ภาคประชาชนกังขา ชง ป.ป.ช. ‘สอบ’ ประธาน กสทช.
หัวหน้าสำนักงาน ส. ปิยะธรรม ทนายความ อิทธิพล แสงสุรินทร์ ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ หรือ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.
หัวหน้าสำนักงาน ส. ปิยะธรรม ทนายความ อิทธิพล แสงสุรินทร์ ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ หรือ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เรื่องที่กำหนดวิธีการสรรหาเลขาธิการ กสทช. คนใหม่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่โปร่งใส
โดยประธาน กสทช. ได้ออกประกาศให้ตนเองมีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว ในการดำเนินการคัดเลือก และเสนอชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเสนอต่อคณะกรรมการ กสทช. ซึ่งทำหน้าที่เพียงเห็นด้วยหรือไม่เท่านั้น ไม่มีสิทธิ์ในการคัดเลือกผู้สมัครแต่อย่างใด วิธีการดังกล่าวขัดต่อหลักกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ ที่ต้องมีธรรมาภิบาลที่ดีขององค์กรอิสระ เนื่องจากกระบวนการดังกล่าว มิได้สะท้อนความโปร่งใสของขั้นตอนที่เปิดกว้างและตรวจสอบได้ แตกต่างจากการสรรหาเลขาฯ ครั้งก่อน เมื่อปี 2554 ที่คณะกรรมการ กสทช. ทุกคนมีสิทธิ์และมีส่วนร่วมในกระบวนการอย่างเท่าเทียมกัน
ที่ผ่านมา คณะกรรมการ กสทช.ได้พิจารณากำหนดคุณสมบัติอื่นของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. โดยประธาน กสทช. เสนอต่อที่ประชุมว่าจะเป็นผู้เสนอชื่อผู้ที่ผ่านคุณสมบัติในการสมัครเลขาธิการแต่เพียงผู้เดียว แล้วถึงจะส่งต่อให้แก่คณะกรรมการลงความเห็นชอบ โดยอ้างอิงอำนาจตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา 61
โดยที่ประชุมมีความเห็นไม่ตรงกัน ต้องใช้วิธีการโหวตลงคะแนนเสียง ซึ่งการลงคะแนนของคณะกรรมการ เสียงเท่ากันที่ 3:3 แต่ประธานฯ ใช้สิทธิออกเสียงซ้ำอีกครั้ง หรือดับเบิลโหวต ส่งผลให้คะแนนโหวตกลายเป็น 4:3 เพื่อให้ตนเองสามารถคัดเลือกและเสนอชื่อผู้ที่จะเป็นเลขาฯ ได้แต่เพียงผู้เดียว จนเป็นสาเหตุที่กรรมการ กสทช. 3 คน คือ พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ อาจารย์พิรงรอง รามสูต และอาจารย์ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ ทำหนังสือถึงประธานกสทช. โดยระบุว่าไม่รับทราบมติที่ประชุม กสทช. นัดพิเศษเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาเลขาธิการดังกล่าว
หลังจากนั้น ประธาน กสทช. ได้ออกประกาศ เรื่องรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ซึ่งมีข้อที่น่ากังขาเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคัดเลือก ข้อ 8 และข้อ 9
โดย ข้อ 8 ระบุว่า ประธาน กสทช.จะแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติบุคคล เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. แต่จากนั้น ประธานจะเป็นผู้ประกาศรายชื่อผู้ที่มีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือกแต่เพียงผู้เดียว โดยไม่ได้ผ่านการร่วมพิจารณาของคณะกรรมการ กสทช.ทั้งหมด
ส่วนข้อ 9 ระบุว่า ประธาน กสทช. เป็นเพียงผู้เดียวที่จะดำเนินการคัดเลือกโดยการประเมินจากเอกสารประกอบการสมัคร การแสดงวิสัยทัศน์และการสัมภาษณ์ จากรายชื่อที่ผ่านการคัดเลือกมาทั้งหมด จากนั้น ประธานจึงจะเสนอชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ ส่งไปยังคณะกรรมการ กสทช .ท่านอื่น ซึ่งมีหน้าที่เพียงแค่เห็นชอบเท่านั้น โดยกรรมการไม่ได้มีส่วนร่วมในการคัดเลือกและเสนอชื่อผู้สมัครคนอื่นเข้าสู่การพิจารณา นอกเหนือจากผู้ที่ประธานได้เลือกไว้แล้วแต่อย่างใด
แนวทางดังกล่าว แตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับการรับสมัครเลขาธิการ กสทช. ในปี 2554 ซึ่งระบุชัดเจนว่า คณะกรรมการ กสทช. ทั้งหมด จะให้ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ และพิจารณาคัดเลือก โดยมีการลงมติจากคณะกรรมการทั้งหมดด้วยวิธีการลงคะแนนลับ โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดจะเป็นผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ กสทช.
นายอิทธิพล ระบุว่า กระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช.ควรสะท้อนถึงความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อันได้แก่ คณะกรรมการกสทช. ทั้งหมด ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณา เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากการแทรกแซงทางการเมืองและภาคธุรกิจ เพื่อจะเป็นหลักประกันเบื้องต้นว่า เลขาธิการ กสทช.จะปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการวิทยุ โทรทัศน์และสื่อสารโทรคมนาคมอันเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาล ตามหลักขององค์กรอิสระ