‘คีรี’ ยันไม่เคยฮั้วประมูล จี้ ป.ป.ช.เปิดหลักฐาน พร้อมทวงหนี้ 5 หมื่นล้าน
“คีรี” ยืนยันไม่เคยฮั้วประมูล พร้อมชี้แจงข้อมูลสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ไม่เข้าข่ายใช้ พรบ.ร่วมทุน มั่นใจเป็นกระบวนการกลั่นแกล้ง ลุยสู้หาความจริง พร้อมประกาศไม่หยุดเดินรถ จี้รัฐเร่งจ่ายหนี้ 5 หมื่นล้านบาท
Key Points
- ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯ กทม.และพวกรวม 13 คน
- 'คีรี กาญจนพาสน์' ออกมาแถลงยืนยันการทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกต้อง
- ที่ผ่านมาณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความไว้ว่าการจ้างเดินรถไม่ใช่การต่อสัมปทานสายสีเขียว
- ยืนยันว่ารถไฟฟ้า BTS จะไม่หยุดเดินรถไฟฟ้าแม้ว่ากรุงเทพมหานครจะค้างค่าจ้างเกือบ 50,000 ล้านบาท
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS เปิดเผยว่า จากข่าวที่ปรากฎในสื่อมวลชนประเด็นข้อกล่าวหาของคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งปรากฏชื่อผมและบริษัทฯ ในความผิดสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบและความผิดฮั้วประมูล โดยในเนื้อข่าวมีการนำเสนอภาพเอกสารราชการของ ป.ป.ช.และอ้างว่ามาจากแหล่งข่าวระดับสูงของ ป.ป.ช.
โดยคดีที่อยู่กับ ป.ป.ช. ส่วนตัวนั้นไม่ทราบเรื่อง เพราะ ป.ป.ช.ไม่เคยแจ้ง หรือเรียกไปให้ข้อมูล จนกระทั่งในช่วงเวลาที่บีทีเอสได้แสดงตัวต่อสู้กับเรื่องการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ไม่ถูกต้อง
"วันนี้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่า ร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา ฝ่ายกฎหมายอ่านตั้งแต่บรรทัดแรกจนบรรทัดสุดท้าย ต้องเรียนว่า เรายังไม่ทราบเลยว่า เราไปร่วมกระทำความผิดกับใคร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร"
ทั้งนี้ จึงอยากให้ทุกท่านเห็นภาพการต่อสู้และผลของการต่อสู้กับความไม่ถูกต้องซึ่งได้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาหลายสิบปี เป็นนักธุรกิจเป็นนักลงทุน ซึ่งกำไรที่ผมได้รับมาไม่ได้เอาเปรียบประเทศ และได้ตอบแทนคืนสู่ประเทศและสังคม
"ผมประมูลต่อสู้ด้วยตัวเลขที่แฟร์ๆ ไม่มีการฮั้วกับใคร เรื่องนี้มันมีขบวนการที่ต้องการให้บีทีเอสได้รับความเสียหายถึงขนาดให้ล้มละลายเลย"
นายคีรี กล่าวว่า แม้ว่าบีทีเอสจะถูกกลั่นแกล้งอย่างไร แต่ขอให้ประชาชนและผู้ถือหุ้นเชื่อมั่นว่าบีทีเอสยังเข้มแข็งกระแสเงินสดในมือยังมีเพียงพอ และจะไม่หยุดเดินรถเพื่อให้กระทบกับการบริการประชาชน สิ่งเหล่านี้ไม่ทำให้บีทีเอสอ่อนแอ แต่หากสักวันมีปัญหาเกิดขึ้น ถึงวันนั้นผู้ว่า กทม.และรัฐบาลก็คงต้องรับผิดชอบ เพราะบีทีเอสยืนยันแล้วว่าจะไม่หยุดเดินรถ ไม่มีบริษัทไหนในโลกที่รัฐบาลติดหนี้ถึง 5 หมื่นล้านบาท แต่บริษัทก็ยังทำงานต่อไป ถึงแม้ต้องกู้เงินก็ล้มไม่ได้ เพราะผู้ถือหุ้นเข้าใจ ทุกครั้งที่ยื่นขอกู้ก็อนุมัติด้วยความเชื่อมั่นใจ
