ผวาน้ำมันดิบ 100 ดอลลาร์ ‘พลังงาน’ หวั่นราคาในประเทศพุ่งรอบใหม่
ทั่วโลกจับตา “โอเปค” ลดกำลังผลิตน้ำมันดิบวันละ 1.16 ล้านบาร์เรล นักวิเคราะห์หวั่นราคาแตะ 100 ดอลลาร์ “พลังงาน” เกาะติด ชี้ขึ้นอีก 10 ดอลลาร์ ดันราคาลิตรละ 2 บาท แต่ยังพยุงาได้ หลังติดลบเหลือ 9.1 หมื่นล้าน พร้อมกู้เงินก้อนที่ 2 อีก 80,000 ล้าน เผยลดราคาดีเซลรอบ 4 เหลือ 33 บาท
key Points
- โอเปคพลัส เตรียมลดกำลังการผลิตลงวันละ 1.16 ล้านบาร์เรล ทำให้ทั่วโลกจับตาดูอย่างใกล้ชิด
- นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบขึ้นรอบนี้อาจสูงถึงบาร์เรลละ 100 ดอลลาร์
- กระทรวงพลังงานเตรียมจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะจะมีผลต่อราคาในประเทศ
- กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสถานะติดลบ 90,000 ล้านบาท แต่ยังมีวงเงินกู้เหลือดูแลราคาน้ำมันได้
ซาอุดีอาระเบียและผู้ผลิตน้ำมันในกลุ่มโอเปคพลัสรายอื่นๆ ช็อกโลก ประกาศลดกำลังการผลิตราว 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานว่า เมื่อวันอาทิตย์ (2 เม.ย.) กลุ่มประเทศส่งออกน้ำมัน (โอเปค) และพันธมิตรประกอบด้วยรัสเซียและอื่นๆ ในนาม โอเปคพลัส ประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันอีกราว 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมเป็น 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 3.7% ของความต้องการน้ำมันโลก
คำประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นหนึ่งวันก่อนการประชุมเสมือนจริงของรัฐมนตรีโอเปคพลัส ซึ่งมีซาอุดีอาระเบียและรัสเซียด้วย ที่คาดว่าจะลดเพดานการผลิต 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ถึงสิ้นปีนี้ หลังจากเดือนก่อนราคาน้ำมันลดลงสู่ระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน จากความกังวลว่าวิกฤติธนาคารโลกอาจบั่นทอนความต้องการ แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าโอเปคพลัสจะลดการผลิตอีก
ด้านรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนของหรัฐ มองความเคลื่อนไหวล่าสุดจากโอเปคพลัสว่าไม่ฉลาด เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำในเวลานี้เนื่องจากตลาดยังไม่แน่นอน
การสมัครใจลดการผลิตจะเริ่มต้นขึ้นในเดือน พ.ค.ถึงสิ้นปีนี้ ซาอุดีอาระเบียผู้ผลิตน้ำมันมากที่สุดของโอเปค เตรียมลดการผลิต 500,000 บาร์เรลต่อวัน
กระทรวงพลังงานเผยว่า ซาอุดีอาระเบียสมัครใจทำเช่นนี้เป็นมาตรการเตรียมการเพื่อหนุนเสถียรภาพตลาดน้ำมัน ขณะที่อิรักลด 211,000 บาร์เรลต่อวัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 144,000 บาร์เรลต่อวัน คูเวต 128,000 บาร์เรลต่อวัน โอมาน 40,000 บาร์เรลต่อวัน แอลจีเรีย 48,000 บาร์เรลต่อวัน คาซัคสถาน 78,000 บาร์เรลต่อวัน
ในวันเดียวกัน รองนายกรัฐมนตรีอเล็กซานเดอร์ โนวัคของรัสเซีย กล่าวว่า รัฐบาลมอสโกจะขยายการลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจวันละ 500,000 บาร์เรล ไปถึงสิ้นปีนี้ ตามที่ประกาศฝ่ายเดียวเมื่อเดือน ก.พ.ตอบโต้การควบคุมเพดานราคาของชาติตะวันตก
