“บีโอไอ” ชี้รัฐบาลยุบสภาฯ ไม่กระทบแผนดึงต่างชาติลงทุนไทย

“บีโอไอ” ชี้รัฐบาลยุบสภาฯ ไม่กระทบแผนดึงต่างชาติลงทุนไทย

“บีโอไอ”เดินหน้าแผนโรดโชว์ดึงการลงทุนจากต่างชาติ มั่นใจยุบสภาไม่กระทบความเชื่อมั่นการลงทุน ร่วมมือ 3 หน่วยงาน สร้างแพลตฟอร์ม HQ Biz Portal หนุนนักลงทุนตั้งธุรกิจ เร่งแผนดึงลงทุนตั้งสำนักงานภูมิภาค

Key Points

  • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศยุบสภาและประเทศกำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง
  • ‘บีโอไอ’ ประเมินว่าการเลือกตั้งจะไม่กระทบกับการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย
  • มีการเตรียมแผนโรดโชว์ดึงการลงทุน พร้อมออกนโยบายสนับสนุนตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทย
  • ตั้งแต่ปี 2543 มีโครงการตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทยมูลค่าลงทุน 13,000 ล้านบาท

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมองว่าไม่เป็นประเด็นสำหรับภาคการลงทุน เนื่องจากทุกรัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยบีโอไออนุมัติส่งเสริมการลงทุนได้ในช่วงรัฐบาลรักษาการ รวมทั้งจัดโรดโชว์ได้ตามกรอบนโยบาย ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนมีความเชื่อมั่นในนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่มีความชัดเจนและมีเสถียรภาพโดยมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ยังได้อนุมัติแล้วตั้งแต่ต้นปี 2566

“ปัจจุบันเป็นช่วงจังหวะที่เทรนด์การย้ายฐานผลิต (Relocation) เป็นปัจจัยผลักดันให้นักลงทุนรีบตัดสินใจและไม่มีการชะลอเพื่อรอผลการเลือกตั้งแต่อย่างใด เพื่อไม่ให้เป็นการเสียโอกาสทางธุรกิจ โดยที่ผ่านมานักลงทุนอยากเร่งอนุมัติให้เร็วขึ้นมากกว่า ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่นักลงทุนใช้ในการตัดสินใจเกี่ยวข้องกับตลาดในประเทศ ความพร้อมของบุคคลากร และอีโคซิสเต็มสำหรับพลังงานสะอาด” 

ทั้งนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันที่ 20 มี.ค.2566 อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 56,615 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานพลังงานของประเทศ ได้แก่ โครงการท่าเทียบเรือขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) มูลค่าลงทุน 32,710 ล้านบาท และโครงการโรงไฟฟ้าผลิตพลังงานร่วม ซึ่งร่วมทุนระหว่างไทยและสิงคโปร์ 5,005 ล้านบาท

นอกจากนี้ อนุมัติส่งเสริมการลงทุนกิจการดาต้า เซ็นเตอร์ ขนาดใหญ่ 2 ราย มูลค่าเงินลงทุนรวม 10,371 ล้านบาท โดยหนึ่งในนั้นเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างอังกฤษและสิงคโปร์ ซึ่งเป็นกิจการดาต้า เซ็นเตอร์ ที่เน้นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและประกาศว่าจะใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานหลักเพื่อลดการสร้างคาร์บอนฟุตปริ้นท์

ส่วนโครงการขนาดใหญ่อื่นที่อนุมัติ อาทิ โครงการผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โครงการผลิตโลหะทองคำและเงินภายใต้รูปแบบโลหะผสม และโครงการกำจัดของเสียอุตสาหกรรม มูลค่าเงินลงทุนรวม 8,500 ล้านบาท

“สำหรับโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในครั้งนี้ เป็นโครงการที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านความมั่นคงทางพลังงาน รวมทั้งยกระดับศักยภาพในการเป็นดิจิทัลฮับของไทยให้พร้อมรับเทรนด์การลงทุนย้ายฐานผลิตที่เกิดขึ้นทั่วโลกท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินโลก"

นอกจากนี้ บีโอไอร่วมมือกับ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการพัฒนากลไกการอำนวยความสะดวก เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและประตูการค้าการลงทุนในภูมิภาค โดยตั้งแต่ต้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ได้เปิดบริการระบบ HQ Biz Portal ศูนย์รวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค และระบบนัดหมายออนไลน์ รวมทั้งได้จัดตั้งทีมงานร่วมกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย

“แพลตฟอร์ม HQ Biz Portal จะพัฒนาให้ติดตามสถานะคำขอ เพื่อสร้างระบบให้นักลงทุนดำเนินการได้สะดวกขึ้น ซึ่งช่วงนี้เป็นจังหวะเหมาะที่จะเร่งดึงการลงทุนจากบริษัทชั้นนำ โดยบีโอไอทำลิสต์บริษัทในไทย 100 ราย ที่มีมูลค่าลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินมาตรการเชิงรุกเชิญชวนให้ตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศ”

ทั้งนี้ บีโอไอส่งเสริมการลงทุนกิจการสำนักงานภูมิภาคมาตั้งแต่ปี 2543 มีโครงการได้รับส่งเสริม 500 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุน 13,000 ล้านบาท โดยบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นมีสัดส่วนสูงสุด 40% รองลงมาคือ สหรัฐ สิงคโปร์ และฮ่องกง โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม 3 อันดับแรก ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2566 เห็นชอบให้ปรับปรุงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยดึงชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (Long-Term Resident Visa: LTR Visa) เพื่อดึงผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ โดยให้มีความยืดหยุ่นในการรับรองคุณสมบัติมากขึ้น ซึ่งบีโอไอได้เสนอให้เพิ่มเติมและปรับปรุงอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อรับรองคุณสมบัติชาวต่างชาติที่มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษในสาขาที่ขาดแคลน 15 สาขา ดังนี้

1.อุตสาหกรรมยานยนต์ 

2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 

3.อุตสาหกรรมท่องเที่ยวระดับคุณภาพ 

4.อุตสาหกรรมการเกษตร อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ 

5.อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ 

6.อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ 

7.อุตสาหกรรมการบิน อากาศยานและอวกาศ

8.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 

9.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 

10.อุตสาหกรรมดิจิทัล 

11.อุตสาหกรรมการแพทย์ 

12.อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ

13.อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยตรง เช่น การผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 

14. ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (IBC) 

15.อุตสาหกรรมอื่นที่ต้องใช้ทักษะเชี่ยวชาญพิเศษในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น นักวิจัยสาขาอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยีเป้าหมาย หรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ อาทิ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบดิจิทัล การเงิน สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ผู้เชี่ยวชาญในโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัป รวมทั้งองค์กรส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ

“การขยายขอบเขตนี้เพื่อให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมาย และทักษะความเชี่ยวชาญในสาขาที่สำคัญและขาดแคลน โดยให้ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงได้รับ LTR Visa เพื่อมาทำงานร่วมกับบุคลากรไทย ซึ่งจะถ่ายทอดองค์ความรู้และการพัฒนาเศรษฐกิจการลงทุนของไทยระยะยาว โดยปัจจุบันมีชาวต่างชาติยื่นขอ LTR Visa กว่า 3,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกัน จีนและยุโรป ซึ่งคาดว่าใน 6 เดือนนข้างหน้า หลังการปรับกฎเกณฑ์แล้วจะดึงดูดต่างชาติได้เพิ่มเป็น 2 เท่า หรือ 6,000 ราย”