นบข.เห็นชอบประกันภัยนาข้าว 1.6 พันล้าน 22 ล้านไร่ รอคลัง ชง ครม.

นบข.เห็นชอบประกันภัยนาข้าว 1.6 พันล้าน 22 ล้านไร่ รอคลัง ชง ครม.

นบข.เห็นชอบประกันภัยนาข้าว 1.6 พันล้าน 22 ล้านไร่ รอคลังเสนอ ครม.เห็นชอบตามขั้นตอน ผู้ส่งออกข้าวมั่นใจส่งออกข้าวปีนี้ได้ 8 ล้านตัน ขอรัฐบาล - แบงก์ชาติช่วยแก้ปัญหาค่าเงินบาทผันผวนมากเกินไป ชี้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกข้าว ตัวแทนชาวนาหนุนนโยบายปรับปรุงพันธุ์ข้าว

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ว่ารัฐบาลมุ่งมั่นที่จะดูแลชาวนา มีหลายอย่างที่เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุทธศาสตร์ข้าว ซึ่งก็เดินหน้าไปตามนี้

หลายๆอย่างเป็นความเดือดร้อนของภาคเกษตรกร เราพยายามดูแลให้ดีที่สุดแล้วกัน แต่สิ่งสำคัญต้องพยายามปรับเปลี่ยนบ้างในอนาคต เพื่อไม่ให้เกิดปัญหามากมายในเรื่องของงบประมาณที่มีอยู่จำกัด แต่เราก็ยืนยันดูแลให้ดีที่สุด

สำหรับการประชุม นบข.ที่ประชุมฯเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2566 สำหรับพื้นที่เอาประกันภัย Tier 1 และพื้นที่ Tier 2 รวมจำนวนประมาณ 22 ล้านไร่ วงเงินงบประมาณ 1,647.43 ล้านบาท โดยมอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาลและเบิกเงินชดเชยจากรัฐบาลตามจำนวนที่จ่ายจริงรวมกับต้นทุนเงินในอัตราต้นทุนทางการเงินของ ธ.ก.ส. ประจำไตรมาสบวก 1 ต่อปี (ปัจจุบันเท่ากับ 1.83%) ในปีงบประมาณ 2567 โดยให้มีการปรับเปลี่ยนอัตราต้นทุนทางการเงินตามอัตราที่แท้จริงทุกไตรมาส โดยขั้นตอนต่อไปกระทรวงการคลังจะต้องเสนอขอความเห็นชอบโครงการนี้ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)

โดยอัตราค่าเบี้ยประกันภัย จำแนกเป็น 1.การรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) แบ่งเป็น 4 อัตรา (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษี มูลค่าเพิ่ม) ดังนี้ 1)เกษตรกรลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ธ.ก.ส. 115 บาทต่อไร่ เท่ากันในทุกพื้นที่ 2) เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่นำร่อง 70 บาทต่อไร่ 3)เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงปานกลาง 199 บาทต่อไร่ และ4)เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงสูง 218 บาทต่อไร่

2.การรับประกันภัยโดยภาคสมัครใจ (Tier 2) แบ่งเป็น 3 อัตรา เกษตรกรจ่ายเองพร้อมทั้งอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ดังนี้ 1) พื้นที่เสี่ยงต่ำ 27 บาทต่อไร่ 2)พื้นที่เสี่ยงปานกลาง 60 บาทต่อไร่ และ 3)พื้นที่เสี่ยงสูง 110 บาทต่อไร่

สำหรับวงเงินคุ้มครอง จำแนกเป็น 1.วงเงินคุ้มครองภัยธรรมชาติทั้งหมด 7 ภัย ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาว หรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ ช้างป่า

การรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) มีวงเงินความคุ้มครอง 1,190 บาทต่อไร่ และการรับประกันภัยโดยภาคสมัครใจ (Tier 2) มีวงเงินความคุ้มครอง 240 บาทต่อไร่ รวมวงเงินความคุ้มครอง Tier 1 และ Tier 2 จำนวน 1,430 บาทต่อไร่

2.วงเงินคุ้มครองภัยศัตรูพืชและโรคระบาด การรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) มีวงเงินความคุ้มครอง 595 บาทต่อไร่ และการรับประกันภัยโดยภาคสมัครใจ (Tier 2) มีวงเงินความคุ้มครอง 120 บาทต่อไร่ รวมวงเงินความคุ้มครอง Tier 1 และ Tier 2 จำนวน 715 บาทต่อไร่

สำหรับการอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยของ ธ.ก.ส. โดย ธ.ก.ส. อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 46 บาทต่อไร่ สำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีของ ธ.ก.ส. ที่ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2566 จำกัดพื้นที่สูงสุดไม่เกิน 30 ไร่ต่อราย

ส่วนการอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยของรัฐบาล รัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับการรับประกันภัยพื้นฐาน ให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยเกษตรกรลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ค่าเบี้ยประกันภัยเท่ากันทุกพื้นที่ 115 บาทต่อไร่ (124.12 บาทต่อไร่ รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ธ.ก.ส. อุดหนุน 46 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 78.12 บาทต่อไร่ (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ส่วนเกษตรกรทั่วไปในพื้นที่นำร่อง ค่าเบี้ยประกันภัย 70 บาทต่อไร่ (75.97 บาทต่อไร่ รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) เกษตรกรจ่าย 5 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 70.97 บาทต่อไร่ (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) และเกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงปานกลาง ค่าเบี้ยประกันภัย 199 บาทต่อไร่ (214 บาทต่อไร่ รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) เกษตรกรจ่าย 130 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 84 บาทต่อไร่ (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ส่วนเกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงสูง ค่าเบี้ยประกันภัย 218 บาทต่อไร่ (234.33 บาทต่อไร่ รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) เกษตรกรจ่าย 149 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 85.33 บาทต่อไร่ (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทั้งนี้ คิดภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 ของเบี้ยประกันภัยหลังจากรวมค่าอากรแสตมป์แล้ว และค่าเบี้ยประกันภัยทุก 250 บาท คิดค่าอากรแสตมป์ 1 บาท

กำหนดระยะเวลาขายประกันตามภูมิภาค

สำหรับระยะเวลาการขายประกัน กำหนดวันเริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีตั้งแต่วันที่กระทรวงการคลังเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบโครงการฯ และกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน คปภ. และกำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ แตกต่างกันตามภาคภูมิศาสตร์ ดังนี้

1)ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ จำนวน 58 จังหวัด กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ ไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2566

2) ภาคตะวันตก จำนวน 5 จังหวัด กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2566 และ

3)ภาคใต้ จำนวน 14 จังหวัด กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2566

ส่วนการพิจารณาค่าสินไหมทดแทน จ่ายตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และจ่ายเพิ่มเติมกรณีที่เสียหายจริงแต่ไม่อยู่ในเขตประสบภัยตามที่ราชการกำหนด โดยวิธีการประเมินรายแปลงที่เป็นพื้นที่แปลงปลูกเสียหายสิ้นเชิง โดยการแจ้งความเสียหายและแสดงหลักฐานการเสียหาย เกษตรกรต้องบันทึกข้อมูลผ่าน Application “มะลิซ้อน”

 

นบข.เห็นชอบประกันภัยนาข้าว 1.6 พันล้าน 22 ล้านไร่ รอคลัง ชง ครม.

ผู้ส่งออกขอแก้ปัญหาค่าเงินบาท 

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่าในปี 2566 ผู้ส่งออกข้าวมั่นใจว่าจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 8 ล้านตัน จากปริมาณความต้องการข้าวทั่วโลกที่เพิ่มมากขึ้น โดยปัญหาการส่งออกข้าวในขณะนี้ที่อยากให้รัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยดูแลอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนอย่างมาก ในบางช่วยขึ้นลงถึง 3-4% ภายในสัปดาห์เดียว ซึ่งทำให้ผู้ส่งออกข้าวได้รับผลกระทบมาก

“การขายสินค้าพืชไร่ และสินค้าเกษตรอย่างข้าวนั้นไม่ได้มีปัญหาเพราะค่าเงินบาทอ่อนหรือแข็งจนเกินไป แต่มีปัญหาเมื่อค่าเงินบาทผันผวนมาก เพราะโค้ดราคาในแต่ละครั้งลำบาก จึงอยากขอให้รัฐบาลและแบงก์ชาติช่วยดูแลให้ค่าเงินนิ่งและมีเสถียรภาพมากกว่านี้” นายเจริญ กล่าว

นบข.เห็นชอบประกันภัยนาข้าว 1.6 พันล้าน 22 ล้านไร่ รอคลัง ชง ครม.

ตัวแทนชาวนาหนุนเพิ่มรายได้เกษตรกร

นายสุเทพ คงมาก กรรมการในคณะกรรมการ นบข.และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่าที่ประชุม นบข.ได้เน้นย้ำเรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร และขอให้มีการเดินหน้าต่อในเรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวนา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะนโยบายการประกันรายได้หรือจำนำข้าว ซึ่งตอนนี้แนวนโยบายที่ชาวนาต้องการคือการสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มรายได้ให้กับชาวนา การส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์และส่งเสริมข้าวคุณภาพสูงที่มีราคาสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางที่มีความเหมาะสมมากกว่าการแทรกแซงกลไกตลาด

“นโยบายของรัฐบาลที่มาในเรื่องการส่งเสริมความเข้มแข็งของชาวนา การส่งเสริมข้าวอินทรีย์ และศูนย์ข้าวชุมชน นั้นเป็นแนวทางที่ดีอยู่แล้ว เพราะชาวนาเราอยากได้รายได้เพิ่มจากการทำนาแบบมุ่งเน้นคุณภาพการผลิตมากขึ้น จะได้มีรายได้เพิ่มแบบยั่งยืนโดยไม่ต้องแบมือขอเงินรัฐบาลไปตลอด”นายสุเทพ กล่าว