‘สุพัฒนพงษ์’มั่นใจแบงก์ล้มในสหรัฐฯ ไม่ซ้ำรอยวิกฤติ ‘เลห์แมน บราเธอร์ส’
“สุพัฒนพงษ์” ยันวิกฤติแบงก์ล้มในสหรัฐฯไม่ซ้ำรอยวิกฤติ ‘เลห์แมน บราเธอร์ส’ ปี 2008 ชี้ ธปท.-คลังจับตาใกล้ชิด มองเป็นผลกระทบเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพ - อุตสาหกรรมเทคโนโลยี มั่นใจระบบการเงินไทยแข็งแกร่งรับมือได้
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่าถึงกรณี ธนาคารซิลลิกอนวัลเลย์ (SVB Bank) และธนาคารอีก 2 แห่งถูกสั่งปิดกิจการในสหรัฐฯว่าจากข้อมูลที่มีอยู่และการติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมั่นใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะไม่ลามเป็นวิกฤติการเงินทั่วโลกเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับกรณี เลห์แมน บราเธอร์ส ในปี 2008 อย่างไรก็ตามขณะนี้กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธ.ป.ท.) ได้ติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดเชื่อว่าผลกระทบจะไม่มาถึงประเทศไทย
ทั้งนี้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ SVB ถือว่าเป็นปัญหาเฉพาะของการดำเนินกิจการธนาคารที่มีการปล่อยกู้ให้กับลูกค้าที่เป็นสตาร์ทอัพซึ่งเชื่อว่าผลกระทบจะอยู่ในวงจำกัด และธนาคาร SVB ก็ถือว่ามีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นๆ ซึ่งในกรณีนี้ก็ต้องดูต่อไปอีกนิดว่าจะไปเกี่ยวกับธุรกิจอื่นๆหรือไม่ถ้ามีการเข้าไปแก้ไขได้ก็ไม่น่าวิตก
เมื่อถามว่าวิกฤติครั้งนี้จะเกิดขึ้นซ้ำรอยกับกรณีที่เกิดกับ เลห์แมน บราเธอร์ส ในปี 2008 หรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ผลกระทบคงไม่มากขนาดนั้นเพราะในปี 2008 สิ่งที่เกิดคือเกิดจากหนี้เสียในการปล่อยกู้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ทำให้เกิดวิกฤติลามไปสู่ภาคส่วนอื่นๆซึ่งในขณะนี้ยังไม่ได้มีสัญญาณว่าจะลุกลามไปมากขนาดนั้น
"วิกฤติ Lehman Brothers” ในข้อมูลที่ผมมีคงไม่ถึงขนาดนั้น แต่ต้องดูขอมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เขาตามเรื่องนี้เป็นประจำอยู่แล้ว เพราะเรื่องนี้ทยอยเกิดจากกลุ่มเล็กๆ ในกลุ่มสตาร์ตอัพ เช่น คาเรล ก็เป็นพวกสตาร์ตอัพ แต่เราไม่รู้ความตื้นลึกหนาบาบงแค่ไหน ส่วน Lehman Brothers เป็นเรื่องของหนี้เสียภาคอสังหาริมทรัพย์ และลามไปถึงธนาคารขนาดใหญ่รวมไปถึงทุกธนาคารเลยเนื่องจากวงเงินสูงมาก แต่วิกฤติSBV นั้น รัฐบาลสหรัฐฯเข้าไปแก้ปัญหาเพราะ กลัวว่าจะไปกระทบ เซคเตอร์ เทคคอมพานี เดี๋ยวจะเป็นเรื่องได้เหมือนกัน ซึ่งจะมองเป็นลักษณะของกลุ่มอุตสาหกรรมมากกว่าที่จะกระจายในวงกว้าง" นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว