แก้ไขปัญหาปากท้อง = หน้าที่หลักรัฐประชาธิปไตยเต็มใบ | กันต์ เอี่ยมอินทรา
ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจที่ยังคงฝืดเคืองภายหลังช่วงระบาดของโควิด-19
การทำมาค้าขายที่ยากกว่าเดิมอยู่แล้วเพราะสภาพคล่องที่ต่ำลง อันเนื่องมาจากการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่คิดไตร่ตรองมากขึ้น ประกอบกับเม็ดเงินในกระเป๋าที่ลดน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนโควิดจึงทำให้เศรษฐกิจของไทยและในอีกหลายประเทศทั่วโลกยังไม่ฟื้นตัวดีนัก
ปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากภาวะข้าวยากหมากแพง และวิกฤติพลังงานอันเนื่องมาจากการสู้รบในยูเครน และภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควรในยุคหลังโควิดที่นักวิเคราะห์หลายคนเคยประมาณการไว้ว่าเศรษฐกิจน่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ประเทศในยุโรปนั้นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนและสามารถเป็นกรณีศึกษาได้ว่าการสู้รบในภูมิภาคนั้นย่อมกระทบกับประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะในเชิงยุทธศาสตร์แล้วประเทศในยุโรปนั้นล้วนมีความผูกพันธ์ซึ่งกันและกัน ประเทศเหล่านี้พึ่งพากันและกันทั้งในด้านเศรษฐกิจ ทรัพยากร และแรงงาน
เมื่อการสู้รบในยูเครนที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นปีแล้ว และก็มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปอย่างไม่รู้จะจบสิ้นเมื่อไหร่ แนวโน้มของปัญหาพลังงาน และค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นก็จึงไม่มีทีท่าที่จะสิ้นสุดภายในเร็ววัน หลายประเทศในยุโรปนั้นพึ่งพาพลังงานก๊าซจากรัสเซีย ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ที่ส่วนใหญ่อยู่ในยูเครนก็ถูกทำลายย่อยยับ
ทั้งสองปัจจัยหลักนี้เองที่ทำให้สุดท้ายแล้วสินค้าอุปโภคบริโภคที่ส่งถึงมือผู้ใช้ปลายทางนั้นมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งผู้ผลิตก็จำต้องผลักภาระที่เพิ่มขึ้นนี้ให้กับผู้บริโภคตามกลไกตลาด ถึงแม้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยที่มีกำลังเงินมากในหลายประเทศในยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมนี หรือแม้กระทั่งอังกฤษที่ออกจากประชาคมยุโรปแล้ว มีนโยบายมากมายในการช่วยเหลือประชาชน แต่นโยบายเหล่านั้นก็ไม่อาจเอาชนะกลไกตลาดได้
เช่นเดียวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในสหรัฐ ทั้งที่อัตราเงินเฟ้อนั้นเริ่มชะลอความร้อนแรงลง แต่ในความเป็นจริงแล้วปัญหาเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไป ประชาชนยังคงจ่ายของชำที่แพงขึ้น อาทิ ราคาไข่ไก่ที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว ราคาเนยแท้และเนยเทียมที่เพิ่มขึ้นกว่า 33%
ปัญหาเหล่านี้เองที่นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเต็มใบนั้นกลัวที่สุด เพราะปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่ใกล้ตัวประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่สุด เป็นปัญหาตรงหน้าที่เป็นจริงที่พบเจอได้ในทุก ๆ วัน เปรียบเหมือนไฟใกล้ที่จำเป็นต้องดับให้ได้ก่อนไฟไกล อย่างปัญหาการสู้รบในยูเครน
รัฐบาลของประเทศประชาธิปไตยเต็มใบจึงมุ่งแก้ไขปัญหาปากท้อง ด้วยการออกนโยบายเพื่อมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้โดยตรง อาทิ เมื่อคราวเกิดวิกฤติค่าก๊าซและน้ำมันแพงอย่างมาก รัฐบาลเยอรมันก็ออกนโยบายเอาเงินจำนวนมากออกมาจ่ายช่วยประชาชนจ่ายส่วนต่างค่าพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับฝรั่งเศสและอังกฤษที่ต่างก็มีนโยบายทำนองเดียวกันออกมา
ถึงเนื้อหารายละเอียดและจำนวนเงินจะต่างกันบ้าง แต่หลักการก็คือการใช้เงินภาษีที่มาจากประชาชน นำมาออกมาช่วยเหลือประชาชนอย่างชาญฉลาดในยามยาก การใช้เงินงบประมาณที่นำออกมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างรอบคอบจึงเป็นการใช้เงินงบประมาณที่เหมาะควร มากกว่าการใช้จ่ายเพื่อการณ์อื่นที่อาจจะยังไม่จำเป็นในช่วงเวลาวิกฤติเศรษฐกิจนี้
หน้าที่หลักของรัฐ และนักการเมืองในประเทศประชาธิปไตยเต็มใบจึงคือการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน และการเลือกตั้งก็คือข้อสอบที่นักการเมืองทุกคนอยากสอบผ่าน