปกรณ์หรือเครื่องจักรหรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยให้กับจีน

“ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ให้จีนได้จะเป็นเทคโนโลยีที่ไม่สูง เช่น ชิปตู้เย็น ชิปนาฬิกา แต่จะไม่ให้ชิปที่ใช้ในการผลิตอาวุธ และเริ่มกีดกันในเรื่องของโซเชียลมีเดียของจีน เช่น แอพพลิเคชั่น Tik Tok และสิ่งที่จะเห็นในอันดับต่อไปจะเป็นการบีบการลงทุน ซึ่งตอนนี้มีการตรวจสอบบัญชีอย่างเข้มข้นและจีนก็ไม่สบายใจเช่นกัน”

อย่างไรก็ตามจากการคว่ำบาตรสหรัฐส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนเอาเงินออกนอกประเทศ อาทิ บริษัทแอ๊ปเปิ้ล ได้ขยับออกไปที่อินเดีย และเวียดนาม รวมถึงบริษัทเกาหลีใต้และญี่ปุ่น เพราะหากวันหนึ่งเกิดสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอย่างเข้มข้นจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับสินค้าที่ผลิตในจีน โดยเฉพาะการเสียภาษีที่สูงจะเห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนไม่ขยายตัวมากเท่าเดิม

 

 

ทั้งนี้ สหรัฐต้องการความสัมพันธ์ในรูปแบบที่ได้เปรียบไม่ยอมให้ใครแซงหน้า โดยให้จีนทำเทคโนโลยีที่ต่ำ ไม่ต้องการก้าวล้ำมาก ประเทศที่ส่งคนไปดวงจันทร์ได้คือจีนกับสหรัฐ ซึ่งจีนส่งอ้อมด้านหลังไม่สามารถติดต่อโทรคมนาคมได้โดยตรง โดยการส่งดาวเทียมโคจรรอบดวงจันทร์เพื่อสะท้อนสัญญาณและควบคุมญาณในด้านที่มองไม่เห็น สหรัฐเห็นว่าจีนพัฒนาเทคโนโลยีล้ำหน้ากว่าประเทศอื่น จึงพยายามสกัด

นอกจากนี้ จะเห็นว่าปัจจุบันหากมองในเรื่องของแอพพลิเคชั่น 1-10 แอพ จะเป็นของสหรัฐ 5 แอพ และจีนอีก 5 แอพ จึงถือว่ามีเพียงจีนที่เทียบเคียงได้ หรือแม้แต่กรณีที่รัสเซียเองนั้นเน้นผลิตอาวุธ หรืออวกาศบางอย่าง ก็ไม่มีความพร้อมแข่งขันเข้มข้นเท่ากับจีน จีนออกนโยบายเชื่อมต่อการค้าทั่วโลกที่หลากหลาย สหรัฐจึงกังวลว่าอิทธิพลจีนจะแพร่ซ่าน มีกำลังและพรรคพวกมากกว่าสหรัฐ

 

“ทุกการกระทำของสหรัฐมีความกังวลกับจีนทุกด้าน ดังนั้น จีนต้องทำใจ เพราะที่ผ่านมาการใช้เทคโนโลยีของสหรัฐและตะวันตก ใช้ของตัวเองน้อย ขี่หลังประเทศตะวันตกเยอะ ต่อจากนี้ไปต้องอาศัยเทคโนโลยีของตัวเองและพัฒนาให้มากขึ้น จากเดิมวิ่งแบบเร็ว จึงมองว่าจีนจะเดินเร็วอย่างมั่นคง จึงลดเป้าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ลงและวางแผนเศรษฐกิจระยะยาวแทน”

 

ขณะนี้จีนกับไต้หวันยังถือว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จีนเป็นประเทศที่ความสัมพันธ์มาจากการค้าขาย ไม่ไปบุกประเทศและยึดเป็นเมืองขึ้นหากไม่พอใจจะลดการค้าขาย แต่สหรัฐใช้วิธีวางฐานทัพ ซึ่งการที่จีนทำการค้ากับรัสเซีย การเชื่อมโยงเศรษฐกิจส่งผลให้จีนเข้มแข็งขึ้นเช่นกัน แต่สหรัฐ ก็เตือนจีนไม่ให้ส่งอาวุธให้รัสเซียถือเป็นการเตือนว่าอย่าล้ำเส้น ในแง่จีนเองยังรักษาสัมพันธภาพการค้ากับยุโรป และหากจีนส่งอาวุธร้ายแรงจะเสียหาย จะให้ไม่ช่วยรัสเซียเลยคงเป็นไปไม่ได้

นอกจากนี้ หากจีนจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจจะต้องมีทั้งน้ำมัน อาหาร และแร่ธาตุต่าง ๆ เพื่อทำให้กระบวนการไม่สะดุด ดังนั้น มองว่าหากจะสู้รบในปี 2025 ดังกระแสข่าวก็จะเป็นลักษณะสงความตัวแทน การค้าจะเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ จีนค่อนข้างไม่หลวมตัวที่จะเข้าไปต่อสู้ระยะเวลานี้ 

อีกทั้งการประชุมสภาจีนได้ประกาศงบประมาณเพิ่มขึ้น 7% ถือว่ามากกว่า GDP ปีนี้ การจะก้าวขึ้นผู้นำต้องมีแสนยานุภาพ ขณะนี้ จีนยังห่างกว่าทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีและเงิน ดังนั้น จีนต้องเร่งสะสม สร้างอาวุธ วัตถุอุปกรณ์ เรือ เครื่องบิน ซึ่งแนวโน้มการใช้งบประมาณสร้างจะสูงกว่านี้อีกมาก

ทั้งนี้ จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจะเห็นได้ว่ายอดส่งออกของจีนในเดือน ก.พ.-มี.ค.2566 ลดลง โดยแสดงให้เห็นว่าการนำเข้าประเทศตะวันตกลดลง เพราะเศรษฐกิจยุโรปเมื่อเกิดโควิดได้ทุ่มเงินแจกชาวบ้าน เกิดเงินเฟ้อ และตอนนี้พยายามดึงเงินกลับ ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก และตอนนี้จีนเองก็มีปัญหาภายใน คือ ตลาดล้นจีนต้องพยายามประคับประคอง เมื่อเศรษฐกิจโลกตอนนี้ชะลอตัว

ส่วนประเทศไทยยอดส่งออกต้องลดลงแน่นอน และพรรคการเมืองหากจะวางนโยบายเศรษฐกิจข้างหน้าต้องมองว่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แล้วประเทศไทยจะปรับตัวอย่างไร รวมถึงประชาชนด้วย 

ดังนั้น จึงต้องดูว่าพรรคไหนมีแผนแก้ปัญหาและน่าเชื่อถือที่สุด ดังนั้น คงจะต้องดูแนวทางผู้นำประเทศที่จะมาเป็นรัฐบาลต่อจากนี้ เพราะหากมองในแง่ร้าย ถ้าเดินหน้าโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จัทร์โอชา โดยอาศัยข้าราชการคิดแต่ในกรอบก็จะไปข้างหน้าไม่ได้ จึงต้องรอพรรคที่คิดนอกกรอบและมีแนวโน้มการแก้ปัญหาอีกที