Deglobalization กับเศรษฐกิจไทย | ดอน นาครทรรพ
ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา คำว่า deglobalization หรือการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ ได้รับการกล่าวถึงค่อนข้างมาก ในแง่ที่เป็นความเสี่ยงสำคัญต่ออนาคตของเศรษฐกิจไทย
โดยเฉพาะหลังจากที่สหรัฐซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่หนึ่งของโลก สนับสนุนให้บริษัทสัญชาติอเมริกันกลับมาผลิตสินค้าในประเทศ (reshoring) และกีดกันการค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าจากจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่สอง
และยิ่งวิกฤติโควิด-19 และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตอกย้ำว่า การพึ่งพาการผลิตระหว่างประเทศมากเกินไปเป็นเรื่องที่อันตราย
ยิ่งทำให้หลายประเทศพูดถึงการใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง หรือ inward looking policy มากขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นข่าวลบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งอาศัยกระแสโลกาภิวัตน์ในการขับเคลื่อนในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา
เมื่อพูดถึง deglobalization ข้อมูลหนึ่งที่มักถูกนำไปใช้อ้างอิง คือ สัดส่วนมูลค่าการค้าสินค้าโลก (มูลค่าการส่งออกสินค้าบวกกับมูลค่าการนำเข้าสินค้า) ต่อจีดีพีโลก
ซึ่งหลังจากทำสถิติสูงสุดในปี 2551 ปีเดียวกันกับที่เกิดวิกฤติการเงินโลก ก็ไม่เคยกลับไปจุดนั้นได้อีกเลย
อย่างไรก็ดี ยังมีข้อถกเถียงกันว่า โลกกำลังทวนกระแสโลกาภิวัตน์จริงหรือไม่ ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว ศาสตราจารย์ Richard Baldwin จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เขียนบทความเรื่อง The Peak Globalization Myth ถึง 4 ตอนลงใน VoxEU เพื่ออธิบายว่า
การนำตัวเลขสัดส่วนการค้าโลกต่อจีดีพีโลกที่โน้มลดลงมาหลังจากทำสถิติสูงสุดในปี 2551 ไป สรุปว่าโลกกำลังทวนกระแสโลกาภิวัตน์นั้น เป็นการมองภาพที่ไม่ครบ
เนื่องจากความเชื่อมโยงกันผ่านการค้าสินค้า เป็นแค่มิติหนึ่งของโลกาภิวัตน์เท่านั้น
กระแสโลกาภิวัตน์ยังเดินไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นความเชื่อมโยงกันผ่านการค้าบริการมากขึ้น (การท่องเที่ยว การขนส่ง บริการทางการเงินระหว่างประเทศ เป็นต้น)
นอกจากนี้ การค้าสินค้าเอง (ไม่เทียบเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีโลก) ก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แค่ขยายตัวชะลอตัวลงตามธรรมชาติ เนื่องจากเร่งตัวไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า ซึ่งสอดคล้องกับข้อสรุปของนักวิเคราะห์หลายคนที่ว่า
เราไม่ควรเรียกภาวะในปัจจุบันว่าเป็น “deglobalization” คำที่เหมาะสมกว่าคือ “slowbalization” หรือการชะลอตัวของโลกาภิวัตน์
ประเด็นคือ สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นเศรษฐกิจเปิด พึ่งพาการส่งออกสินค้าสูง ถึงเป็นแค่ slowbalization ก็เป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยอยู่ดี
หากทั่วโลกมีการค้าขายระหว่างกันลดลง การส่งออกสินค้าของไทยย่อมลดลงตาม ยกเว้นเสียแต่ว่าเราจะสามารถกินส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้นในระดับที่สามารถชดเชยผลของการค้าโลกที่ลดลงได้
ผมขอยกตัวเลขเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ระหว่างปี 2551-2564 มูลค่าการค้าโลกขยายตัวเฉลี่ย 4.2% ต่อปี ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในรูปของเงินดอลลาร์ขยายตัวเฉลี่ย 4.7% ต่อปี
ตัวเลขนี้ลดลงค่อนข้างมากจากช่วงปี 2541-2550 ที่การค้าโลกและการส่งออกสินค้าไทยขยายตัวโดยเฉลี่ย 9.9% และ 10.7% ต่อปี ตามลำดับ
มองไปข้างหน้า ผมยังไม่เห็นเลยว่าการค้าโลกจะขยายตัว (โดยเฉลี่ย) ได้สูงกว่าที่เห็นในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาได้อย่างไร ซึ่งจะเป็นความท้าทายอย่างมากของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากการส่งออกสินค้ามีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มในจีดีพีสูงที่สุดในเครื่องยนต์เศรษฐกิจทั้งหมด
นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ว่า deglobalization/slowbalization และแนวโน้มการแบ่งแยกของห่วงโซ่การผลิตโลก ที่สืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน จะส่งผลให้เงินเฟ้อโลกสูงกว่าในอดีต จากการประหยัดต่อขนาดที่ลดลง และมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ
อย่างไรก็ดี สำหรับเศรษฐกิจไทยแล้ว ผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจากการค้าโลกที่ชะลอลง น่ากังวลมากกว่าผลต่อเงินเฟ้อไทยที่มาจากเงินเฟ้อโลกมาก
แล้วเราควรรับมืออย่างไร ผมคิดว่ามี 4 อย่างที่เราควรตั้งเป้าและพยายามทำให้ได้ครับ
(1) เพิ่มสัดส่วนของการส่งออกสินค้าไทยในตลาดโลก เพื่อชดเชยอัตราการขยายตัวที่ต่ำของการค้าโลก โดยการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยในตลาดโลก
รวมถึงการหา product champion ใหม่ๆ ในเรื่องนี้ ผมว่าที่ผ่านมาภาคส่งออกไทยทำได้ดีกว่าที่หลายคนคิดมาก
ท่ามกลางข่าวการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของสินค้าบางประเภท ส่วนแบ่งตลาดของการส่งออกสินค้าไทยในตลาดโลกในปี 2564 ที่ 1.2% ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนวิกฤติการเงินโลกที่ 1.1% (ข้อมูลจากธนาคารโลก)
สะท้อนให้เห็นว่า การขยายตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยที่ต่ำกว่าในอดีต ไม่ได้เกิดจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันโดยรวม แต่มาจากการค้าโลกที่ชะลอลงเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ถ้าจะคาดหวังให้อัตราการขยายตัวเฉลี่ยของการส่งออกไทยในอนาคตสูงกว่า 5% ต่อปี เราคงจะต้องพยายามเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้มากขึ้นไปอีก เพื่อเป็นการเปรียบเทียบ ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนแบ่งในตลาดโลกของเวียดนามเพิ่มขึ้นจาก 0.3% เป็น 1.5%
(2) ใช้โอกาสดึงดูดการลงทุนจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนในทุกวิกฤติมีโอกาส
ในฐานะประเทศที่เป็นกลาง ไทยควรใช้โอกาสของแนวโน้มการแตกออกของห่วงโซ่การผลิตโลกในการดึงดูดการลงทุนจากทั้งสองขั้ว
ถ้า friendshoring (การเลือกแหล่งผลิตและการหา supply ในประเทศพันธมิตร) จะกลายเป็นกฎกติกาใหม่ในการค้าระหว่างประเทศ
เราก็ต้องพยายามเป็นพันธมิตรกับทั้งสองประเทศ และทำตัวให้เป็นที่ดึงดูดการลงทุน ซึ่งไม่เพียงจะช่วยเพิ่มการลงทุนในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำเตี้ยมายาวนาน แต่ยังช่วยเพิ่มการส่งออกสินค้าในข้อ 1 อีกด้วย
(3) สร้างความยั่งยืนของการท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งเป็นอีกเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญที่เชื่อมโยงกับโลกาภิวัตน์ โดยการเน้นคุณภาพ (รายจ่ายต่อหัว) ของนักท่องเที่ยวมากกว่าปริมาณนักท่องเที่ยว และการดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติในระยะสั้น
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงส์จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่จะช่วยชดเชยการชะลอตัวของการส่งออกสินค้า ซึ่งภายใน 5 ปีข้างหน้า อาจเพิ่มมากถึง 50 ล้านคนต่อปีได้
อย่างไรก็ดี จากงานศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในปี 2559 นักท่องเที่ยวในจำนวนที่มากขนาดนั้นสามารถสร้างความเสียหายถาวรให้กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นจุดขายของการท่องเที่ยวไทยได้ (เกิน environmental carrying capacity) หากไม่มียุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการที่ดี
(4) กระจายความเสี่ยงไปสู่การส่งออกบริการอื่นที่มิใช่การท่องเที่ยว บทเรียนสำคัญจากวิกฤติโควิด-19 คือ การพึ่งพาเครื่องยนต์เศรษฐกิจเครื่องยนต์ใดเครื่องยนต์หนึ่งมากเกินไปมีความเสี่ยง
ศาสตราจารย์ Baldwin ทิ้งท้ายในบทความ The Peak Globalization Myth ตอนที่ 4 ว่า อนาคตของโลกาภิวัตน์อยู่ที่ภาคบริการ ซึ่งไม่ได้มีแค่การท่องเที่ยว แต่ยังรวมบริการอื่นๆ
เช่น บริการด้านการเงิน บริการด้านไอที และการให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งหลายบริการเติบโตเร็วมากจากการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัลไร้พรมแดน
ทั้ง 4 ข้อนี้ ไม่มีข้อไหนง่ายแต่อยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้ หากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันอย่างจริงจังครับ.
ที่มา : วารสารพระสยาม