ไม่เอาคาโรชิ ญี่ปุ่นรุ่นใหม่ลดชั่วโมงทำงาน ไม่เสียสละเพื่อบริษัทอีกต่อไป
พนักงานญี่ปุ่นคนรุ่นใหม่ ไม่ขอตายเพราะทำงานหนักเกินไป (โรคคาโรชิ) เกิดปฏิวัติเงียบ ลดชั่วโมงทำงาน ไม่เสียสละตนเองเพื่อบริษัทอีกต่อไป
KEY
POINTS
- คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่หันหลังให้กับวัฒนธรรมการทำงานหนักแบบซ้ำซาก เกิดความหวังที่จะยุติโรคคาโรชิ หรือการทำงานหนักจนเสียชีวิตที่เป็นปัญหาร้ายแรงในสังคมญี่ปุ่นเสมอมา
- ผลการสำรวจของนักวิเคราะห์จากสถาบัน Recruit Works พบว่า ชั่วโมงการทำงานประจำปีในญี่ปุ่นลดลง 11.6% จาก 1,839 ชั่วโมงในปี 2543 เหลือ 1,626 ชั่วโมงในปี 2565 แต่กว่าจะลดลงถึงจุดนี้ ก็ใช้เวลานาน 20 กว่าปีทีเดียว
- การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงาน (ลดชั่วโมงทำงานลง) อาจมีข้อดีตามมา เพราะญี่ปุ่นเผชิญกับวิกฤตการณ์คาโรชิอย่างคงรุนแรง ในปี 2565 มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานมากถึง 2,968 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 1,935 รายในปี 2564
พนักงานญี่ปุ่นคนรุ่นใหม่หันหลังให้กับวัฒนธรรมการทำงานหนักแบบซ้ำซาก ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ สัปดาห์การทำงานสั้นลง ค่าจ้างสูงขึ้น และเกิดความหวังที่จะยุติการเสียชีวิตจากโรคคาโรชิ (ทำงานหนักจนตาย) ให้เกิดขึ้นจริง ในที่สุดการปฏิวัตินี้ก็เกิดขึ้นหลังจากเวลาหลายทศวรรษที่วัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่น เต็มไปด้วยชั่วโมงการทำงานที่หนักหน่วงและการเสียสละตนเอง
การปฏิวัติเงียบๆ เพื่อต่อต้านการทำงานหนักในสังคมญี่ปุ่นเกิดขึ้นมาสักพักแล้ว พนักงานคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ทำงานในจำนวนชั่วโมงน้อยลงกว่าที่เคยเป็นมาตั้งแต่ต้นศตวรรษนี้ ซึ่งจุดประกายความหวังว่าโรคคาโรชิ (การเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไป) อาจจะลดลงในที่สุด
ผ่านไป 20 กว่าปี ชั่วโมงทำงานของชาวญี่ปุ่นลดลง 8.3 ชั่วโมง
ตามผลการสำรวจของ ‘ทาคาชิ ซากาโมโตะ’ นักวิเคราะห์จากสถาบัน Recruit Works พบว่า ชั่วโมงการทำงานประจำปีในญี่ปุ่นลดลง 11.6% จาก 1,839 ชั่วโมงในปี 2543 เหลือ 1,626 ชั่วโมงในปี 2565 ซึ่งทำให้ชั่วโมงการทำงานญี่ปุ่นยืดหยุ่นขึ้นเทียบเคียงได้กับประเทศต่างๆ ในยุโรปหลายประเทศ
ขณะเดียวกันรายงานเรื่อง “The True Economy of Japan” ของ ซากาโมโตะ ที่เผยแพร่ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ก็ระบุว่า การลดลงนี้เห็นได้ชัดเจนที่สุดในกลุ่มวัยทำงานผู้ชายอายุ 20 ปี ซึ่งเคยทำงานเฉลี่ย 46.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในปี 2543 แต่ตอนนี้ชั่วโมงทำงานลดลงเหลือ 38.1 ชั่วโมงในปี 2566
“คนหนุ่มสาวตัดสินใจว่าพวกเขาไม่ต้องการเสียสละตนเองเพื่อบริษัท และฉันคิดว่านั่นเป็นเรื่องฉลาดทีเดียว” มาโกโตะ วาตานาเบะ อาจารย์ด้านการสื่อสารและสื่อจากมหาวิทยาลัยฮอกไกโดบุงเกียวให้ความเห็น
การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลของวิวัฒนาการทางสังคมที่ค่อยๆ ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น วิถีการทำงานของคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน และปฏิเสธที่จะยอมรับสภาพการทำงานที่เลวร้าย แตกต่างจากรุ่นพ่อแม่ที่ยอมทำงานหนักเป็นเวลานาน เพื่อแลกกับการสร้างเนื้อสร้างตัวและความมั่นคงในหน้าที่การงาน
สองทัศนคติแตกต่าง ทำงานหนัก=ได้เงินเยอะ VS ทำงานหนัก=โดนเอาเปรียบ
“ย้อนดูหน้าประวัติศาสตร์ในช่วงปี 2513 - 2523 หรือประมาณเมื่อ 40-50 ปีก่อน เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็ว ยิ่งมีคนทำงานมากขึ้นเท่าไร พวกเขาก็ยิ่งมีรายได้มากขึ้นเท่านั้น และหากคุณมีรายได้มาก นั่นก็ถือว่าคุ้มค่ากับการทำงานหนัก แต่ในยุคนี้ไม่ใช่แบบนั้นอีกต่อไปแล้ว” วาตานาเบะกล่าวกับ This Week in Asia
เขาสะท้อนความเห็นต่อทัศนคติที่แตกต่างของคนสองรุ่นอีกว่า “สำหรับคนรุ่นพ่อแม่ของผม ความคิดของพวกท่านคือ ยิ่งทำงานหนักขึ้นก็จะมีรายได้มากขึ้น แต่ทัศนคติของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันก็คือว่าถ้าพวกเขาทำงานหนัก พวกเขากำลังถูกบริษัทเอาเปรียบ”
อีกทั้งการขาดแคลนแรงงานในญี่ปุ่นในปัจจุบันยังทำให้พนักงานรุ่นใหม่มีข้อได้เปรียบมากกว่ายุคก่อน บริษัทต่างๆ ต้องการคนเก่งมาร่วมงานมากขึ้น HR มักจะมองหาแรงงานทักษะสูงตั้งแต่ยังไม่เรียนจบด้วยซ้ำ โดยหวังว่าจะได้คนเหล่านี้มาทำงานก่อนจะจบการศึกษา และสำหรับพนักงานที่รู้สึกว่างานล้นมือหรือไม่มีคุณค่า การหางานใหม่ก็ง่ายกว่าที่เคย
คนหนุ่มสาวจะไม่ยอมทนต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบจากบริษัท และพวกเขาจะลาออกได้ง่าย เพราะรู้ว่าในตลาดงานมักจะขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม หากพวกเขาเก่งพอก็จะสามารถหางานใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
เป้าหมายของคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่คือความมั่นคง ไม่ใช่ความทะเยอทะยาน
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นใน “อัตราเงินเดือนหรือค่าจ้าง” ด้วยเช่นกัน จากรายงานของซากาโมโตะ ระบุว่า แม้ว่าพนักงานในวัย 20 ปีจะมีชั่วโมงทำงานน้อยลงในยุคนี้ แต่กลับพบว่าอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้นถึง 25% นับตั้งแต่ปี 2543 ในขณะเดียวกันตามรายงานยังระบุด้วยว่า บริษัทต่างๆ เริ่มบังคับให้พนักงานทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งถือเป็นปัญหาเรื้อรังในสำนักงานของญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน
นักสังคมวิทยาอย่าง ‘อิซึมิ สึจิ’ จากมหาวิทยาลัยชูโอของโตเกียว ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มศึกษาเยาวชนญี่ปุ่น มองว่าเป้าหมายของคนทำงานรุ่นใหม่คือความมั่นคง ไม่ใช่ความทะเยอทะยาน “สถานการณ์โลกในขณะนี้ไม่มั่นคงจริงๆ” เขาย้ำ
“คนหนุ่มสาวพบว่าการมีความฝันเกี่ยวกับอนาคตเป็นเรื่องยาก พวกเขาจึงต้องการความมั่นคงในชีวิต ณ ปัจจุบันมากกว่า พวกเขาแค่ต้องการมีรายได้เพียงพอที่จะใช้ชีวิตได้อย่างสบาย จึงละทิ้งความทะเยอทะยานอันยิ่งใหญ่ของตัวเองไป”
จริยธรรมชุดใหม่นี้สร้างความหงุดหงิดให้กับวัยทำงานรุ่นเก่า ซึ่งสร้างอาชีพสร้างฐานะด้วยการทำงานหนักเสมอมา สึจิตั้งข้อสังเกตว่าผู้จัดการที่มีอายุ 50-60 ปี มักพูดถึงการต้องระมัดระวังในสำนักงาน เพื่อหลีกเลี่ยงพนักงานคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาบ่นเรื่องงานมากเกินไป
การลดชั่วโมงการทำงาน สร้างความหวัง ‘โรคคาโรชิลดลง’
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานที่ลดชั่วโมงทำงานน้อยลงอาจมีข้อดีตามมา เพราะที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเผชิญกับวิกฤตการณ์คาโรชิอย่างคงรุนแรง โดยมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานมากเกินไป โดยตามรายงานของรัฐบาลระบุว่า..
ในปี 2565 มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานมากถึง 2,968 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 1,935 รายในปี 2564
ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการสำหรับปี 2566 ประกอบด้วยผู้เสียชีวิต 54 รายจากปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการทำงานหนักเกินไป เช่น โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจวาย แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ายอดผู้เสียชีวิตที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านั้นมาก
อิซึมิ สึจิ สรุปทิ้งท้ายว่า โรคคาโรชิ (ตายจากการทำงานหนัก) เป็นปัญหาใหญ่มาเป็นเวลานานแล้ว จะดีมากหากตัวเลขลดลงเร็วๆ นี้ และหากคนหนุ่มสาวมีความสุขมากขึ้นเนื่องจากลดชั่วโมงการทำงานลง และมีสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวกับการทำงานที่ดีขึ้น อัตราการเกิดโรคคาโรชิที่ลดลงก็อาจเป็นจริงได้ในที่สุด