‘OECD’ ปฏิรูปภาษี บริษัทข้ามชาติเสีย 15% ‘ไทย’รับมือหวั่นกระทบแผนดึงลงทุน
กลุ่มประเทศ OECD รวมทั้งประเทศไทยได้มีความเห็นชอบร่วมกันในการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนทั่วโลก โดยไม่ให้มีการใช้มาตรการภาษีเป็นศูนย์ แต่ให้กำหนดขั้นต่ำ 15% เพื่อสร้างความเท่าเทียม ไทยกำลังอยู่ระหว่างมาตรการรองรับเพื่อไม่ให้กระทบดึงลงทุน
Key points
- ในปี 2560 OECD หารือเรื่องปฏิรูปการจัดเก็บภาษีเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลและการย้ายฐานการผลิต
- ข้อเสนอให้สมาชิกเก็บภาษีนิติบุคคลเท่ากันขั้นต่ำ 15% ทุกประเทศ
- OECD ระบุว่าเพื่อความเป็นธรรม และเพิ่มรายได้ในการพัฒนาประเทศ
- ประเทศไทยรับมติ OECD มาปฏิบัติคาดว่าจะมีการใช้ในปี 2566 - 2567
- ผู้แทนการค้าไทยเร่งศึกษาความต้องการของนักลงทุนหากต้องเสียภาษีนิติบุคลขั้นต่ำ 15% เมื่อมาลงทุนในไทย
- นักวิชาการนิด้าแนะว่าเพื่อรองรับมาตรการใหม่ไทยต้องเร่งทำ FTA เพิ่มตลาดส่งออก และชูจุดเด่นด้านอื่นๆเพื่อดึงการลงทุน
การแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงขึ้นในสถานการณ์ที่แต่ละประเทศพยายามดึงดูดการลงทุนผ่านมาตรการสนับสนุนต่างๆ ที่ผ่านมามาตรการในการยกเว้นภาษี โดยเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคลถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการส่งเสริมการลงทุนมาอย่างยาวนานในหลายประเทศ รวมทั้งในประเทศไทย
อย่างไรก็ตามองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ“OECD”ได้มีเริ่มมีการหารือกันถึงการกำหนดอัตราภาษีที่จัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดยกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำที่เป็นมาตรฐานทั่วโลกสำหรับนิติบุคคลในอัตราอย่างน้อย 15% โดยข้อเสนอนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือกันในการประชุม OECD ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส 2560
OECD ประเมินว่าการกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลเป็นมาตรฐานโลก จะช่วยสกัดกั้นธุรกิจข้ามชาติต่างๆ ที่มักอาศัยประโยชน์จากการโยกย้ายผลกำไรไปยังบริษัทในเครือซึ่งอยู่ในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่าหรือไม่ต้องเสียภาษี และจะเป็นผลให้บริษัทข้ามชาติเหล่านี้ต้องจ่ายภาษีนิติบุคคลในอัตราอย่างน้อย 15% ในประเทศซึ่งธุรกิจนั้นจดทะเบียนอยู่ เพื่อเป็นการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีจากประเทศต้นทาง และปลายทางที่บริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนแล้วได้รับการยกเว้นภาษีโดย OECD ประเมินว่าหากมีการกำหนดมาตรการนี้จะทำให้ประเทศสมาชิกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นได้อย่างน้อย 1.5 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีสามารถนำรายได้ส่วนนี้ไปใช้พัฒนาประเทศต่างๆได้มากขึ้น ทั้งนี้หากบริษัทต่างชาติไปลงทุนต่างประเทศแล้วเสียภาษีไม่ถึงเกณฑ์ประเทศต้นทางบริษัทแม่สามารถเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมได้
ประเทศไทยในฐานะสมาชิกในกรอบ Inclusive Framework on BEPS ของ OECDได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาผลกระทบของข้อเสนอรูปแบบการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลของ OECDที่ให้มีการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลเป็นมาตรฐานที่ 15% นอกจากนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2564 ได้รับทราบรายงานการประชุม “The 13th Inclusive Framework on BEPS”ว่าด้วยข้อเสนอจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลของ OECD มีกรอบการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล 2 แนวทางได้แก่
Pillar 1เป็นการกำหนดหลักการการจัดเก็บภาษีตามมาตรฐานสากลด้วยการเก็บภาษีตามสัดส่วนการปันกำไรของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่มายังประเทศแหล่งเงินได้ โดยกำหนดสัดส่วนของกำไรที่จะต้องแบ่งให้ประเทศที่ผู้ใช้งานอยู่ในการจัดเก็บภาษี โดยพิจารณาจุดเกาะเกี่ยวทางเศรษฐกิจจากยอดรายได้จากประเทศแหล่งเงินได้ซึ่งต้องมีรายได้อย่างน้อย 1 ล้านยูโร โดยแบ่งสัดส่วนการจัดเก็บภาษีไปยังประเทศผู้ใช้งาน 25% ของส่วนกำไรที่เกิน 10% ของรายได้ และขอบเขตการจัดเก็บภาษีนั้น โดยบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จะต้องมีรายได้รวมมากกว่า 20,000 ล้านยูโรและมีอัตรากำไรมากกว่า 10% ของรายได้
Pillar 2เป็นการกำหนดให้ธุรกิจมีการเสียภาษีขั้นต่ำอยู่ที่ 15% โดยหากมีการเสียภาษีในประเทศที่มีบริษัทในเครือไปทำธุรกิจในอัตราต่ำกว่าอัตราภาษีขั้นต่ำ ประเทศที่บริษัทแม่ตั้งอยู่สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มเติมจากส่วนต่างระหว่างอัตราภาษีที่เสียและอัตราภาษีขั้นต่ำ และขอบเขตการจัดเก็บภาษีนั้น บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จะต้องมีรายได้รวมตั้งแต่ 750 ล้านยูโรขึ้นไป
กระทรวงการคลังระบุว่าผลของการประชุมดังกล่าว ถือว่าเป็นการปฏิรูประบบภาษีโลกในยุคดิจิทัลที่มีความคืบหน้าและมีนัยสำคัญต่อประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนย้ายกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ(Tax Haven) สร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี รวมทั้งการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี และเพื่อป้องกันประเทศต่างๆดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ โดยการแข่งขันกันลดอัตราภาษี
ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและหัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ กล่าวว่าจากมาตรการปฏิรูปภาษีของ OECDในครั้งนี้เป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสของประเทศไทย โดยความเสี่ยงคือนักลงทุนต่างชาติที่ให้ความสำคัญกับการลดภาษีฯอาจตัดสินใจไม่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเนื่องจากสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีเท่ากัน
แต่ก็เชื่อว่านักลงทุนอีกจำนวนมากที่มองในภาพรวมว่าการมาลงทุนในประเทศไทยนอกจากสิทธิประโยชน์ด้านภาษีแล้วยังต้องการการอำนวยความสะดวกในด้านอื่นๆ และประเทศไทย ซึ่งมีข้อได้เปรียบประเทศอื่นๆในหลายด้าน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน โดยขณะนี้ทีมฯได้มสอบถามความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่องว่าหากในอนาคตไม่มีการลดภาษีฯในช่วงแรกเนื่องจากกติกาของ OECD ที่กำหนด นักลงทุนต้องการได้รับอะไรเพิ่มเติมจากการลงทุนในประเทศไทยบ้าง
นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)กล่าวว่ามาตรการปฏิรูปภาษีครั้งนี้ของOECD จะกระทบกับการดึงการลงทุนทางตรง (FDI) เข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้ เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยใช้มาตรการทางภาษีคือการยกเว้นภาษีนิติบุคคลให้กับบริษัทที่ต้องการดึงเข้ามาลงทุน หรือเข้ามาขอส่งเสริมการลงทุน เช่นเว้นภาษี 8 ปี หรือสูงสุด 13 ปี
แต่เมื่อกฎเรื่องการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลของ OECDเริ่มมีผลบังคับใช้จะทำให้มาตรการทางภาษีไม่จูงใจต่อการย้ายฐานการผลิต หรือเข้ามาลงทุนในประเทศที่มีการเว้นภาษีให้แต่อย่างใดเพราะต่อไปสมาชิกOECDทุกประเทศต้องกำหนดการเก็บภาษีนิติบุคคลที่ขั้นต่ำ15%ซึ่งอาจเริ่มอย่างช้าคือกลางปีหน้า
“เมื่อมีการเก็บภาษีขั้นต่ำ 15% ในทุกประเทศหากมีแต่มาตรการทางภาษีเขาอาจจะไม่เข้ามาลงทุนก็ได้ ไทยต้องเพิ่มจุดเด่นอื่นๆที่จะดึงดูดการลงทุน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องค่าแรงที่ถูกกว่าเพราะแบบนั้นเราก็แข่งไม่ได้เหมือนกัน รัฐบาลต้องสนับสนุนในส่วนอื่นๆเช่นการอำนวยความสะดวกเรื่องการลงทุน การเร่งทำข้อตกลง FTA กับประเทศต่างๆเพื่อขยายตลาดส่งออก หรือโปรโมทเรื่องต้นทุนในการเช่าสำนักงานธุรกิจของไทยที่มีต้นทุนที่ต่ำและแข่งขันได้เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค”นายมนตรี กล่าว