'ชโยทิต' เผย 'รทสช.'สร้างรายได้ให้ประเทศ 4 ล้านล้านใน 3 ปี ชูพลังงานสะอาด - BCG

'ชโยทิต' เผย 'รทสช.'สร้างรายได้ให้ประเทศ 4 ล้านล้านใน 3 ปี ชูพลังงานสะอาด - BCG

ชโยทิต เปิดแผนสร้างรายได้ประเทศ 4 ล้านล้าน นโยบายรวมไทยสร้างชาติ เดินหน้าพลังงานสะอาดในเขตเศรษฐกิจ 4 ภาค ดันBCG สร้างรายได้ใหม่ พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายคนละครึ่งต่อเนื่อง แย้มทำบนแผนวินัยการคลัง

วันนี้ (30 มี.ค.) ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ร่วมเวทีตอบคำถามจากภาคธุรกิจ พร้อมนำเสนอนโยบาย ในงานเสวนา “มุมมองของภาคธุรกิจต่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศ” ซึ่งจัดขึ้นโดยหอการค้าไทย โดยมีตัวแทนภาคธุรกิจ เอกชน ทั่วประเทศ และตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วม

ม.ล.ชโยทิตกล่าวว่าพรรค รทสช.ตั้งเป้าในการสร้างรายได้เพิ่มให้กับประเทศไทย 4 ล้านล้านบาทในระยะเวลา 2 – 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการต่อยอดจากสิ่งที่ทำแล้ว และทำอยู่ในปัจจุบัน โดยประเทศไทยนั้นถือว่ามีข้อได้เปรียบในเรื่องของสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีความเข้มแข็ง และได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้าน

โดยสิ่งที่จะเสริมเข้ามาก็คือเรื่องของการลดคาร์บอนไดออกไซด์ การทำเรื่องพลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อให้บริษัทที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยซึ่งต้องการพลังงานสะอาดนั้นเข้ามาลงทุนมากขึ้น ซึ่งต่อไปจะเห็นนโยบายการผลักดัน เขตระเบียงเศรษฐกิจ4ภาค ที่จะทำพลังงานสะอาดเพื่อส่งเสริมการลงทุนที่เข้ากับเทรนด์โลก ควบคู่กับการส่งเสริมเรื่องของ BCG

ที่ผ่านมามีบริษัทชั้นนำเข้ามาลงทุนในไทยจากนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมพลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ในเรื่องของการลงทุนของ ค่ายรถ EV

และการลงทุนของดาต้าเซนเตอร์ ที่เข้ามาลงทุนในดิจิตอลแพลตฟอร์มในประเทศไทยทั้ง Google และ AWS นอกจากนี้ภายในปีนี้บริษัทที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ต้นน้ำจะเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยและในสิ้นปีนี้จะเริ่มก่อสร้างถือว่าเป็นผลสำเร็จในการดึงลงทุน

นอกจากนั้นแนวนโยบายในเรื่องของการผลักดันวีซ่า LTR ให้ต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย เพื่อเพิ่มกำลังซื้อของประเทศในอนาคตก็จะเดินหน้าต่อเนื่อง

ส่วนเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะทำต่อเนื่องจะทำเรื่องของคนละครึ่งและช็อปดีมีคืนต่อไปแต่จะต้องทำในเรื่องของวินัยการคลังควบคู่กันไปด้วย

สำหรับเรื่องของการต่างประเทศที่จะทำในเรื่องของการส่งเสริมการเจรจาเอฟทีเอจะล่าช้าไปบ้างเนื่องจากจะต้องมีการเจรจาให้ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะในเรื่องของเกษตรกรรมตอนนี้เราได้ทำในเรื่องของการคุยระหว่างชาติสมาชิกเอเปก และOECD ในการขอกรีนเลนส์ และโลจิสติกส์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประเทศไทยแล้ว