แหล่งข่าวโอเปกพลัสรายหนึ่งเผยว่า กาบองจะสมัครใจลดด้วยวันละ 8,000 บาร์เรล แต่ใช่ว่าสมาชิกทุกประเทศจะร่วมด้วยทั้งหมดเพราะบางประเทศผลิตน้ำมันได้ต่ำกว่าระดับที่ตกลงกันไว้เพราะไม่มีศักยภาพการผลิต
ทั้งนี้ ตอนที่รัสเซียลดการผลิตฝ่ายเดียวทางการสหรัฐกล่าวว่า ความเป็นพันธมิตรระหว่างรัสเซียกับสมาชิกโอเปครายอื่นอ่อนแอลง แต่ความเคลื่อนไหวเมื่อวันอาทิตย์แสดงให้เห็นแล้วว่า ความร่วมมือยังเหนียวแน่น
หวั่นน้ำมันแตะ100ดอลลาร์
นางสาวทีนา เติ้ง นักวิเคราะห์จากซีเอ็มซีมาร์เก็ตส์ กล่าวกับซีเอ็นบีซี “แผนของโอเปคพลัสในการลดกำลังการผลิตต่อไปอาจดันราคาให้ไปถึงหมุดหมาย 100 ดอลลาร์อีกครั้ง พิจารณาจากการที่จีนเปิดประเทศและรัสเซียลดการผลิตตอบโต้ตะวันตกคว่ำบาตร”
อย่างไรก็ตาม การลดผลิตอาจลบล้างผลของเงินเฟ้อที่ลดลง ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารชาติยุ่งยาก
ในเดือน มี.ค.ราคาน้ำมันดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ ธ.ค.2564 เมื่อวิตกว่าวิกฤติธนาคารอาจบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
นายบ็อบ แมคแนลลี ประธานเรพิแดนเอเนอร์จีกรุ๊ปมองว่า โอเปคและพันธมิตรกำลังพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ราคาดิ่งเหมือนเมื่อปี 2551 ที่ราคาน้ำมันตกจาก 140 ดอลลาร์ไปอยู่ที่ 35 ดอลลาร์ภายใน 6 เดือน
ในทัศนะของเขาราคาน้ำมันอาจไปถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ถ้าความต้องการของจีนกลับไปอยู่ที่ 16 ล้านบาร์เรลต่อวันในครึ่งหลังของปี และถ้าซัพพลายรัสเซียเริ่มหดหายจากมาตรการคว่ำบาตรและอื่นๆ จะยิ่งทำให้ตลาดตึงตัว และตามข้อมูลของบริษัทวิจัยวูด แมคเคนซีความต้องการน้ำมันโลกที่ฟื้นตัวขึ้นในปีนี้มาจากจีน 40%
ชี้กระทบแรงกว่ารอบก่อน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งกล่าวว่า การลดกำลังการผลิตครั้งล่าสุดจะส่งผลกระทบร้ายแรงกว่าครั้งก่อน “ที่การลดส่วนใหญ่มาจากประเทศที่ผลิตในระดับหรือเกินโควตา หมายความว่า สัดส่วนการลดที่เพิ่มสูงขึ้นตามที่ประกาศคราวนี้จะทำให้ซัพพลายจริงลดลงมากกว่าเมื่อเดือน ต.ค.2565” อมริตา เซน ผู้ก่อตั้งเอเนอร์จีแอสเปค ให้ความเห็นเขาเป็นอีกคนหนึ่งที่คาดว่า ราคาจะทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแต่ก็เป็นไปได้ที่การลดกำลังการผลิตอาจถูกยกเลิกได้เมื่อแรงกดดันในตลาดโลกผ่อนคลาย
เช่นเดียวกับโกลด์แมนแซคส์ระบุในรายงานว่า การลดการผลิตครั้งนี้แตกต่างจากเมื่อเดือน ต.ค.เมื่อแรงส่งความต้องการน้ำมันโลกอยู่ในขาขึ้นไม่ใช่ขาลงด้วยการฟื้นตัวของจีนที่แข็งแกร่ง หลังคำประกาศของโอเปคพลัส โกลด์แมนคาดว่าน้ำมันดิบเบรนท์จะเพิ่มขึ้น 5 ดอลลาร์มาอยู่ที่ 95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือน ธ.ค.ปีนี้
คณะนักวิเคราะห์ของโกลด์แมนนำโดยนายแดน สตรูว์เวน กล่าวว่า การลดผลิตแบบไม่คาดฝันเป็นไปตามหลักนิยมของโอเปคพลัสที่ต้องกระทำการเชิงรุกเพื่อป้องกันไว้ก่อน
“พลังงาน”หวั่นกระทบราคาในไทย
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอยางใกล้ชิด หลังจากที่โอเปกพลัส ประกาศปรับลดการผลิตน้ำมันลงอีก 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปัจจัยดังกล่าวส่งสัญญาถึงน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) เดือน พ.ค.2566 พุ่งขึ้น 5.17 ดอลลาร์ หรือ 6.83% แตะที่ระดับ 80.84 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันในประเทศไทยแน่นอน โดยกระทรวงพลังงานได้วิเคราะห์ราคาที่จะเพิ่มขึ้นในระดับที่เลวร้ายประมาณ 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือคิดเป็นเงินไทยที่จะต้องจ่ายค่าน้ำมันเพิ่มที่ลิตรละ 2 บาท โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีเงินสมทบลดลงจากลิตรละ 5 บาท เป็น 3 บาท ถือว่ายังพอพยุงราคาดีเซลได้ ซึ่งส่วนตัวยังมองว่าไม่น่าจะเตะระดับไปมากนัก
“ต้องรอดูผลการประชุมที่ชัดเจนที่คาดว่าจะออกมาเป็นทางการณ์ในคืนวันที่ 3 เม.ย. 2566 อีกครั้ง โดยมองว่าทิศทางราคาที่แท้จริงจะออกมาให้เห็นในช่วงวันที่ 6 เม.ย. 2566 ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะมีอะไรเลวร้ายไปกว่านี้แล้ว ดังนั้น กระทรวงพลังงานจะพยายามตรึงราคาให้ลดลงอีกเพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชน ซึ่งการลดตรงครั้งนี้ เพื่อเป็นการลดภาระในช่วงเทศกาลสงการนต์ที่จะถึงนี้” แหล่งข่าว กล่าว
กองทุนน้ำมันลดดีเซล2บาท
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) วันที่ 3 เม.ย.2566 ว่า กบน.มีมติปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 0.50 บาท จากราคาลิตรละ 33.50 บาท เป็น 33.00 บาท มีผลวันที่ 7 เม.ย.2566 โดยเป็นการปรับลดลงอีกครั้งที่ 4 หรือรวมการปรับลงแล้ลิตรละ 2 บาท นับตั้งแต่เดือน ก.พ.2566
ทั้งนี้ สาเหตุการปรับลดครั้งนี้มาจากราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลเดือน มี.ค.2566 อยู่ที่ 98.92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลงจากเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาที่อยู่ระดับ 4.69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยอัตราเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทน้ำมันดีเซลเฉลี่ยเดือน มี.ค.2566 อยู่ที่ลิตรละ 5.00 บาท อย่างไรก็ดี สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลโลกยังคงมีความผันผวนจากวิกฤติด้านการเงิน ความผันผวนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดจนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจีน
สำหรับฐานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มทยอยติดลบลดลง ณ วันที่ 2 เม.ย.2566 ติดลบ 91,860 ล้านบาท แบ่งเป็นติดลบจากบัญชีน้ำมัน 45,008 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG 46,860 ล้านบาท
กองทุนน้ำมันติดลบ9หมื่นล้าน
แหล่งข่าวจากระทรวงพลังงาน กล่าวว่า แม้ว่าตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ราคาพลังงานลดลงส่งผลให้ สกนช.ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน มี.ค.2566 สถานะกองทุนน้ำมันฯ มีภาระติดลบลดลงจาก 120,000 ล้านบาท เหลือติดลบระดับ 90,000 ล้านบาท เฉลี่ยติดลบของบัญชีน้ำมันและก๊าซ LPG ระดับใกล้เคียงกัน
รวมทั้งการที่กองทุนน้ำมันฯ ติดลบลดลง นอกจากราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซล (Gas Oil) ตลาดโลกลดลงแล้ว อีกปัจจัยสำคัญ คือ การที่กระทรวงการคลังสนับสนุนมาตรการลดภาษีดีเซลต่อเนื่อง โดยได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท ต่ออีก 4 เดือน (21 ม.ค.-20 พ.ค.2566) เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชนและพยุงราคาสินค้า ส่งผลให้กรมสรรพสามิตสูญรายได้กว่า 40,000 ล้านบาท
“แม้ราคาดีเซลตลาดโลกจะลดลงแต่ยังผันผวนจากหลายปัจจัย อาทิ สงครามรัสเซีย ยูเครน สงครามภูมิรัฐศาสตร์ สหรัฐและจีน หรือเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาใกล้ชิด"
รวมทั้งการที่กระทรวงการคลังลดภาษีดีเซลลงครั้งนี้ช่วยให้ราคาดีเซลลดลงและเงินกองทุนน้ำมันฯ ติดลบลดลง ซึ่งรวมแล้วลดภาษีดีเซลเป็นครั้งที่ 6 แล้ว ในช่วง 1 ปี (ก.พ.65-พ.ค.2566) ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ 1.4-1.5 แสนล้านบาท
แหล่งข่าว กล่าวว่า นอกจากปัจจัยข้างต้นที่กล่าวมาทำให้สถานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบลดลงมาจากการเก็บเงินจากผู้ใช้ดีเซลเพื่อส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ อยู่ที่ระดับลิตรละ 5 บาท โดยเก็บเงินเข้าบัญชีน้ำมันดีเซลเฉลียวันละ 428 ล้านบาท ส่วนนี้นำไปชดเชยราคาก๊าซ LPG เฉลี่ยวันละ 9.23 ล้านบาท เพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.2566
สำหรับความคืบหน้าการกู้เงินเพื่อนำมาชำระหนี้ให้กับคู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 โดยทยอยชำระจากการกู้เงินก้อนแรกแล้ว 30,000 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) บรรจุเป็นหนี้สาธารณะเพิ่มอีก 80,000 ล้านบาท โดยกองทุนน้ำมันฯ จะทยอยแบ่งกู้เฉลี่ยงวดละ 15,000-20,000 ล้านบาท
กองทุนน้ำมันกู้เงินรอบใหม่
ทั้งนี้ คาดว่าในเดือน เม.ย.2566 จะเริ่มกู้งวดแรก โดยเมื่อรวมการบรรจุหนี้สาธารณะที่ผ่านการพิจารณาจาก ครม.แล้วจะอยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาท จากวงเงินรวมที่ ครม.อนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน 1.5 แสนล้านบาท ดังนั้นยังเหลือวงเงินอีก 40,000 ล้านบาท ซึ่งหากจะกู้เพิ่มต้องกู้ภายในวันที่ 5 ต.ค.2566
“กระทรวงพลังงานมองว่าการกู้เงินก้อนที่ 2 อีก 80,000 ล้านบาท จะพอต่อการทยอยชำระหนี้คู้ค่าน้ำมันมาตรา 7 ที่ยอดหนี้อยู่ระดับเดียวกับยอดเงินที่อยู่ระหว่างการดำเนินการกู้ เพียงเปลี่ยนจากการเป็นหนี้คู้ค้าน้ำมันฯ มาเป็นเป็นหนี้สถาบันทางการเงินแทน”
อย่างไรก็ตาม การกู้ก้อนที่เหลืออีก 40,000 ล้านบาทหรือไม่นั้น ต้องมาดูสถานะการเงินและปัจจัยราคาน้ำมันตลาดโลก ซึ่งหากแนวโน้มราคาตลาดโลกลดลงก็ไม่ต้องกู้เพิ่มเติม แต่หากต้องกู้จะต้องขอความเห็นชอบจาก สบน.เพื่อเสนอ ครม.ก่อนวันที่ 5 ต.ค.2566
ส่วนการชำระหนี้ก้อนแรก 30,000 ล้านบาท ให้ธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย ขณะนี้กองทุนน้ำมันฯ ได้จ่ายดอกเบี้ยตรงกำหนดและมั่นใจว่าจะใช้หนี้ได้ตามแผน