เปิดใจ 'สุพันธ์ุ มงคลสุธี' จากประธาน ส.อ.ท.สู่ 'แคนดิเนตนายกฯ' ไทยสร้างไทย
“สพันธุ์ มงคลสุธี” แคนดิเนตนายกพรรคไทยสร้างไทย เปิดใจเข้าสู่ถนนสายการเมือง ชูนโยบายเศรษฐกิจพรรค ปลดล็อกเศรษฐกิจไทยด้วยนโยบาย 3 สร้าง ตั้ง 3 กองทุนปลดหนี้ สร้างโอกาสประชาชนเอสเอ็มอี ดันสตาร์ทอัพ พัฒนาเอสเอ็มอีรายคลัสเตอร์หวังดันซัพพายเชนไทยให้ไปสู่ระดับโลก
การเลือกตั้งปี 2566 เป็นการเลือกตั้งที่เป็นการแข่งขันกันด้วยนโยบายและตัวบุคคลด้านเศรษฐกิจ ทำให้แต่ละพรรคมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่มีความรู้ และประสบการณ์ในการบริหารงานเศรษฐกิจทั้งระดับองค์กร และระดับปประเทศ เช่นเดียวกันกับ “พรรคไทยสร้างไทย” ทีได้ส่ง "สุพันธุ์ มงคลสุธี" อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะรองหัวหน้าและประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของพรรค ลงเป็นแคนดิเนตนายกรัฐมนตรีอันดับ 2 ต่อจากคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคที่ลงเป็นแคนดิเนตนายกฯอันดับ 1 ของพรรค
“กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์สุพันธุ์ถึงเหตุผลที่หันหลังให้กับวงการธุรกิจ และเข้าสู่เส้นทางการเมืองอย่างเต็มตัว รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจที่น่าสนใจของพรรคไทยสร้างไทยที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้
“สุพันธุ์” กล่าวว่าก่อนหน้านี้อยู่ในแวดวงธุรกิจมาตลอดชีวิตค่อยๆสร้างกิจการจากเอสเอ็มอีเล็กๆ จนกลายเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และภูมิใจมากที่บริษัทที่เคยปลุกปั้นและบริหารสามารถเติบโตและจ่ายเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลเข้าภาครัฐมากกว่า 1.5 พันล้านบาท
แม้ว่าบนเส้นทางธุรกิจประสบผลสำเร็จอย่างมากในการบริหารกิจการจนได้รับตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรีหลายปี ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและอยู่ในตำแหน่งถึง 3 สมัย แต่เมื่อทำงานร่วมกับคณะกรรมการต่างๆร่วมกับภาครัฐได้เริ่มเห็นปัญหาในการบริหารจัดการของรัฐ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดโควิด-19 ที่มองว่าการแก้ปัญหาล่าช้า กระทบต่อทั้งชีวิตประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจประเทศทรุดตัวลงมากหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นมาแตะระดับ 80 – 90% ต่อจีดีพี ซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อน ส่วนหนี้สาธารณะของประเทศก็เพิ่มสูงมากจากวิกฤติที่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกันปัญหาความเหลื่อมล้ำก็เพิ่มสูงขึ้นมากจนเกิดปัญหาทางสังคมตามมามาก ซึ่งมองว่าหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปเศรษฐกิจไทยจะมีปัญหามากและกระทบมายังภาคส่วนต่างๆในสังคม ในที่สุดประเทศก็คงไปไม่รอดเพราะอาจจะพังทลายลงได่ ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินก็ต่ำลงซึ่งจะกระทบกับลูกหลานที่อยู่ในประเทศนี้ที่จะมีความลำบากมากขึ้นในอนาคต
“ผมจึงคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องลงมาทำงานการเมืองเอง เพราะเรารู้ถึงปัญหา และวิธีการแก้ไข และการทำงานของผมก็ไม่ได้หวังผลประโยชน์ ไม่ต้องรักษาผลประโยชน์ให้ใคร ซึ่งต่างกับรัฐที่มองความมั่นคงเฉพาะกลุ่ม จึงตัดสินใจเข้ามาทำงานการเมืองซึ่งคิดว่าดีกว่านั่งว่านั่งวิจารณ์อยู่ข้างนอก เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถเดินไปข้างหน้าได้ตามวิสัยทัศน์ที่ได้มองไว้ว่าประเทศไทยควรพัฒนาไปอย่างไร” นายสุพันธุ์ กล่าว
สำหรับนโยบายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของพรรคไทยสร้างไทย เราเน้นไปที่การปลดล็อกเศรษฐกิจด้วยนโยบาย 3 สร้าง คือสร้างพลังคนตัวเล็ก สร้างรายได้ควบคู่กับการลดรายจ่าย และสร้างโอกาสและสร้างความสุข โดยในส่วนแรกที่จะเป็นการปลดล็อกเศรษฐกิจพรรคมองไปที่การแก้ปัญหาหนี้สิน เพราะหนี้สินที่ประชาชน และเอสเอ็มอีรายย่อยมีอยู่ทำให้ขยับตัวได้ลำบาก โดยวันนี้สิ่งที่เป็นปัญหามากคือหนี้นอกระบบที่เพิ่มขึ้นมาประมาณ 10-20 % เมื่อรวมจำนวนหนี้ทั้งในและนอกระบบคิดเป็นวงเงินรวมประมาณ 14 – 15 ล้านล้านบาท
ดังนั้นนโยบายที่จะต้องเข้ามาแก้หนี้ต้องทำเป็นขั้นตอน โดยในส่วนแรกต้องมีการแก้หนี้เสียที่เกิดขึ้นจากช่วงโควิด -19 โดยการตั้ง “กองทุนการฟื้นฟูหนี้เสีย” วงเงิน 1 – 2 หมื่นล้านบาท โดยนำเงินในกองทุนไปจ่ายดอกเบี้นให้กับ “ลูกหนี้รหัส 21” ซึ่งเป็นลูกหนี้ในฐานของเครดิตบูโรที่ค้างชำระหนี้เกิน 90 วันจากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 3-4 ล้านคน เป็นวงเงินรวมประมาณ 4 – 5 แสนล้านบาท ซึ่งกองทุนฯนี้จะไปทำหน้าที่ในการจ่ายดอกเบี้ยให้ลูกหนี้กลุ่มนี้พร้อมทั้งเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อขอปรับลดหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ในกลุ่มนี้ด้วยเพื่อให้ลูกหนี้ในกลุ่มนี้สามารถกู้เงินไปทำธุรกิจในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้
นอกจากนี้เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้ได้เป็นรูปธรรม ยังมีการตั้ง “กองทุนเครดิตประชาชน” โดยกองทุนนี้จะทำหน้าที่ในการปล่อยกู้ให้กับประชาชนในลักษณะวงเงินฉุกเฉิน โดยให้กู้ยืมได้ 5,000 – 50,000 บาท โดยกำหนดดอกเบี้ยต่ำที่ 1% ต่อเดือน และสามารถผ่อนจ่ายได้เป็นรายวัน เมื่อจ่ายครบ จ่ายตรง ก็จะเพิ่มวงเงินในการกู้ให้กับประชาชนเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนโดยไม่ต้องกู้เงินนอกระบบ
โดยมาตรการนี้จะทำควบคู่กับการส่งเสริมให้มีไมโครไฟแนนซ์ที่รัฐบาลกำกับอัตราดอกเบี้ยในการปล่อยกู้มากขึ้น ซึ่งมองว่าเมื่อมีไมโครไฟแนนซ์เข้ามาแข่งขันกันในการปล่อยกู้ก็จะทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลง และภาครัฐจะมีการกำกับดูแลไม่ให้มีการคิดดอกเบี้ยเกินที่กฏหมายกำหนด
ทั้งนี้เมื่อสามารถแก้หนี้ส่วนประชาชนได้แล้วต้องไปดูในเรื่องการแก้หนี้เติมทุนให้กับกลุ่มเอสเอ็มอีซึ่งเป็นกลุ่มที่ขาดสภาพคล่อง และมีปัญหาหนี้สินมากในช่วงที่ผ่านมา โดยในส่วนของการแก้หนี้พรรคไทยสร้างไทยจะขยายวงเงินในการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพิ่มวงเงินค้ำประกันเป็น 60% เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถกู้เงินมาหมุนเวียนทำธุรกิจได้
ขณะที่การเติมทุน สร้างนวัตกรรมให้กับสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอี โดยใช้ “กองทุนสร้างไทย” ที่มีวงเงินกว่า 3 แสนล้านบาท จะเข้ามาดูแลในส่วนนี้และเป็นกองทุนที่ยืดหยุ่นให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยทำควบคู่กับการดึงให้เอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบภาษีโดยใช้ E-Tax และ E-invoice เข้ามาทำอย่างเป็นมาตรฐานเดียวกันซึ่งจะสร้างความเข้มแข็งให้กับเอสเอ็มอีไทยในอนาคต
ทั้งนี้นโยบายในการช่วยเหลือภาคธุรกิจและเอสเอ็มอีให้ลดต้นทุน ยังมีนโยบายในการลดต้นทุนของผู้ประกอบการ เช่น ลดค่าไฟฟ้า ลดต้นทุนระยะเวลาเรื่องการขอใบอนุญาตที่เป็นอุปสรรคและต้นทุนในการทำธุรกิจ เช่น จดแจ้งธุรกิจภายใน 7 วัน หากต้องขออย.ให้มีกระบวนการตรวจสอบย้อนหลังเพื่อควบคุมคณภาพ แต่ธุรกิจสามารถขายสินค้าได้รวดเร็ว เช่นเดียวกับกฎหมายโรงแรมที่ไม่เอื้อต่อการเปิดตัวของโรงแรมขนาดเล็ก ทำให้ผู้ประกอบการขออนุญาตได้ยากในส่วนนี้ก็ต้องมีการแก้ไข
ส่วนประชาชนนโยบายของพรรคคือการดูแลตั้งแต่เกิดจนโต โดยมีนโยบายเรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรี โดยนักเรียนไม่ต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และลดเวลาเรียนลง 3 ปี เพื่อให้เยาวชนเข้าสู่ตลาดแรงงานได้รวดเร็วขึ้นคือตั้งแต่อายุ 18 ปี และบทบาทของครู อาจารย์และสถานศึกษาต้องปรับเปลี่ยนไปทำบทบาทในการเป็นโค้ชชิ่งเพื่อให้สามารถได้ความรู้สำหรับไปประกอบอาชีพ และมีทักษะที่จำเป็น เช่น ด้านเทคโนโลยี ออนไลน์ ที่มีความจำเป็นสำหรับโลกอนาคต
เช่นเดียวกับการลดค่าใช้จ่ายให้กับมนุษย์เงินเดือน จะยกเว้นภาษีให้กับผู้รายได้ต่ำกว่า 3 แสนบาทต่อปี ส่วนเอสเอ็มอีก็จะได้รับการยกเว้นภาษีในช่วง 3 ปีแรกที่เปิดธุรกิจเช่นกัน ซึ่งจากการศึกษาภาษีที่เอสเอ็มอีจะจ่ายใน 3 ปีแรก นั้นไม่มากอยู่แล้วแต่นโยบายนี้จะทำให้เอสเอ็มอีไทยมีความเข้มแข็งสามารถอยู่ได้
สำหรับนโยบายของพรรคไทยสร้างไทยในการสร้างรายได้ แบ่งเป็นหลายด้าน ได้แก่
1.สร้างรายได้จากฐานเดิมที่คนไทยถนัด โดยเรื่องที่สามารถต่อยอดได้คือเรื่องของ เกษตร พรรคไทยสร้างไทยเสนอให้มีการทำ ตลาดสินค้าเกษตรรายจังหวัด สนับสนุนการประกันราคาปุ๋ย ปฏิรูปชลประทานทั้งระบบ พัฒนาเกษตรแปรรูป ส่วนเรื่องของอาหารที่ไทยเป็นครัวโลก นั้นต้องส่งเสริมนโยบายนี้ต่อเนื่องและต่อยอดไปในอนาคต โดยอาหารแห่งอนาคต และอาหารทางเลือก
2.สร้างรายได้เพิ่มจากภาคท่องเที่ยว โดยพรรคมีเป้าหมายในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มให้มากกว่าก่อนเกิดโควิด-19 โดยการสนับสนุนการสร้างแลนด์มาร์กการท่องเที่ยวทุกจังหวัด สนับสนุนนโยบายท่องเที่ยวเมืองรอง สนับสนุนธุรกิจโรงแรมขนาดเล็ก สร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์มหกรรมระดับโลกในไทยให้มีกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว 12 เดือน
ทั้งนี้มองว่าสิ่งที่รัฐควรเร่งรัดทำก่อนคือการทำแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวโดยรัฐ ที่ทำให้ราคาถูกที่สุดมีโปรโมชั่นมากที่สุดโดยไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติ เหมือนในปัจจุบัน
3.การสร้างรายได้เพิ่มจากการพัฒนาด้านสุขภาวะ และ เวชศาสตร์ชะลอวัย โดยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการรักษาและพักฟื้นแปรรูปสมุนไพรไทย เป็นอาหารเสริม การส่งเสริม Cluster ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพสำหรับ SMEs
4.การสร้างรายได้จากฐานเทคโนโลยีสังคมดิจิทัล โดยการเร่งยกระดับรัฐบาลดิจิทัล (e-government) เพิ่มความสะดวกในการติดต่อระบบราชการด้วยระบบ One Stop Service การสร้าง แพลตฟอร์มเชื่อมโยงฐานข้อมูล (Database) เพื่อใช้ข้อมลในการเพิ่มผลผลิต – ลดต้นทุนทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยี
และ 5.การสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ ให้เป็นรายได้ของประเทศ โดยการส่งเสริมเศรษฐกิจโลกใหม่ให้เป็นฐานรายได้ของประเทศ ได้แก่ โมเดลเศรษฐกิจ BCG ปรับโครงสร้างและตัวชี้วัดของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้มาสนับสนุนเอสเอ็มอี เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการเพิ่มจีดีพีเอสเอ็มอีจาก 35% เป็น 50% ภายใน 4 ปี
เช่นเดียวกับปรับปรุงพื้นที่แขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ให้เป็นพื้นที่โอกาสในการลงทุนของเอสเอ็มอี เช่น ดึงคลัสเตอร์เอสเอ็มอีเครื่องสำอางกว่า 100 บริษัทเข้ามาตั้งไว้ในพื้นที่ว่างของโครงการอีอีซีโดยให้แต้มต่อแก่ผู้ประกอบการไทย เช่นให้ราคาค่าเช่าที่ดินที่ถูกกว่าต่างชาติ รวมทั้งรัฐบาลให้การสนับสนุนผ่านการตั้งศูนย์ทดลองวิจัย โลจิสติกส์ และส่งเสริมด้านการตลาดด้วย รวมทั้งมาตรการเดิมที่มีการสนับสนุนยกเว้นภาษี 5 – 8 ปี เพื่อให้อสเอ็มอีกลุ่มนี้ของไทยแข็งแรงก็สามารถออกไปแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้
หรือทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยอยู่ในซัพพายเชนของโลกได้ ขณะเดียวกันรัฐก็สามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจเอสเอ็มอีที่แข็งแรงขึ้นซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจจากฐานรากและเอสเอ็มอีซึ่งเป็นแนวคิดที่พรรคไทยสร้างไทยส่งเสริมแนวนโยบายในลักษณะนี้