“ผมว่าเรื่องพวกนี้ส่วนตัวกล้าพูด มันเริ่มมาจากที่ผมไปประมูลสายสีส้ม เกิดการเปลี่ยนทีโออาร์กลางอากาศ หลังจากนั้นนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ก็เริ่มแย้งมาตลอด เรื่องการใช้ ม.44 ในการต่อสัมปทาน แต่วันนี้ผมต้องการแค่เอาเงินมาวันนี้หนี้ท่วมไป 5 หมื่นล้านบาทแล้ว คงอยากทำให้บีทีเอสอ่อนแอ แต่ผิดคนแล้ว ผมยืนยันว่าเราจะไม่หยุดเดินรถ จะอยู่แบบนี้ เพราะคุณกำลังทำลายความสะดวกของคนในกรุงเทพ ผมยืนยันว่ายังไหวอยู่ เว้นแต่ว่ารัฐบาลจะใช้วิธีสกปรกกว่านี้
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC กล่าวว่า ข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.นั้น เป็นการกล่าวหาในเรื่องกระทำการทุจริตในสัญญาการให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการทั้งหมด 3 เส้นทาง ได้แก่
ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง, สายสีลม สถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ และการต่อสัญญาว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปอีก 13 ปี เพื่อให้ทั้ง 3 เส้นทางไปสิ้นสุดพร้อมกันในปี 2585
โดยกรณีที่เกิดขึ้นยังคงเป็นเพียงการแจ้งข้อกล่าวหาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เท่านั้น และบีทีเอสยังไม่ถูกฟ้องร้องหรือดำเนินคดีแต่อย่างใด และมีสิทธิที่จะคัดค้านเพื่อแก้ไขข้อกล่าวหาตามกระบวนการของกฎหมาย และทางบริษัทฯยินดีให้ความร่วมมือตามกระบวนการทางกฎหมายทุกขั้นตอน ซึ่งบริษัทฯ ยืนยันว่าการทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และปราศจากการฮั้วประมูลใดๆ
สำหรับที่มาของการทำสัญญาจ้างเดินรถ เริ่มต้นจากที่ประชุม ครม.เมื่อ 26 ธ.ค.2543 กทม.เสนอต้องการร่วมทุนพัฒนาส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมติที่ประชุม ครม.ให้ไปเปิดประมูล โดยให้เหมือนโครงการเดิม คือ ให้เอกชนลงทุน 100% กทม.จึงมาเชิญบีทีเอสไปทำข้อเสนอ แต่บีทีเอสยืนยันว่าลงทุน 100% ทำไม่ได้ ถ้าจะให้ทำก็ขอรับเงินอุดหนุนโครงสร้างโยธา แต่คณะกรรมการคัดเลือกในขณะนั้นให้ข้อเสนอนี้ไม่ได้ เพราะมองว่าขัดกับมติครม. จึงยุติการจัดทำ พรบ.ร่วมทุน
หลังจากนั้น กทม.จึงดำเนินการลงทุนพัฒนาส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวเอง และเมื่อแล้วเสร็จต้องเปิดเดินรถ จึงมีการไปหารือกับสำนักงานกฤษฎีกา ซึ่งชี้ว่าหากจะจ้างเดินรถไม่เข้าข่าย พรบ.ร่วมทุน จึงไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนพรบ.ร่วมทุน และมีการเริ่มขั้นตอนว่าจ้างบีทีเอสตามขั้นตอนทางกฎหมายของ กทม.เอง ซึ่งมีการจ้างเดินรถทั้งในส่วนต่อขยาย และเส้นทางหลัก ช่วงสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ที่จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 หลังจากหมดสัญญาจะเป็นการจ้างเดินรถ
นายสุรพงษ์ ยังเปิดเผยด้วยว่า ปัจจุบันภาระหนี้สินคงค้างจากสัญญาจ้างเดินรถ ณ สิ้นเดือน ก.พ.2566 มีรวมประมาณ5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า) และช่วงที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) จำนวน 2.7 หมื่นล้านบาท และค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า/เครื่องกล รวมกว่า 2.28 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้ข้อพิพาทที่บีทีเอสได้ยื่นฟ้องเรียกเก็บหนี้สินดังกล่าวศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วว่าเป็นหนี้ที่ถูกต้อง และ กทม.ต้องชำระร่วมกับบริษัทกรุงเทพธนาคม
อย่างไรก็ดี บริษัทยืนยันว่าสถานะทางการเงินขณะนี้ยังเข้มแข็ง เพราะแม้จะไม่ได้รับรายได้จากการรับจ้างเดินรถ แต่ในปีนี้บริษัทจะมีรายได้จากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู ที่จะทยอยเปิดบริการอย่างเป็นทางการในเดือน มิ.ย.นี้ โดยจะมีรายได้เข้ามาจากค่าโดยสารและเชิงพาณิชย์รถไฟฟ้าทั้งสองโครงการรวมเฉลี่ยปีละ2 พันล้านบาท ดังนั้นหากเปิดให้บริการในกลางปีนี้ คาดว่าจะสร้างรายได้รวม 1 พันล้านบาท อีกทั้งจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐส่วนของงานโยธา 4.7 พันล้านบาท โดยรัฐมีกำหนดจ่ายให้เป็นระยะเวลา 10 ปี
พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าขณะนี้ทีมกฎหมายของบีทีเอสกำลังทำหนังสือขอรายละเอียดถึง ป.ป.ช.เพิ่มเติมเกี่ยวกับระเบียบตามกฎหมายของป.ป.ช.ในกรณีที่แจ้งข้อกล่าวหา เพราะต้องการทราบถึงสำคัญและพฤติการณ์แห่งคดีว่าบริษัทกระทำผิดอย่างไรบ้างรวมทั้งในการกล่าวหานั้นมีพยานหลักฐานหรือไม่ เพื่อที่บริษัทจะได้ต่อสู้ทางคดีต่อไป
อีกทั้งคงต้องถามว่าข้อมูลของ ป.ป.ช.หลุดออกมายังสื่อมวลชนได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ เป็นข้อมูลในสำนวน แม้กระทั่งหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาที่ส่งมายังบีทีเอสยังตีตรา “ลับ” แล้วสื่อเอาข้อมูลในสำนวนออกมาเปิดเผยได้อย่างไร แสดงให้เห็นว่า มันมีขบวนการจ้องทำลายบีทีเอสอยู่จริง แล้วเรื่องแบบนี้ ป.ป.ช.ช่วยตอบหน่อยว่า เอกสารของ ป.ป.ช.เอามามอบให้สื่อเพื่ออะไร ต้องการอะไร เพราะผลกระทบเกิดขึ้นแล้วจากราคาหุ้นบีทีเอสร่วงลงติดฟลอร์ คงต้องถามว่าต้องการให้เกิดเรื่องแบบนี้ใช่หรือไม่ และเรื่องนี้ต้องมีคนรับผิดชอบ
“การใช้ยุทธวิธีแบบนี้มันสกปรกหรือไม่ ประธาน ป.ป.ช.ต้องหาคนปล่อยข้อมูลนี้ออกมาว่า เป็นใคร มีจุดประสงค์อะไร มิเช่นนั้นผมไม่สามารถเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของท่านได้ ตอนนี้คงต้องสอบถามความชัดเจนการกระทำผิดที่ท่านกล่าวหาว่า ไปทำผิดอะไร ที่ไหน เมื่อไร กับใคร ช่วยบอกหน่อย และเรื่องนี้หากเป็นการกล่าวหาที่ไม่มีข้อมูล เราฟ้องกลับแน่นอน”