'สุชาติ' ฝากรัฐบาลใหม่ อยากฟื้นเศรษฐกิจประเทศ ต้องเข้าใจปัญหาเอสเอ็มอี
"สุชาติ" ย้ำ เศรษฐกิจไทยจะฟื้น เอสเอ็มอีต้องแข็งแรง แนะรัฐบาลใหม่ ทำตัวเป็นเอสเอ็มอี เพื่อเข้าใจบทบาท หารือกับทุกฝ่าย พร้อมตั้งกองทุนให้เอกชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน ย้ำนโยบายอัพสกิลแรงงาน ดันรายได้หนีกับดักค่าแรงขั้นต่ำ
นายสุชาติ ชมกลิ่น กรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรคการเมืองพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวเสวนาเรื่อง "วิสัยทัศน์การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย" ในงานประชุมสามัญประจำปี 2566 ภายใต้ธีมงาน "EMPOWERING THAI INDUSTRIES FOR POWERFUL THAILAND เสริมสร้างพลังอุตสาหกรรมไทย สู่ประเทศไทยที่แข็งแกร่ง ว่า โจทย์สำคัญที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กำหนดโดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องเห็นภาพและจับต้องได้นั้น ตัวอย่างวิกฤติโควิดที่ผ่านมา รัฐบาลได้เข้าไปช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมในทุกมิติ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 3.9 แสนราย โดยให้เงินสนับสนุนให้กับนายจ้างเพื่อพยุงโรงงานให้เดินต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือภาครัฐและเอกชนจะต้องมีการหารือและช่วยเหลือกัน เพื่อประคับประคองยอดการส่งออก ซึ่งในช่วงที่ประเทศมีปัญหาการส่งออกในไทยยังโต 17% ซึ่งเกิดจากนโยบายรัฐบาลที่รับฟังทุกคน ช่วงวิกฤติโควิดมีการปิดโรงงานมากมาย เหตุผลคือหายนะของเศรษฐกิจการส่ออก รัฐบาลสามารถชิงส่วนแบ่งการตลาดจากประเทศเพื่อนบ้านที่ซัพพลายเชนปิด ด้วยการหาตลาดส่งออกและลงนามเอ็มโอยูต่างๆ ส่งผลให้ปี 2565 จากการประชุมใหญ่สามัญภูมิภาค บริษัทต่าง ๆ สามารถแจกโบนัสประจำปีให้กับพนักงาน
"ปี 2565 ถือเป็นครั้งแรกที่อัตราการว่างงานต่ำสุดในโลก 1% มีการจ้างงานตั้งแต่ไตรมาส 1-4 ระดับล้านคน ดังนั้น อยากฝากถึงรัฐบาลหน้าจะต้องใกล้ชิดผู้ประกอบการ ซึ่งเอกชนเขาเก่งอยู่แล้ว หากสร้างเงือนไขเยอะเพื่อเอื้อต่อการทุจริตก็ต้องตัดออก การสนับสนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อไปดูแลลูกน้อง และหากตั้งกองทุนได้จะช่วยเยียวยาเอสเอ็มอีได้ เอสเอ็มอีมีที่ดินหลัก 50-100 ล้านบาท ดังนั้น รัฐที่จะเข้ามาต้องใส่ใจและเปลี่ยนตัวเองเป็นเอสเอ็มอี จะได้รู้ว่าเอสเอ็มอีต้องการอะไร อุตสาหกรรมต้องการอะไร แล้วจะเติบโตได้เอง"
สำหรับการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และนโยบายค่าแรงขั้นต่ำนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำควบคู่กับ ส.อ.ท.และหอการค้าทั่วประเทศ โดยแก้ปัญหาแทบทุกไตรมาส แรงงานที่ขาดแคลนคือแรงงานที่ไม่มีสกิล รัฐบาลได้แก้ไขตลอด คือ การเอ็มโอยู ถือเป็นเรื่องที่เพื่อนบ้านมีการสู้รบ การนำเข้ายากลำบาก จึงนำคนที่หลบหนีมาแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานก่อน เพื่อเติมส่วนที่ขาด ประเทศไทยโชคดีกว่าประเทศอื่นที่ไม่มีเพื่อนบ้าน แต่สิ่งที่ยังคงห่วงคือ หากเพื่อนบ้านพัฒนาการลงทุนสูงขึ้น ไทยจะเสียแรงงานตรงนี้ไป
"ในส่วนของการการปรับค่าแรงขั้นต่ำนั้น อยากให้ดูผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพแต่ละจังหวัด และหารือ 3 ฝ่าย จึงอยากให้เกิดจากการแข่งขันของนักลงทุน จะทำให้ค่าแรงปรับเองอัตโนมัติ เมื่อมีการแข่งขัน เศรษฐกิจโต จึงควรเน้นการอัพสกิลแรงงานผ่านการอบรมพัฒนาฝีมือจากกระทรวงแรงงาน เพื่อให้นายจ้างปรับฐานเงินเดือนและเราจะหนีกับดักค่าแรงขั้นต่ำ"