สมอ. โชว์ผลงานครึ่งปีแรก ออกใบอนุญาต มอก. 8,308 ฉบับ เร่งเครื่องยกระดับ SME
สมอ. โชว์ผลงานครึ่งปีแรก ปี 66 บังคับใช้มาตรฐานเพื่อการคุ้มครองความปลอดภัยประชาชน 17 มาตรฐาน ออกใบอนุญาต มอก. 8,308 ฉบับ เดินหน้ากำหนด รับรอง มอก. เอส หวังยกระดับ SMEs ไทยให้มีมาตรฐานรับรอง สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค ตั้งเป้าออกมาตรฐาน มอก.เอส อีก 50 มาตรฐาน ภายในสิ้นปี
นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เผยผลการดำเนินงานของ สมอ. ครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. 2565– มี.ค. 2566) ได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จำนวนทั้งสิ้น 224 มาตรฐาน จากแผนที่ตั้งไว้ทั้งปี 250 มาตรฐาน โดย สมอ. ให้ความสำคัญกับมาตรฐานเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งได้ประกาศเป็นมาตรฐานควบคุมและมีผลบังคับใช้ในปี 2566 แล้วจำนวน 17 มาตรฐาน เช่น ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร ภาชนะเคลือบเทฟล่อน เครื่องฟอกอากาศ เครื่องนวดร่างกาย รวมปัจจุบันมีมาตรฐานที่ สมอ. ควบคุมแล้วจำนวน 141 มาตรฐาน
ในรอบครึ่งปีแรก สมอ. ออกใบอนุญาต มอก. ให้แก่ผู้ประกอบการไปแล้ว จำนวน 8,308 ฉบับ โดยผู้รับใบอนุญาตทุกรายจะต้องแสดง QR Code คู่กับเครื่องหมายมาตรฐาน เพื่อแสดงรายละเอียดข้อมูลในใบอนุญาต และข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบรายละเอียดของสินค้าและใช้เป็นข้อมูลในการร้องเรียนกรณีที่สินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
สำหรับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมผู้ทำ ผู้นำเข้า ที่ได้รับอนุญาตจาก สมอ. รวมทั้งควบคุมการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาด สมอ. ลงพื้นที่ตรวจโรงงาน รวมทั้งเฝ้าระวังการนำเข้าผ่านระบบ NSW และการตรวจติดตามการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ (E-Commerce)
โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมานี้ สามารถตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มูลค่ากว่า 34.4 ล้านบาท โดยเป็นกลุ่มสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด มูลค่าประมาณ 9.7 ล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่าประมาณ 9.5 ล้านบาท กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ มูลค่าประมาณ 8.2 ล้านบาท กลุ่มเหล็ก มูลค่าประมาณ 5.4 ล้านบาท และกลุ่มคอนกรีตและวัสดุก่อสร้าง มูลค่าประมาณ 1.6 ล้านบาท ตามลำดับ และดำเนินการตรวจสถานที่จำหน่าย 5,135 แห่ง ทั่วประเทศ
ด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการ สมอ. ดำเนินการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ร้านจำหน่าย และร้านค้ารายย่อย ให้มีความรู้ด้านการมาตรฐาน จำนวน 1,796 ราย กำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) จำนวน 28 มาตรฐาน จากแผนที่ตั้งไว้ทั้งปี 50 มาตรฐาน
โดยมีมาตรฐานที่เป็นไฮไลท์สำคัญ ได้แก่ การบริการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า (EV conversion) การบริการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การบริการสัตว์พาหนะเพื่อท่องเที่ยว เป็นต้น ดำเนินการให้การรับรองผู้ประกอบการ SMEs แล้ว จำนวน 185 ราย ในสาขาผลิตภัณฑ์ จำนวน 5 ราย เช่น แชมพูสมุนไพร และสาขาบริการ จำนวน 180 ราย เช่น การบริการติดฟิล์มรถยนต์ การบริการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ การบริการฝึกอบรม
รวมทั้งสร้างเครือข่ายในการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สมาคมส่งเสริมพัฒนาอาชีพเสริมสวยและช่างตัดผมไทย เพื่อพัฒนาอาชีพเสริมสวยและช่างตัดผมให้ได้มาตรฐานมอก.เอส เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังจัดสัมมนาให้ความรู้ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ เกี่ยวกับมาตรฐาน มอก. เอส กว่า 2,700 ราย กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จำนวน 30 มาตรฐาน จากแผนที่ตั้งไว้ทั้งปี 45 มาตรฐาน เช่น น้ำนมถั่วลันเตา ถั่วลูกไก่ผงชงดื่ม น้ำส้มจี๊ดเข้มข้น โกโก้พร้อมดื่ม ใบอ่อนข้าวหอมมะลิแห้งชงดื่ม และน้ำนมลูกประผง ชงดื่ม เป็นต้น และให้การรับรองผลิตภัณฑ์ชุมชนแล้ว จำนวน 493 ราย
ด้านการรับรองระบบงาน สมอ. ได้กำหนดมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช.) จำนวน 15 มาตรฐาน จากแผนที่ตั้งไว้ทั้งปี 25 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานฉลากสิ่งแวดล้อม มาตรฐานเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน มาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และการปกป้องความเป็นส่วนตัว มาตรฐานความปลอดภัยอาหารเป็นต้น โดยให้การรับรองระบบงานให้แก่ผู้ประกอบการแล้ว จำนวน 193 ราย
“สำหรับช่วงครึ่งหลังของปี สมอ. จะเร่งกำหนดมาตรฐานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ กำกับดูแลคุณภาพของสินค้าต่างๆให้มีคุณภาพและมีความปลอดภัยก่อนถึงมือประชาชน รวมทั้งขับเคลื่อนการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs และผู้ผลิตชุมชนอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เพราะถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้เจริญก้าวหน้า รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศ”