‘เป๋าฮื้อน้ำจืด’ พลิกชีวิตเกษตรกร!!!

‘เป๋าฮื้อน้ำจืด’ พลิกชีวิตเกษตรกร!!!

เริ่มทดลองเลี้ยงหอยเชอรี่สีทอง หรือที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า “เป๋าฮื้อน้ำจืด” ด้วยความหวังที่จะทำให้เป็นอีกหนึ่งสัตว์เศรษฐกิจ ที่จะสามารถสร้างรายได้ และทำให้ชาวบ้านแห่งนี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีมากยิ่งขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพรชัย นาถนอม อดีตเจ้าของกิจการบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ตัดสินใจเกษียณตัวเอง เพื่อมุ่งเข้าสู่เส้นทางตามความฝันของตนเอง ด้วยวัยเพียง 46 ปี ออกจากเมืองใหญ่ไปยังชนบทที่บ้านบุมะค่า ต.มาบตะโกเอน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เพื่อใช้ชีวิตกับแฟนสาว และ เพื่อมาเรียนรู้และใช้ชีวิตตามวิถีทางเกษตรแบบยั่งยืน แต่เนื่องจากความที่ตนเองยังมีความรู้ด้านการทำการเกษตรไม่มากนัก เพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้น จึงเริ่มทดลองเลี้ยงหอยเชอรี่สีทอง หรือที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า “เป่าฮื้อน้ำจืด” ด้วยความหวังที่จะทำให้เป็นอีกหนึ่งสัตว์เศรษฐกิจ ที่จะสามารถสร้างรายได้ และทำให้ชาวบ้านแห่งนี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีมากยิ่งขึ้น

นายพรชัย นาถนอม เปิดใจว่า จุดเริ่มต้นหลังจากที่ตัดสินใจออกจากงาน เพื่อมุ่งหน้ามาทำการเกษตร ตนเองมองว่า การทำฟาร์ม จะงานกว่าการทำการเกษตรแบบอื่น เพราะตนเองก็ยังไม่ถนัดในการทำไร่ทำสวน เนื่องจากยังไม่มีประสบการณ์มากพอ ซึ่งพอมองถึงเรื่องการทำฟาร์ม ก็มีสองอย่างที่พอจะเรียนรู้ด้วยตนเองได้ ก็คือ การเลี้ยงไก่ กับการเลี้ยงสัตว์น้ำ และจากการค้นคว้าหาข้อมูล ก็ไปพบกับสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่กำลังได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมากในตอนนี้ก็คือ หอยเชอรี่สีทอง ที่มีความพิเศษก็คือต้นทุนในการเลี้ยงต่ำ สามารถนำวัตถุดิบที่มีอยู่แล้วในชุมชนอย่าง จอก แหน ผักตบชวา มาเป็นอาหารก็เพียงพอแล้ว จึงตัดสินใจหาชื้อพันธุ์จากจังหวัดของแก่นเพื่อนำมาทดลองเลี้ยง เพราะคิดว่ามันง่ายและลงทุนน้อย

โดยตนเองเลือกซื้อพ่อแม่พันธุ์ที่มีอายุประมาณ 4 – 5 เดือน แล้วนำมาเลี้ยงเพื่อเพาะขยายพันธุ์ ด้วยการเลี้ยงภายในโอ่งแดงเก่า ตัดครึ่ง ใส่น้ำตามความเหมาะสม ให้อาหารด้วยพืชน้ำ เวลาผ่านไปประมาณ 5 เดือน ก็จะเริ่มวางไข่ และฟักเป็นตัว ซึ่งทุกอย่างก็อยู่ที่กระบวนการบริหารจัดการในการดูแลรักษา โดยเฉพาะการจัดการน้ำที่ต้องให้น้ำสะอาดอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์และลูกหอยตาย อีกทั้งยังจะช่วยทำให้หอยมีความสะอาดและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค

นายพรชัย บอกอีกว่า สำหรับความคาดหวังนั้นตนเองยังไม่คาดหวังรายได้จากการเพาะเลี้ยงมากนักในตอนนี้ เนื่องจากต้องการโฟกัสไปในเรื่องของการทำการเกษตรแบบยั่งยืนมากกว่า ที่จะร่ำรวย ตอนนี้มุ่งไปที่เลี้ยงยังไงให้รอด และสำเร็จมากกว่า หากสำเร็จและเริ่มมีพันธุ์หอยเพิ่มมากขึ้น ก็จะแบ่งให้กับเพื่อนบ้านที่มีความสนใจต้องการที่จะเลี้ยงก่อน ในราคาทุน เพราะต้องการให้เกษตรกรในพื้นที่ได้มีทางเลือกเพิ่มเติมในการสร้างรายได้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ได้ยิ่งขึ้น ถึงตอนนั้นก็จะเริ่มมองไปถึงการรวมกลุ่มจำหน่ายออกตลาดอย่างจริงจังต่อไป โดยตอนนี้ตนเองสามารถที่จะผลิตหอยเชอรี่สีทองได้แล้วหลายรุ่น

สำหรับราคาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์หอยเชอรี่สีทองตามฟาร์มใหญ่ๆหลายแห่งขณะนี้ จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 700 – 1,000 บาท แต่ก็ขึ้นอยู่กับพึงพอใจของผู้ซื้อและผู้ขาย เนื่องจากหอยชนิดนี้ไม่มีราคากลาง เพราะตอนนี้จะมองไปที่การเลือกเฟ้นหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ดีเพื่อนำมาเพาะเลี้ยงมากกว่า เพราะหากได้พ่อแม่พันธุ์ที่ดีก็จะได้ลูกพันธุ์ที่ดี และหอยชนิดนี้มีอัตราการรอดสูง.