นายจ้างชาวจีน 85% ชี้ ทำงานกับคนรุ่นใหม่ ยากลำบากกว่าที่เคยเป็นมา
Gen Z ในจีนทำให้หัวหน้าปวดหัว นายจ้างชาวจีน 85% ชี้ การทำงานร่วมกันข้ามรุ่น ยากลำบากกว่าที่เคยเป็นมา พูดง่ายๆ ก็คือ หัวหน้างานต้องทำงานเหนื่อยขึ้น เพื่อเข้าถึงความต้องการของคนรุ่นใหม่
KEY
POINTS
- ผลสำรวจเผยว่า นายจ้างชาวจีน 85% มองว่าการทำงานร่วมกันข้ามรุ่น อาจก่อให้เกิดความยากลำบากในสถานที่ทำงาน ผู้จัดการบางคนบอกว่า ต้องทำงานเหนื่อยขึ้น เพื่อเข้าถึงความต้องการของคนรุ่น Gen Z
- ความท้าทายหลักที่บริษัทในจีนต้องเผชิญในการจัดการพนักงานกลุ่ม Gen Z ได้แก่ ช่องว่างการสื่อสาร (56%) ความคาดหวังเรื่องความสมดุลชีวิต (49%) การให้คำแนะนำที่เหมาะสม (48%)
- วัยทำงานกลุ่ม Gen Z มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับความต้องการของตัวเองมากกว่าบริษัท และให้คุณค่ากับงานที่สอดคล้องกับค่านิยมของพวกเขามากกว่า หากงานนั้นไม่สอดคล้องกับค่านิยม พวกเขามักจะปฏิเสธหรือทำมันได้ไม่ดี
นอกจากปัญหาเด็กจบใหม่ล้นตลาดงานแล้ว ในประเทศจีนก็ยังเผชิญกับสถานการณ์ “คนรุ่นใหม่ร่วมงานกับรุ่นพี่ในที่ทำงานได้ยาก” เหมือนที่เกิดขึ้นกับอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะหัวหน้ารุ่น Gen Y บางคนถึงกับบอกว่า พวกเขาต้องเหนื่อยมากขึ้นกับการอธิบายให้พนักงาน Gen Z เข้าใจเนื้องาน และดึงพวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมในงาน
ยกตัวอย่างเคสของ ‘เกรซ เฮอ’ (Grace He) หัวหน้างานรุ่นมิลเลนเนียล (Gen Y) วัย 37 ปี เธอเป็นผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่งในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เธอเล่าว่า ตำแหน่งหัวหน้าหรือผู้จัดการระดับกลางนั้น ทำงานอยู่ท่ามกลางความอึดอัด เพราะต้องอยู่ตรงกลางระหว่าง ผู้บังคับบัญชารุ่นใหญ่ชาว Gen X และต้องดูแลลูกน้องชาว Gen Z ซึ่งเธอต้องเชื่อมโยงพนักงานต่างรุ่นที่มีความคิดและวิธีการทำงานที่แตกต่างกันให้อยู่ร่วมกันให้ได้ ซึ่งฝั่งของพนักงานรุ่นใหม่อายุน้อย เป็นฝั่งที่เธอทำงานด้วยค่อนข้างยาก
“หากทำงานกับคนรุ่นมิลเลนเนียลด้วยกัน เราเพียงแค่อธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับวิธีดำเนินการงาน ทุกคนก็เข้าใจและทำงานนั้นให้สำเร็จได้ แต่กับพนักงานรุ่นใหม่ กลับต้องใช้เวลาในการอธิบายเพิ่มเติม เกี่ยวกับความหมายของงานอย่างละเอียด ไม่ใช่แค่เพื่อบริษัทเท่านั้น แต่ยังเพื่อให้สอดคล้องกับค่านิยมของพวกเขาด้วย” เธอเล่า
จุดท้าทายของพนักงาน Gen Z คือ ปัญหาการสื่อสาร คาดหวังสูง ต้องการสมดุลชีวิต
รายงานการสำรวจเงินเดือนในประเทศจีนประจำปี 2568 ที่เผยแพร่ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยบริษัทที่ปรึกษาการจัดหางาน Robert Walters ระบุว่า คนรุ่น Gen Z เข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ และพวกเขาก็เอาค่านิยมแบบใหม่เข้ามายังที่ทำงานด้วย ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับจากพนักงานรุ่นก่อน ผลสำรวจเผยว่า นายจ้างชาวจีน 85% มองว่าการทำงานร่วมกันข้ามรุ่น อาจก่อให้เกิดความยากลำบากในสถานที่ทำงาน
เมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนๆ คนรุ่น Gen Z ของจีนได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากครอบครัวมากกว่า มีการศึกษาดีกว่า และมีความเป็นตัวของตัวเองมากกว่า นอกจากนี้ พวกเขายังสามารถกระจายความมั่งคั่งภายในครอบครัวมากกว่าคนรุ่นเดียวกันในประเทศอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ
จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า ความท้าทายหลักที่องค์กรต่างๆ ในประเทศจีนต้องเผชิญในการบริหารจัดการพนักงานกลุ่ม Gen Z และบูรณาการพวกเขาเข้าในทีม ได้แก่
- ช่องว่างการสื่อสารและความคาดหวังระหว่างรุ่น (56%)
- การตอบสนองความคาดหวังเรื่องความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน (49%)
- การให้ข้อเสนอแนะและคำแนะนำที่เหมาะสม (48%)
รายงานของ Robert Walters อธิบายด้วยว่า ความท้าทายเหล่านี้จะกลายเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารจัดการธุรกิจในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพราะพนักงาน Gen Z กำลังกลายเป็นกำลังสำคัญในสถานที่ทำงานทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ภายในปีนี้ พนักงานทั่วโลก 75% จะเป็นคนรุ่นมิลเลนเนียล และภายใน 5 ปีข้างหน้า (ปี 2030) คาดว่าพนักงานทั่วโลก 1 ใน 3 จะเป็นคนรุ่น Gen Z
การทำงานระหว่างคนต่างวัย มักพบความแตกต่างทั้งวิธีทำงานและค่านิยม
“คนทำงานรุ่น Gen X และรุ่นมิลเลนเนียล มักจะทำงานเป็นทีมมากกว่า เก่งในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และมักจะเสียสละชีวิตส่วนตัวหรือทำงานล่วงเวลาเพื่อพัฒนาอาชีพในอนาคต ความรู้สึกผูกพันกับงานอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวจีน ยังคงปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในตัวพนักงานชาวจีนในกลุ่มอายุเหล่านี้” เกรซ เฮอ แสดงความเห็นเพิ่มเติม
วัยทำงานกลุ่ม Gen Z มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับความต้องการของตัวเองในที่ทำงาน มากกว่าจะให้ความสำคัญกับคนอื่นหรือบริษัท
“พวกเขามักจะให้คุณค่ากับงานที่สอดคล้องกับค่านิยมของพวกเขามากกว่า หากงานนั้นไม่สอดคล้องกับความสนใจหรือค่านิยมของพวกเขา พวกเขามักจะเลือกที่จะปฏิเสธหรือทำมันได้ไม่ดี เราไม่สามารถสั่งให้พวกเขาทำสิ่งนั้นๆ ได้ง่ายๆ เราต้องพิจารณาจากมุมมองของพวกเขา และอธิบายคุณค่าของงานให้พวกเขาเข้าใจ เมื่อนั้นพวกเขาจึงจะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มใจ หรือพูดง่ายๆ คือต้องทำงานเหนื่อยขึ้นเพื่อเข้าถึงความต้องการของคนรุ่นใหม่” ผู้อำนวยการบริษัทโฆษณา อธิบายให้เห็นภาพชัด
คนรุ่น Gen Z ของจีนส่วนใหญ่เกิดในยุคที่มีนโยบายลูกคนเดียว และเติบโตในช่วงที่เศรษฐกิจพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยได้รับประโยชน์จากมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น และมีทรัพยากรทางการศึกษาที่ดีกว่าคนรุ่นก่อนๆ
Gen Z ในจีน รู้สึกถึงคุณค่าในงานและความหมายชีวิตน้อยลง
ในขณะเดียวกัน รายงานผลวิจัยจาก Cheung Kong Graduate School of Business ที่เผยแพร่ในเดือนมิถุนายน ระบุว่า อัตราการว่างงานของเด็กจบใหม่ในตลาดงานของจีนสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน คนรุ่น Gen Z ของจีนอาจมีความรู้สึกถึงคุณค่าในงานและความหมายในชีวิตน้อยลง ซึ่งเป็นปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับบริษัทหลายแห่ง โดยพนักงาน Gen Z เพียง 32.44% เท่านั้นที่ตอบว่างานของตนตรงกับความสนใจของตน ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำกว่าพนักงานในวัย 30 ปี (ร้อยละ 44.02%) และวัย 40 ปี (53.21%)
ไม่เพียงเท่านั้น ตามรายงานของบริษัทที่ปรึกษาการจัดหางาน Hays ที่เจาะลึกถึงแนวโน้มบุคลากรชาวจีนในปี 2025 ก็พบด้วยว่า เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างต่อเนื่องมาเกือบ 40 ปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการทำงานหนักไม่หยุดหย่อนของชาวจีนรุ่นก่อน แต่หลังจากนั้นเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้พนักงานรุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ต้องพิจารณาใหม่ว่าพวกเขาต้องการอะไรจากนายจ้าง? หนึ่งในคำตอบของคนรุ่นใหม่คือ “คาดหวังรายได้ในอนาคตน้อยลง”
แรงงานรุ่นใหม่เหล่านี้จึงให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานในปัจจุบันมากขึ้น มองหางานที่มีความมั่นคงมากขึ้น เห็นได้จากผู้สมัครงานส่วนใหญ่มักอยากสมัครงานกับบริษัทในประเทศมากกว่าองค์กรระหว่างประเทศ
คริสตัล วู ผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ซึ่งเพิ่งได้งานธุรการในเมืองเซินเจิ้น สะท้อนความเห็นส่วนตัวว่า “ในโลกการทำงานยุคนี้ รายได้ ความเท่าเทียม และความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน เป็นสิ่งสำคัญที่สุด และแนวโน้มของการเลื่อนตำแหน่งไม่ได้ดึงดูดใจฉันมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนนี้ที่ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”