‘พิธา’ ชี้ภาคอุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนเป้าหมาย มุ่งเป็นซัพพลายเชนระดับโลก
‘พิธา’ เสนอนโยยบายภาคอุตสาหกรรมต้องกำหนดเป้าหมายใหม่ ยกระดับสู่อุตสาหกรรมไฮเทค มุ่งเป็นส่วนหนึ่งของซัพลลายเชนระดับโลก สร้างแต้มต่อดึงการลงทุนเข้าประเทศ ด้วยเงินอุดหนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวในการเสวนาเรื่อง "วิสัยทัศน์การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย" ในงานประชุมสามัญประจำปี 2566 จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ภายใต้ธีม "EMPOWERING THAI INDUSTRIES FOR POWERFUL THAILAND เสริมสร้างพลังอุตสาหกรรมไทย สู่ประเทศไทยที่แข็งแกร่ง" ว่า นโยบายอุตสาหกรรมก้าวหน้าของพรรคก้าวไกลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กับอุตสาหกรรมไทย มี 3 สาระสำคัญ ประกอบด้วย
การกำหนดเป้าหมาย การยกระดับและเพิ่มขีดความสามมารถอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวไปสู่ไฮทัช-ไฮเทคโนโลยี จากช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาที่ไทยยังไม่สามารถส่งออกเทคโนโลยีระดับสูงได้ โดยอุตสาหกรรมไทยจะต้องมีการพัฒนาดิจิทัลและดีไซน์ร่วมด้วย
ทั้งนี้ เมื่อเป้าหมายเราชัด ทิศทางในการพัฒนาจะต้องเปลี่ยนจาก Made in Thailand เป็น Made with Thailand เพื่อให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นซัพพลายเชนระดับโลก การผลิตของไทยจะเป็น Supply-base โดยปัจจัยการผลิตต้องมองถึงอนาคตที่เปลี่ยนจากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นเป็นอุตสาหกรรมที่คนทำงานร่วมกับเครื่องจักร เพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณค่ามากกว่าสินค้าที่ราคาถูก
โดยพรรคก้าวไกลเสนอ 4 นโยบายยกระดับขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วย การปรับกฎระเบียบภาครัฐสนับสนุนการเรียนอาชีวะและสายอาชีพฟรี การเปิดตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี การแก้ไขคอร์รัปชันด้วยระบบเอไอจับโกง
"ทั้งนี้ ในปัจจุบันมูลค่าการลงทุนในเวียดนามมากกว่าไทยเป็นเท่าตัว โดยปัญหาหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขดังกล่าวคือปัญหาการคอร์รัปชั่น โดยสมการประกอบให้เกิดการคอร์รัปชั่นประกอบด้วย ดุลพินิจ กฎหมายในการขออนุญาตประกอบธุรกิจ การผูกขาดข้อมูล ของการประมูลโครงการที่มีปัญหา และการขาดการรับผิดรับชอบ"
นอกจากนี้ การดึงดูดการลงทุนไม่ได้เป็นเรื่องของกลไกทางภาษีอีกต่อไป เนื่องจากในปี 2564 มีการความร่วมมือในเรื่อง global minimum tax 15% ซึ่งแต้มต่อเรื่องภาษี โครงสร้างพื้นฐานและตลาดในประเทศไม่สามารถพัฒนาได้เร็วพอ โดยวิธีที่ไทยจะแข่งขันได้คือการเลือกเป้าหมายอุตสาหกรรมที่ไทยต้องการและสามารถแข่งขันในภูมิภาคได้ โดยให้เงินอุดหนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท