ส่องผลงานพญานาค 1 เฉลิมชัย รมว.กระทรวงเกษตร 4 ปี 5 ยุทธศาสตร์ 15 นโยบาย
เกษตรกรเป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคมไทย ต้องการผู้นำที่มีความสามารถ ด้วยเพราะสถานภาพทั่วไปยังจัดอยู่ในกลุ่มผู้ยากจนและมีภาระหนี้สิน ผลงาน 4 ปี ภายใต้การดูแลของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จะมากน้อยเพียงใด คงต้องพิจารณาตามยุทธศาสตร์ ที่ประกาศเอาไว้
นายเฉลิมชัย ได้เข้าดำรงตำแหน่งในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ วันที่ 10 ก.ค. 2562 ได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อน ใน 5 ยุทธศาสตร์ คือ ตลาดนำการผลิต เทคโนโลยีเกษตร 4.0 บริหารเชิงรุกแบบบูรณาการโมเดล “เกษตร-พาณิชย์ทันสมัย” เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา และ 3’S คือ Safety ความปลอดภัยของอาหาร Security ความมั่นคงของภาคการเกษตรและอาหาร และ Sustainability ความยั่งยืนของภาคการเกษตร การดำเนินการผ่าน 15 นโยบายมุ่งสู่เป้าหมาย ประกอบด้วย
1.ด้าน ตลาดนำการผลิต กระทรวงเกษตรฯได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ในการหาข้อมูลด้านการตลาดสินค้าเกษตรและผลิตสินค้าที่ตรงกับความต้องการ ผ่านระบบแปลงใหญ่ ที่สามารถควบคุมคุณภาพและปริมาณได้ อีกทั้งยังง่ายต่อการส่งเสริมทั้งเครื่องจักร ปัจจัยการผลิต รวมถึงเทคโนโลยีทางการเกษตร แนวทางนี้ยังส่งผลให้มีเกษตรกรรุ่นใหม่เกิดขึ้นรวมว่า 2 หมื่นราย โดยได้การสนับสนุนการทำงานของเครือข่าย Young Smart Farmer ที่ได้จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ ศบพ. จังหวัดละ 1 ศบพ. รวม 77 ศบพ. ทั่วประเทศ ในการเชื่อมโยงหน่วยงานภาคี ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และสถาบันการเงิน ร่วมกันพัฒนาและยกระดับเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการเกษตร
สินค้าที่ผลิตได้ กระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนให้จำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ผ่าน Mobile Application เพื่อเป็นอีกทางเลือกของเกษตรกรในการจำหน่ายผลผลิต โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง และสามารถซื้อขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งร่วมมือกับShopee Lazada เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงของกลุ่มผู้บริโภคด้วย ในขณะที่ยังส่งเสริมตลาดออฟไลน์ ได้จับมือกับกลุ่ม Modern Trade จัด คาราวานสินค้า สร้างเกษตรพันธสัญญาและเคาน์เตอร์เทรด และจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจผู้ซื้อกับผู้ขายทั้งในและต่างประเทศ
2. ด้านความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก เป็นส่วนที่สืบเนื่องมาจากการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรในรูปของแปลงใหญ่ ดังกล่าว ซึ่งมีกรมหม่อนไหม และกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก จะดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้และมอบปัจจัยสนับสนุน ตามความต้องการของเกษตรกรแต่ละกลุ่ม เป้าหมายกลุ่มเกษตรกร 559 กลุ่ม 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง รวมกลุ่มกันผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น พึ่งพาตนเองได้ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งเป็น กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม 20 กลุ่ม กลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร 154 กลุ่ม กลุ่มยุวเกษตรกร 154 กลุ่ม และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร 231 กลุ่ม
พบว่า สามารถดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพกลุ่มเกษตรกรได้จำนวน 98 กลุ่ม (ร้อยละ 18 ของเป้าหมาย 559 กลุ่ม) โดยส่งเสริมความเข้มแข็งกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จำนวน 6 กลุ่ม (ร้อยละ 30 ของเป้าหมาย) ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ตามความต้องการของกลุ่ม อาทิ การวางแผนการผลิต การแปรรูป การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การทอผ้าและการตลาด กลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร จำนวน 32 กลุ่ม (ร้อยละ 21 ของเป้าหมาย) ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ เช่น
การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ทักษะการบริหารจัดการธุรกิจเกษตร การจัดทำบัญชี การจัดทำแผนธุรกิจ และการตลาด กลุ่มยุวเกษตรกร จำนวน 25 กลุ่ม (ร้อยละ 16 ของเป้าหมาย) ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่อง การบริหารจัดการกลุ่ม การบริหารทุนและทรัพยากร การพัฒนาความรู้และความสามารถของสมาชิก กระบวนการพัฒนาสินค้าและบริการ และสาธารณประโยชน์/การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร จำนวน 35 กลุ่ม (ร้อยละ 15 ของเป้าหมาย) ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่อง กระบวนการผลิตอาหารปลอดภัย การป้องกันกำจัดศัตรูพืช การวิเคราะห์ศักยภาพกลุ่ม การจัดทำแผนการผลิตรายบุคคล/กลุ่ม เพื่อการถนอมและแปรรูปอาหารเพื่อบริโภคและเพิ่มรายได้
“นอกจากการอบรมถ่ายทอดความรู้ ให้กับกลุ่มเกษตรกรแล้ว หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการสนับสนุนปัจจัยการผลิตตามความต้องการของเกษตรกรในแต่ละกลุ่มอย่างต่อเนื่อง เช่น วัสดุอุปกรณ์เลี้ยงไหม สาวไหม ทอผ้า วัสดุอุปกรณ์สำหรับปลูกหม่อน แปรรูปผลิตภัณฑ์ ปัจจัยการผลิต เมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ย จอบ เสียม ปูนขาว และ ฝืม เป็นต้น เพื่อให้สมาชิกกลุ่มเกษตรกรได้นำไปใช้ในการผลิตสินค้า ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม และของตนเอง ตลอดจนใช้ในการบริหารจัดการกลุ่ม เพื่อให้เกิดรายได้ กับเกษตรกรและครอบครัว
3.ด้านการส่งเสริมสถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ และ Start up กระทรวงเกษตรฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนด้านการเกษตร โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และส่งเสริมให้เกษตรกรมีสมรรถนะ ความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้ได้รับการรับรองความรู้ตามมาตรฐานอาชีพ ซึ่งคุณวุฒิวิชาชีพที่เกษตรกรได้รับจะช่วยสร้างโอกาสให้เกษตรกรได้ในระยะต่อไป
นอกจากนี้หน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรยังลงนามบันทึกข้อตกลงกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างความไว้วางใจ ความร่วมมือระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการ ยกระดับคุณภาพผลผลิต เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ สนับสนุนด้านเทคโนโลยีทางการเกษตร
4. ด้านการส่งเสริมเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) เพื่อสร้างความไว้วางใจและความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพการผลิตอย่างยั่งยืน ระหว่างเกษตรกรกับ ผู้ประกอบการ และร่วมกันยกระดับคุณภาพผลผลิต และแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด โดยกระทรวงเกษตรได้ส่งเสริมผ่านระบบแปลงใหญ่
5. ด้าน การพัฒนาศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) กระทรวงเกษตรฯได้ “ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center หรือ AIC)” โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการจัดตั้งศูนย์ AIC 69 สถาบัน 83 แห่ง 77 จังหวัด เน้นให้จังหวัดเป็นผู้บริหารจัดการด้วยตนเอง สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และระดมพลังจากทุกภาคส่วนภายในจังหวัด ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและความเจริญอย่างยั่งยืน
6.ด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) ได้กำหนดแผนแม่บทระบบโลจิสติกส์ โดยใช้เป็นแนวทางการพัฒนาครอบคลุมเชื่อมโยงกับสถานการณ์และแนวโน้มการพัฒนาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสอดคล้องกับ ทิศทางการพัฒนาประเทศและบริบทการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ เป้าหมายเพื่อ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ตลอดโซ่อุปทาน ส่งเสริมให้สถาบันเกษตรกรเป็นกลไกหลักเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการตลอดโซ่อุปทาน และ เพิ่มขีดความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจการเกษตรให้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกรและ ผู้ประกอบการ
7.ด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ได้มีการกระจายน้ำอย่างเหมาะสมและทั่วถึง พัฒนาแหล่งน้ำในไร่นาของเกษตรกรและชุมชน เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำเพียงพอ
8.ด้านการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม กระทรวงเกษตรฯสนับสนุนการรวมแปลงใหญ่ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินได้ตรงตามศักยภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด กำหนดเขตความเหมาะสมในการทำการเกษตรในแต่ละพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพ ในการผลิตสูงสุดผ่านข้อมูล Agri-Map
9.ด้านการส่งเสริมศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ถือว่าเป็นเรื่องที่ประสบผลสำเร็จในการ บ่มเพาะเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ให้บริการทางวิชาการและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในพื้นที่แก่เกษตรกร มีเกษตรกรต้นแบบเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาและพัฒนาการเกษตรในพื้นที่
10.ด้านการประกันภัยพืชผล สศก.ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ กับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการประกันภัยการเกษตร เพื่อขยายขอบเขตของการประกันภัยในปัจจุบันไปสู่สินค้าเกษตรชนิดอื่น ๆ ในการช่วยเหลือ ดูแล และคุ้มครองเกษตรกรไทย นอกเหนือไปจากข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตามนโยบายของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจ พืชรอง หรือสินค้าเกษตรที่มีอนาคตทางการตลาดสูง รวมถึงต่อยอดกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าเกษตรที่เอกชนเป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว (ทุเรียน ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ต้นไม้ โคเนื้อ และโคนม รวมไปถึงกัญชาในอนาคต) ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพทางรายได้และความมั่นคงในอาชีพให้แก่เกษตรกร และให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างทันท่วงที
11.ด้านการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน กระทรวงเกษตรส่งเสริมให้ การลด ละ เลิก การใช้สารเคมี เพื่อ พัฒนาอาหารของไทยให้เป็นรูปแบบอาหารที่ปลอดภัย ตอบสนองต่อความต้องการสินค้าเกษตรปลอดภัยใน โรงเรียน โรงแรม โรงพยาบาล เรือนจำ ร้านอาหาร
12.ด้าน การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน กระทรวงเกษตรส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น สร้างแบรนด์ให้กับสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าจากความหลากหลายทางชีวภาพ
13.ด้านการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้ส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีทางการเกษตรมาใช้ผ่านโครงการแปลงใหญ่ เพื่อตอบสนองการพัฒนาภาคเกษตรของประเทศไทยบนพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิด ประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร และผู้บริโภค
14.ด้านการพัฒนาฐานข้อมูล Big Data สศก. ได้บูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดการและเชื่อมโยงในระดับแปลง เกษตรกร และพื้นที่ มีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมในทุกระดับ โดยสร้าง Platform เก็บข้อมูลที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น เช่น การใช้ Mobile Technology เพื่อให้ได้ฐานข้อมูล Big Data ภาคเกษตรที่แม่นยำ รวดเร็ว ต่อเนื่องในทุกฤดูปลูก นอกจากนี้ ยังมี Web Tool และ Mobile Application ในการประมวลผลข้อมูลจาก Big Data เพื่อวางแผนเชิงพื้นที่ วางนโยบาย และเผยแพร่สู่ทุกภาคส่วนอย่างเข้าใจง่าย
ปัจจุบัน สศก. ได้พัฒนาระบบและจัดทำเป็นฐานข้อมูลด้านการเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร เปิดบริการ Open Data ให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้สนใจ ใช้ข้อมูลในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ผ่านเว็บไซด์ nabc-catalog.oae.go.th รวบรวมชุดข้อมูล กว่า 734 ชุด จาก 90 หน่วยงาน โดยจัดแบ่งกลุ่มข้อมูล 17 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มข้อมูลด้านแผนงาน/งบประมาณ กลุ่มข้อมูลด้านเกษตรกร/สถาบันเกษตรกร กลุ่มข้อมูลด้านดินและที่ดิน กลุ่มข้อมูลด้านแหล่งน้ำและการชลประทาน กลุ่มข้อมูลด้านภัยธรรมชาติ กลุ่มข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มข้อมูลด้านการเพาะปลูกพืช
กลุ่มข้อมูลด้านการทำปศุสัตว์ กลุ่มข้อมูลด้านการทำประมง กลุ่มข้อมูลด้านสินเชื่อและแหล่งเงินทุน กลุ่มข้อมูลด้านเศรษฐกิจและการตลาด กลุ่มข้อมูลด้านโลจิสติกส์ การขนส่ง และแหล่งรับซื้อ กลุ่มข้อมูลด้านราคา กลุ่มข้อมูลด้านกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานการผลิตและสินค้าเกษตร กลุ่มข้อมูลด้านงานวิจัยและองค์ความรู้ กลุ่มข้อมูลด้านปัจจัยการผลิต และ กลุ่มข้อมูลด้านแผนที่และข้อมูลเชิงแผนที่ ซึ่งช่วยให้เกษตรกรมีข้อมูลที่ดี เพียงพอต่อการตัดสินใจที่ถูกต้องเหมาะสมเพื่อการผลิต
และ 15 .ด้านการประกันรายได้ของเกษตรกร ผู้ปลูก ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมันและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นโครงการที่สร้างความมั่นคงของรายได้ให้กับเกษตรกร โดยเป็นหลักประกันรายได้ขั้นต่ำในการประกอบอาชีพการเกษตร สร้างความมั่นคงด้านอาหาร รักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร