'ทีดีอาร์ไอ' หนุนกระจายอำนาจ เพิ่มบทบาทท้องถิ่นทั้งการคลัง – การเมือง
“ทีดีอาร์ไอ” หนุนกระจายอำนาจท้องถิ่นทั้งการคลัง – การเมือง รองรับภารกิจท้องถิ่นในอนาคต ชี้ตัวเลขสัดส่วนจัดสรรงบฯลงท้องถิ่นของไทยยังต่ำแค่พียง 8% ของจีดีพี ขณะที่หลายประเทศให้ 20 – 40% ต่อจีดีพี ชี้การเพิ่มอำนาจ-การตัดสินใจให้ท้องถิ่นจะสร้างผู้นำทางการเมืองที่ดี
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “บทบาทท้องถิ่นกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ในงานเสวนา “ท้องถิ่น มั่งคั่ง ประเทศมั่นคง” จัดโดยเครือเนชั่น วันนี้ (22 มี.ค.) ว่าการกระจายอำนาจลงไปยังท้องถิ่นมี 2 มิติที่สำคัญคือการกระจายอำนาจทางการทางคลัง และการกระจายอำนาจทางการเมือง ซึ่งข้อสังเกตก็คือการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นในประเทศไทยจะมีทั้งช่วงเวลาที่มีการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้นและลดน้อยลง โดยในช่วงที่มีการดึงอำนาจกลับมาในส่วนกลางมากขึ้นคือช่วงหลังจากที่มีการปฏิวัติรัฐประหาร ดังนั้นเมื่อในขณะนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่โหมดของประชาธิปไตยการกระจายอำนาจจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องให้ความสนใจ และติดตามแนวนโยบายของแต่ละพรรค โดยปัญหาการทุจริตของท้องถิ่นในบางพื้นที่ไม่ควรไปยับยั้งเรื่องการพัฒนาและการกระจายอำนาจลงไปยังท้องถิ่นในภาพรวม
ทั้งนี้ในประเด็นเรื่องของการกระจายอำนาจทางการคลังไปสู่ท้องถิ่นพบว่าประเทศไทยนั้นยังมีสัดส่วนภาษีท้องถิ่นต่อรายได้รวมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมทั้งการจัดสรรรายได้ให้กับท้องถิ่นน้อยมากเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยอยู่ที่ประมาณ 8% ขณะที่หลายประเทศมีสัดส่วนที่สูง เช่น ญี่ปุ่น 42% จีน 47.5% และอินเดีย 32.4% ซึ่งสัดส่วนตรงนี้ควรจะเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้สิ่งสำคัญของการพัฒนาท้องถิ่น คือการกระจายอำนาจทำให้มีการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ รวมทั้งสามารถที่จะคาดหวังเรื่องการพัฒนาคนในแต่ละพื้นที่ให้เท่าเทียมมากขึ้นได้ โดยประเด็นในการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจะมีบทบาทในการแก้ไขความยากจนเรื้อรังในพื้นที่ ซึ่งในเขตชนบทยังมีปัญหาในเรื่องความยากจนเพิ่มขึ้นแม้เศรษฐกิจจะดีขึ้น โดยข้อมูลในช่วงปี 2016 – 2018 พบว่าประเทศไทยมีคนจนเรื้อรังมากขึ้นแม้ว่าจะมีการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้นก็ตาม
“ความยากจนในเชิงพื้นที่พบว่ามีหลายจังหวัดที่มีการกระจุกตัวของความยากจนอยู่ และมีเรื่องของการกระจายความยากจนเรื้อรังไปยังภาคใต้และภาคเหนือด้วย ซึ่งต่างจากภาพในอดีตที่ปัญหาการยากจนเรื้อรังอยู่ในภาคอีสานบทบาทของการกระจายอำนาจท้องถิ่นจึงควรมีการแก้ปัญหาความยากจนเรื้อรังในแต่ละพื้นที่ด้วย” นายสมชัยกล่าว
นอกจากนี้หน้าที่ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งบทบาทของการบริหารส่วนท้องถิ่นนั้นถือว่าเป็นองค์กรที่มีบาบาทในพื้นที่มากกว่ารัฐบาลในส่วนกลาง ซึ่ง อปท.ควรมีบทบาทในการพัฒนาคน โดยการเพิ่มศักยภาพของคนในพื้นที่ที่ต้องทำการศึกษา การพัฒนาทักษะแรงงาน ทักษะผู้ประกอบการ สาธารณสุข สวัสดิการประชาชนในพื้นที่ ท้องถิ่นจะมีบทบาทในการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในปัจจุบันและอนาคต
ดังนั้นการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นทำให้เกิดการตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง ทำในเรื่องการบูรณาการได้ดีกว่าส่วนกลาง สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นและพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วสามารถมีส่วนร่วมและตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้มากกว่า และมีความพร้อมเรื่องของงบประมาณ และมีกฎหมายที่ยืดหยุ่น
นอกจากนี้เมื่อมีการกระจายอำนาจของท้องถิ่นอีกบทบาทที่ท้องถิ่นช่วยคือการสร้างผู้นำรุ่นใหม่จากท้องถิ่นได้ ซึ่งหากมีการกระจายอำนาจทางการเมืองและพัฒนาองค์การส่วนท้องถิ่นเต็มรูปแบบจะทำให้เกิดผู้นำที่มีความสามารถในพื้นที่ และเติบโตขึ้นมาเป็นผู้นำระดับชาติ โดยในต่างประเทศมีตัวอย่างคนที่เป็นผู้นำจากท้องถิ่นมาก่อน เช่น สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน บิล คลินตัน อดีตประธานาธิดีสหรัฐฯ รวมทั้งนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ซึ่งทั้งหมดเคยเป็นผู้นำท้องถิ่นมาก่อน
สำหรับข้อเสนอทีดีอาร์ไอในการเพิ่มบทบทของ อปท.ให้ท้องถิ่นสามารถตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในระยะต่อไป เพื่อปรับบทบาทรัฐไทยให้ประชาชนได้บริการที่ดีขึ้น ได้แก่
1.เพิ่มความเป็นอิสระ ยุบรวมท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กให้เป็นขนาดใหญ่มากขึ้น เช่น ยุบรวมจังหวัดเข้ากับ อบจ. เพื่อไปสู่"จังหวัดจัดการตนเอง" เพื่อที่จะเพิ่มอำนาจการต่อรองและเพิ่มบทบาทในการทำงาน แก้กฎหมายลดอำนาจแกรกแซงของมหาดไทย และแยกภาษีที่จัดเก็บเองออกจากรายได้ที่รัฐบาลโอนให้
2.เพิ่มขีดความสามารถ จูงใจให้ อปท. ควบรวมโดยปรับสูตรเงินโอน ปรับบทบาทให้ส่วนกลางเป็นพี่เลี้ยง และดูแลมาตรฐานบริการของท้องถิ่นแทนการกำหนดนโยบาย
และ3.เพิ่มความรับผิดชอบให้กับท้องถิ่น โดยกำหนดให้เปิดเผยผลงานต่อประชาชน และแก้กฎหมายให้ถอดถอนผู้บริหารง่ายขึ้น