ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ปัจจัยเสี่ยงที่ “ยัง” ไม่ควรถูกมองข้าม
ในช่วงต้นปี 2566 ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยลดลง หลังจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
และผลสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์โดยส่วนใหญ่โดย Bloomberg ที่ให้โอกาสของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้าลดลงในประเทศเศรษฐกิจ
ประมาณการเศรษฐกิจ โดย IMF และโอกาสที่ประเทศเศรษฐกิจหลักจะเข้าสู่ภาวะถดถอย
ที่มา: IMF World Economic Outlook เดือนม.ค. 2566 และ Bloomberg Consensus วันที่ 17 มีนาคม 2566
ยังมีความกังวลว่า อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมาย ทำให้ธนาคารกลางต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง ปัญหาเสถียรภาพของธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป และปัญหาความไม่สงบเชิงภูมิรัฐศาสตร์ อาจจะเป็น
ตัวเร่งให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเร็วขึ้นก็เป็นได้
ดังนั้น จึงยังต้องติดตามสัญญาณทางการเงินและเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจที่อาจส่งสัญญาณเตือนถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยจะพิจารณาที่ประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลก ได้แก่
1.Inverted Yield Curve คือ ปรากฎการณ์ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น เมื่อนักลงทุนมีความกังวลว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวและภาวะตลาดมีความผันผวนรุนแรง จะเพิ่มการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวมากกว่าปกติ
จึงทำให้เกิดภาวะ Inverted Yield Curve ข้อมูลปัจจุบัน ณ วันที่ 17 มี.ค. 2566 ส่วนต่างระห่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปี กับ 2 ปี ติดลบ 0.42% โดยเริ่มติดลบตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ในขณะที่ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปี กับ 3 เดือน ติดลบ1.13% โดยเริ่มติดลบตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค. 2565 ซึ่งอาจจะยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะใกล้นี้ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
ส่วนต่างระห่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปี กับ 2 ปี และ 10 ปี กับ 3 เดือน
ที่มา: St. Louis Fed ณ วันที่ 17 มีนาคม 2566
2.High Yield Credit Spread คือ ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) กับพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากตราสารหนี้ประเภทนี้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ (Below Investment Grade) หรือไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated) พบได้มากในประเทศสหรัฐฯ
เมื่อส่วนต่างนี้กว้างขึ้น บริษัทย่อมมีต้นทุนทางการเงินมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณา High-Yield Credit Spread ควบคู่กับภาวะ Inverted Yield Curve ระดับในปัจจุบัน ยังไม่สะท้อนถึงความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะสั้น จากข้อมูลในอดีตเมื่อส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) กับพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นมากกว่า 5.00% และยังคงสูงต่อเนื่องจะนำไปสู่สัญญาณเศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย
3.ดัชนีนำเศรษฐกิจ (Leading Indicator) ในที่นี้จะพิจารณาถึง The Conference Board’s Leading Economic Indicators (LEI) ของสหรัฐฯ ที่ออกแบบมาเพื่อพิจารณาสัญญาณจุดสูงสุดและจุดต่ำสุดของวัฎจักรเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งสัญญาณล่วงหน้า 7 เดือน
ข้อมูลล่าสุดพบว่าการเปลี่ยนแปลงของดัชนีนำเศรษฐกิจลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 และค่าการเปลี่ยนแปลงติดลบมากกว่า -3.5% นับตั้งแต่เดือนเดือนสิงหาคม 2565 ถึงกุมภาพันธ์ 2566 เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
ดัชนีนำเศรษฐกิจสหรัฐฯ (Conference Board Leading Indicators)
4.ตลาดแรงงาน เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย การจ้างงานจะลดลง อัตราการว่างงานจะสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้ภาวะตลาดแรงงานโดยส่วนใหญ่จะเป็นดัชนีตามเศรษฐกิจ นั่นหมายความว่า เมื่อเศรษฐกิจถดถอยแล้วจึงจะเกิดอัตราการว่างงานสูง ดังนั้น จึงอาจเป็นเพียงสิ่งยืนยันว่าได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว หากพิจารณาถึงตลาดแรงงานในสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง ยังเป็นปัจจัยที่สนับสนุนเศรษฐกิจในปัจจุบัน
จากข้อมูลข้างต้นเครื่องชี้สภาวะเศรษฐกิจและการเงินบางส่วนได้ชี้นำถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แม้ว่าตลาดแรงงานจะยังแข็งแกร่งมาก แต่หากดอกเบี้ยสูงขึ้นจนกระทบต่อต้นทุนภาคธุรกิจสูงขึ้นจนส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท อาจจะนำไปสู่การลดต้นทุนโดยการเลิกจ้างงานในที่สุด
ในขณะเดียวกันหากปัญหาสภาพคล่องทางการเงินตึงตัวมากย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจในที่สุด ดังนั้น การเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นด้วยการติดตามข้อมูลเศรษฐกิจและการเงินอย่างใกล้ชิด รับรู้ข่าวสารและข้อมูลให้ถี่ถ้วนเพื่อที่จะวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้น จะช่วยนักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนและลดความเสี่ยงในการลงทุน