รายจ่าย” ครัวเรือนไทย”ไม่ลดตาม”เงินเฟ้อ” เฉลี่ยเดือนละ 2 หมื่นบาท

รายจ่าย” ครัวเรือนไทย”ไม่ลดตาม”เงินเฟ้อ” เฉลี่ยเดือนละ  2 หมื่นบาท

เงินเฟ้อไทยลดลงต่อเนื่อง หลังราคาพลังงานเริ่มปรับตัวลดลง แต่คนไทยยังต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนเดือนละกว่า 1.8 หมื่นบาท เผย “ค่าโดยสารสาธารณะ น้ำมันเชื้อเพลิง บริการโทรศัพท์มือถือ” ยังจ่าย สูงสุด 4,236 บาท “ตามด้วยค่าเช่าบ้าน วัสดุก่อสร้าง ค่าไฟ ก๊าซหุงต้ม 4 พันบาท

ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย หรือเงินเฟ้อ เดือนก.พ. 2566 เท่ากับ 108.05 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 104.10 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้น 3.79 % ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ซึ่งเงินเฟ้อไทยอยู่ในช่วงชะลอตัวตัว เป็นผลมาจากการชะลอตัวลงของราคาพลังงาน ที่สูงขึ้นเพียง 5.03 % ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 2 ปี  และคาดว่าเงินเฟ้อในเดือนมี.ค.จะลดลงอีก

ทัั้งนี้เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อในต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนม.ค.66) จะพบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำ เป็นอันดับที่ 29 จาก 139 ประเทศที่มีการประกาศตัวเลข ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อิตาลี เม็กซิโก อินเดีย และเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศในอาเซียน เช่น ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

หันมาดูค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนของประชาชน โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) พบว่า เดือนก.พ.66พบว่า เดือนก.พ.66 แม้รายจ่ายครัวเรือนลดลงเมื่อเทียบเดือนม.ค.66 แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 18,168 บาท จากเดือนม.ค.66 ที่ 18,190 บาท ขณะที่เดือนก.พ.65 มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามากเพียง 17,503 บาท

รายจ่าย” ครัวเรือนไทย”ไม่ลดตาม”เงินเฟ้อ” เฉลี่ยเดือนละ  2 หมื่นบาท

 

ทั้งๆ ที่เมื่อพิจารณาแนวโน้มการปรับขึ้นลงของราคาสินค้าและบริการเดือนก.พ.66 เทียบกับเดือนก.พ.65 และเดือนม.ค.66 รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) แล้ว พบว่า เดือนก.พ.66 ราคาสินค้าและบริการ รวมถึงดัชนีต่ำกว่าทั้ง 2 เดือนมาก เนื่องจากราคาพลังงานมีแนวโน้มลดลง  

โดยเดือนก.พ.66 ครัวเรือนใช้จ่ายซื้อสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ มากถึง 58.49% และสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ 41.51% ส่วนเดือนก.พ.65 สัดส่วนอยู่ที่ 59.26% และ 40.74% ตามลำดับ ขณะที่เมื่อแยกเป็นรายหมวดสินค้าเดือนก.พ.66 เทียบเดือนก.พ.65 พบว่า มีค่าใช้จ่ายค่าโดยสารสาธารณะ ค่าซื้อยานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ สูงสุดถึง 4,236 บาท จากเดือนก.พ.65 ที่ 4,135 บาท ตามด้วยค่าเช่าบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ในบ้าน 4,033 บาท จาก 3,913 บาท, เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ สัตว์น้ำ 1,756 บาท จาก 1,690 บาท  

ส่วนอาหารบริโภคในบ้าน (ดีลิเวอรี่) 1,632 บาท จาก 1,560 บาท, อาหารบริโภคนอกบ้าน (ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง เคเอฟซี พิซซา) 1,252 บาท จาก 1,200 บาท, ผักและผลไม้ 1,002 บาท จาก 873 บาท, ค่าแพทย์ ยา และบริการส่วนบุคคล 980 บาท จาก 961 บาท, ค่าหนังสือ สันทนาการ ค่าเล่าเรียน และการกุศลต่างๆ 761 บาท จาก 751 บาท, ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์ 675 บาท จาก 649 บาท

 เครื่องปรุงอาหาร 429 บาท 421 บาท, เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 399 บาท จาก 381 บาท, ไข่และผลิตภัณฑ์นม 392 บาท จาก 358 บาท, ค่าเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า 375 บาท จาก 374 บาท และค่าบุหรี่ เหล้า เบียร์ 241 บาท จาก 238 บาท  

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ค่าใช้จ่ายครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง มาจากราคาพลังงาน ที่แม้ปรับลดลง แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง และทำให้ค่าโดยสารสาธารณะปรับสูงขึ้น ทั้งค่าแท็กซี่ เรือ รถเมล์เล็ก/สองแถว เครื่องบิน, ค่าก๊าซหุงต้ม, ค่ากระแสไฟฟ้า ประกอบกับ ราคาสินค้าอาหารยังคงอยู่ในระดับสูงเกือบ โดยเฉพาะอาหารที่บริโภคทั้งในบ้าน และนอกบ้าน เช่น อาหารสำเร็จรูป กับข้าวสำเร็จรูป อาหารกลางวัน ข้าวราดแกง อาหารเช้า ซึ่งผู้ค้าปรับขึ้นโดยอ้างต้นทุนวัตถุดิบ ก๊าซหุงต้มสูงขึ้น แต่เมื่อต้นทุนวัตถุดิบลดลง ราคาขายก็ยังไม่ปรับลดลงตาม  

แม้ว่าราคาพลังงานจะลดลงแต่ยังอยู่ในระดับสูง และยังมีปัจจัยต่างๆร่วมกดดันอีกไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ และภัยแล้งทั้งในและต่างประเทศ ที่อาจส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก และจะส่งผลมายังราคาสินค้าและบริการของไทย ซึ่งอาจทำให้ภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนของไทยในเดือนมี.ค.66 ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป