เมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ความไม่แน่นอนครั้งใหญ่ | บัณฑิต นิจถาวร

เมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ความไม่แน่นอนครั้งใหญ่ | บัณฑิต นิจถาวร

อาทิตย์ที่แล้ว ผมได้รับคําถามค่อนข้างมากทั้งจากสื่อและนักลงทุน เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกขณะนี้และผลที่จะมีต่อไทย รวมทั้งสิ่งที่รัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งควรให้ความสําคัญเพื่อการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งหมดเป็นคําถามสําคัญ จึงขอนำความเห็นที่ผมได้ให้ไปในประเด็นเหล่านี้มาแชร์ให้แฟนคอลัมน์"เศรษฐศาสตร์บัณฑิต"ทราบในบทความวันนี้

เศรษฐกิจโลกขณะนี้มีความไม่แน่นอนมาก และไม่มีใคร ไม่ว่าจะเป็น นักวิเคราะห์ นักลงทุนหรือผู้ทํานโยบาย ที่สามารถตอบได้อย่างมั่นใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลกช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า

ความไม่แน่นอนที่มีมากนี้ เป็นผลจากสามปัจจัยที่กําลังกระทบเศรษฐกิจโลกอย่างสําคัญ และไม่สามารถบอกได้ว่าแต่ละปัจจัยจะจบหรือไปต่ออย่างไร จะกระทบเศรษฐกิจโลกมากขึ้นแค่ไหน

อีกทั้งไม่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศหลักเข้มแข็งพอหรือไม่ที่จะป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจโลกเกิดปัญหาหรือเกิดวิกฤติใหญ่ตามมา สามปัจจัยที่ว่านี้คือ

1. การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ที่กระทบไปทั่วโลก ทั้งความเป็นอยู่ของประชาชน ต้นทุนการผลิต ความสามารถในการทํากําไรของภาคธุรกิจและธนาคารพาณิชย์ ราคาสินทรัพย์ และการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ ครัวเรือน และภาครัฐ

หนึ่งปีหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกชะลอและฐานะการเงินของหลายภาคส่วนอ่อนแอลง คําถามคือ อัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอีกเท่าไร และถ้าไปต่อ จะผลักดันเศรษฐกิจโลกให้เข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่

2. ภาวะการเงิน คือ ความไม่มั่นใจว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นบวกกับความระมัดระวังมากขึ้นของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ ที่โยงกับปัญหาสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐและยุโรปเดือนที่แล้ว

จะทําให้เศรษฐกิจโลกเกิดภาวะสินเชื่อตึงตัวหรือ credit crunch หรือไม่

เมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ความไม่แน่นอนครั้งใหญ่ | บัณฑิต นิจถาวร

หมายถึง ภาวะที่สินเชื่อหายากเพราะแบงค์ระวังในการให้สินเชื่อ ไม่ปล่อยกู้ง่ายๆ ทําให้ธุรกิจถูกกระทบ เกิดปัญหาสภาพคล่อง ธุรกิจไม่สามารถไปต่อได้ เกิดปัญหาหนี้เสียกว้างขวาง ซ้ำเติมให้ความเสี่ยงที่จะเกิดทั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอยและวิกฤติทางการเงินยิ่งเพิ่มมากขึ้น

3. ภูมิศาสตร์การเมือง สงคราม และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน ที่เพิ่มความไม่แน่นอนและความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจโลก

ทำให้ราคาสินค้า พลังงาน อาหาร วัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น เงินเฟ้อทั่วโลกเพิ่มขึ้น การค้าโลกถูกกระทบ ความผันผวนในตลาดการเงินมีต่อเนื่อง

และไม่มีใครบอกได้ว่าสถานการณ์เหล่านี้จะไปต่ออย่างไร 6-12 เดือนข้างหน้า จะมีจุดอ่อนไหวในการเมืองโลกเพิ่มขึ้นหรือไม่ เป็นความไม่แน่นอนที่กระทบความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและนักลงทุนเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก

นี่คือความไม่แน่นอนที่เศรษฐกิจโลกมี เป็นความไม่แน่นอนที่กําลังส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจโลกทั้งในเรื่องการเติบโตและเสถียรภาพ

ล่าสุด ธนาคารโลกได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงเหลือร้อยละ 1.7 ซึ่งตํ่ามาก และยกระดับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย

แต่นอกจากเศรษฐกิจถดถอย อีกความเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลที่จะมีต่อความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศที่มีหนี้มากจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย

เมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ความไม่แน่นอนครั้งใหญ่ | บัณฑิต นิจถาวร

ที่น่าห่วงเพราะปีที่แล้วประเทศตลาดเกิดใหม่มีหนี้รวมกันมากกว่า 2.5 เท่าของรายได้ประชาชาติซึ่งสูงมาก ขณะที่ภาระชำระหนี้ของประเทศหลักอย่างสหรัฐและญี่ปุ่น ที่มีหนี้สาธารณะมากก็จะอ่อนไหวในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

ซึ่งอาจกระทบเสถียรภาพการคลัง รวมทั้งเร่งความห่วงใยของนักลงทุนต่อการเกิดวิกฤติ เพราะในสายตานักลงทุน วิกฤติเศรษฐกิจกับความสามารถในการชำระหนี้มักเป็นเรื่องเดียวกัน

เป็นอีกมิติที่ทำให้ความไม่แน่นอนและความเสี่ยงในเศรษฐกิจโลกมีมากขณะนี้

สำหรับเอเชีย ในภาพรวมเศรษฐกิจเอเชียยังดูดีในแง่ความสามารถในการขยายตัว ถ้าเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือเกิดปัญหา

เพราะความเข้มแข็งของกําลังซื้อ หรือการใช้จ่ายในประเทศที่จะสามารถพยุงเศรษฐกิจภูมิภาคให้ไปต่อได้ ถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอมากหรือเกิดภาวะถดถอย รวมถึงการค้าขายระหว่างกันของประเทศในภูมิภาค

เพราะจีนมีความเข้มแข็งของกําลังซื้อของชนชั้นกลางที่จะใช้จ่าย ขณะที่ประเทศอย่าง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มีการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันใหม่ให้กับประเทศ เข้ามาสนับสนุนให้การใช้จ่ายขยายตัว

เมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ความไม่แน่นอนครั้งใหญ่ | บัณฑิต นิจถาวร

ประเทศอย่างอินเดียและอินโดนีเซียก็ได้ประโยชน์ทั้งจากการเติบโตของกําลังซื้อเพื่อการบริโภคของคนในประเทศ และการลงทุนของภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างสินค้าหรือฐานรายได้ใหม่ให้กับประเทศ เช่น รถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซีย ทําให้ประเทศเหล่านี้มีศักยภาพที่จะเติบโตแม้เศรษฐกิจโลกถดถอย

สําหรับไทย เราจะมีความท้าทายมากถ้าเศรษฐกิจโลกแย่ลงเพราะเราพึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยวมาก ไม่มีกําลังซื้อในประเทศที่เข้มแข็ง ไม่มีการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ของภาครัฐและเอกชน

ไม่มีการปรับตัวเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต ไม่มีการสร้างอุตสาหกรรมหรือสินค้าใหม่ที่จะเป็นฐานสร้างรายได้ให้กับประเทศในอนาคต

ไม่ว่าจะเป็น การปรับไปสู่การใช้พลังงานสะอาด หรือวางตำแหน่งประเทศในความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน เพื่อหาประโยชน์จากการย้ายห่วงโซ่การผลิตของบริษัทธุรกิจทั่วโลก

นี่คือความท้าทายที่ประเทศเรามี เป็นโจทย์ที่รัฐบาลใหม่ต้องขับเคลื่อนเพื่อให้เศรษฐกิจไทยอยู่รอดจากความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นและสามารถไปต่อได้ทัดเทียมประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค.

เมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ความไม่แน่นอนครั้งใหญ่ | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]