สมาคมไข่ไก่ฯ เร่งกรมปศุสัตว์ส่งไข่ไก่ช่วยไต้หวัน
สมาคมไข่ไก่ ขานรับ กรมปศุสัตว์เปิดตลาดไข่ไก่ไต้หวัน คว้าโอกาสไข้หวัดนกระบาด เร่งส่งออก หนุนภาพลักษณ์ความมั่นคงด้านอาหารไทย
นายมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ กล่าวว่า สมาคมฯ ยินดีให้การสนับสนุน กรมปศุสัตว์และสำนักงานพาณิชย์ไทเป ในการส่งไข่ไก่ไปช่วยไต้หวันเป็นการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลน ตามที่ได้ตกลงความร่วมมือกับผู้แทนสำนักงานการค้าและวัฒนธรรมไต้หวันประจำประเทศไทยและผู้แทนสำนักตรวจสอบและกักกันพืชและสัตว์แห่งไต้หวัน
“การที่ไทยช่วยแก้ปัญหาไข่ไก่ขาดแคลนในไต้หวันครั้งนี้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของสินค้าเกษตรและอาหารไทยในฐานะประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหารมุ่งส่งเสริมการเข้าถึงอาหารของผู้บริโภคอย่างทั่วถึง” นายมงคล กล่าว
นายมงคล กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีมาตรการป้องกันโรคไข้หวัดนกที่เข้มงวดตามหลักการขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ส่งผลให้ไทยไม่มีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในอุตสาหกรรมสัตว์ปีกและไข่มานานกว่า 15 ปี และยังช่วยแก้ปัญหาให้กับประเทศคู่ค้าที่ประสบปัญหาจากโรคดังกล่าว
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้หารือร่วมกับนายอิแซค เฉิง-ชาง เซีย ผู้อำนวยการส่วนนโยบาย สำนักงานการค้าและวัฒนธรรมไต้หวันประจำประเทศไทยและนายชิง ซอง เฉิง ผู้เชี่ยวชาญสำนักตรวจสอบและกักกันพืชและสัตว์แห่งไต้หวัน (BAPHIQ) พร้อมคณะ เพื่อกำหนดแนวทางการเปิดตลาดไข่สดไปยังไต้หวัน โดยพิจารณาเงื่อนไขการส่งออก รูปแบบของหนังสือรับรอง ตลอดจนวิธีการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
โดยเห็นชอบร่วมกันและนำไปสู่การที่ไต้หวันอนุมัติให้มีการนำเข้าไข่ไก่สดจากประเทศไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยื่นขออนุญาตส่งออกได้ทันที ตามความต้องการไข่ไก่สดจากไทย ในเดือนมีนาคม 2566 ส่งออกได้ประมาณ 5 - 8 ล้านฟอง และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไต้หวันมีความต้องการบริโภคประมาณ 20 ล้านฟองต่อวัน
ผลสำเร็จจากการเปิดเจรจาเปิดตลาดนี้เป็นไปตามนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลกอย่างปลอดภัยและยั่งยืน” ของดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้ขับเคลื่อนปฏิรูประบบอาหารและเกษตรสู่ความยั่งยืน สร้างความเชื่อมั่นสินค้าเกษตรและอาหารไทย
โดยมอบหมายให้กรมปศุสัตว์กำกับควบคุมดูแลการผลิตสินค้าปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่การผลิต ให้ได้คุณภาพมาตรฐานเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยอาหาร ตั้งแต่แหล่งที่มาของสัตว์จากฟาร์มมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) โรงฆ่าและโรงแปรรูปที่มีการปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดี (Good Hygiene Practices: GHPs) และระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (Hazard Analysis and Critical Control Points: HACCP) สอดคล้องตามข้อกำหนดของกฎหมายในประเทศ ตามระเบียบของประเทศคู่ค้าและตามหลักสากล
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ไต้หวันเลือกนำเข้าไข่สดจากไทยเป็นครั้งแรก นับเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ของประเทศไทยที่จะสามารถมีตลาดใหม่ๆ เพิ่มเติมจากเดิมที่ส่งออกไปยังฮ่องกงและสิงคโปร์เป็นหลัก
ในปี 2565 สามารถส่งออกไข่ไก่ได้ 282 ล้านฟอง มูลค่า 1,238 ล้านบาท ยอดการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านประสบปัญหาการขาดแคลนไข่ไก่สดเพราะการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก อีกทั้งต้นทุนการผลิตยังปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แต่ประเทศไทยโดยกรมปศุสัตว์มีมาตรการป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มงวด ส่งผลให้ไม่มีการแพร่ระบาดไข้หวัดนก ในประเทศไทยมากกว่า 15 ปี ซึ่งเป็นจุดแข็งของอุตสาหกรรมสัตว์ปีกและไข่ที่สามารถผลิตได้อย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย และเป็นที่เชื่อมั่นของประเทศคู่ค้า จากนี้ไปจะมีการเปิดตลาดของไข่สดอีกหลายประเทศเพื่อสร้างตลาดส่งออกใหม่ จะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถรักษาระดับการผลิตและการบริโภคให้ใกล้เคียงภาวะสมดุล