การทางฯ เตรียมชงรัฐบาลใหม่ เคาะแผน 'ทางด่วนแยกเกษตร'
การทางฯ เตรียมชงรัฐบาลใหม่เปิดPPP สร้างอุโมงค์ทางด่วนขั้น 3 ตอน N1 วงเงิน 3.1 หมื่นล้านบาท เชื่อมทางพิเศษศรีรัช – ถนนงามวงศ์วาน – ถนนประเสริฐมนูกิจ คาดประมูลภายในปี 2567 ก่อนตอกเสาเข็มในปี 2568
การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นสัญญาณถึงการสิ้นสุดรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งพบว่ายังมีงานค้างที่รอการตัดสินใจอีกมาก ในส่วนของโครงการก่อสร้างทางด่วนก็เป็นหนึ่งในโปรเจกต์ที่รอให้รัฐบาลใหม่มาตัดสินใจ
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 โดยระบุว่า ขณะนี้ กทพ.ได้เริ่มต้นศึกษาความเหมาะสมของแนวเส้นทางพัฒนาโครงการดังกล่าวตามมติของคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปแนวเส้นทางที่เหมาะสมภายในปีนี้
อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาโครงการนี้ จะมีแนวเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างช่วงทางพิเศษศรีรัช – ถนนงามวงศ์วาน - ถนนประเสริฐมนูกิจ ซึ่งเบื้องต้นมีการศึกษาความเหมาะสมออกเป็น 3 ทางเลือก โดย กทพ.และที่ปรึกษาโครงการจะเปรียบเทียบทั้งต้นทุนทางการเงิน ความคุ้มค่า และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน เน้นย้ำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด หลังจากศึกษาแล้วเสร็จนั้น คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในปี 2567
สำหรับแนวทางดำเนินงานเบื้องต้น เนื่องด้วยโครงการมีมูลค่าการลงทุนค่อนข้างสูง โดยประเมินอยู่ที่ 31,747 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ 1,000 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง 30,747 ล้านบาท กทพ.จึงมีแผนจะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) โดยให้ภาครัฐจะเป็นผู้สนับสนุนค่างานโยธา และเอกชนลงทุนในส่วนของการติดตั้งระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง
ทั้งนี้ กทพ.คาดการณ์ว่าโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 ช่วงทางพิเศษศรีรัช – ถนนงามวงศ์วาน – ถนนประเสริฐมนูกิจ จะเริ่มเปิดประมูลได้ภายในปี 2567 หลังจากนั้นจะเร่งรัดให้เริ่มต้นงานก่อสร้างทันทีภายในต้นปี 2568 โดยจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปี จึงคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2573
แนวทางเลือกศึกษาก่อนก่อสร้าง
สำหรับ 3 แนวทางเลือกในการศึกษา ประกอบด้วย
1.ทางพิเศษประจิมรัถยา – ถนนพหลโยธิน - แนวคลองบางบัว มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางพิเศษประจิมรัถยาข้ามทางพิเศษศรีรัช เลี้ยวซ้ายไปตามถนนกำแพงเพชร 2 ถึงบริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 11 แล้วเลี้ยวขวา และลดระดับลงใต้ดินบริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 17 แยก 8 ลอดใต้ ถนนวิภาวดีรังสิต ต่อเนื่องไปตามแนวคลองระบายน้ำด้านข้างซอยเผือกวิจิตร จนถึงถนนรัชดาภิเษกบริเวณใกล้ ซอยรัชดาภิเษก 46 เลี้ยวขวาไปตามแนวถนนรัชดาภิเษกถึงแยกรัชดาลาดพร้าว เลี้ยวซ้ายไปตามแนวถนนพหลโยธินฝั่งขาออก เมื่อถึงแยกเกษตรจึงเลี้ยวขวาไปเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อ E-W Corridor
2.ทางพิเศษศรีรัช – ถนนงามวงศ์วาน - แนวคลองบางบัว โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณทางพิเศษศรีรัชตัดกับแนวถนนงามวงศ์วาน มาตามแนวเกาะกลางถนนงามวงศ์วาน ผ่านแยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจจนเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อ E-W Corridor แนวทางนี้จะมีทางเลือกย่อย 2 แนวทาง ดังนี้
2.1 จะเริ่มต้นในลักษณะเส้นทางยกระดับจนถึงคลองลาดยาว แล้วลดระดับลงใต้ดิน บริเวณด้านหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม ลอดใต้คลองเปรมประชากร ถนนวิภาวดีรังสิต แยกเกษตร
2.2 จะมีลักษณะเป็นเส้นทางใต้ดินทั้งหมด ไปจนถึงจุดเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อ E-W Corridor
3.ทางพิเศษประจิมรัถยา – ต่างระดับรัชวิภาฯ - แนวคลองบางบัว มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางพิเศษประจิมรัถยาข้ามทางพิเศษศรีรัช ไปตามแนวถนนกำแพงเพชร 2 ถึงทางต่างระดับรัชวิภา เลี้ยวตัดผ่านซอยวิภาวดีรังสิต 40/1 ตรงไปตามยังแนวซอยด้านหลังตลาดอมรพันธ์ ลอดใต้ ถนนพหลโยธิน ต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ เพื่อเชื่อมต่อโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อ E-W Corridor ทางเลือกนี้จะมีทางเลือกย่อย 2 แนวทาง ดังนี้
3.1 จะมีลักษณะเป็นทางยกระดับจากจุดเริ่มต้นโครงการ ไปจนถึงทางต่างระดับรัชวิภา จนถึงซอยพหลโยธิน 35 แยก 13 จึงลดระดับลงใต้ดินตรงไปตามแนวซอยด้านหลังตลาดอมรพันธ์ ลอดใต้ ถนนพหลโยธิน ต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ เพื่อเชื่อมต่อโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อ E-W Corridor
เตรียมชงบอร์ดลุยส่วนต่อขยาย N2
3.2 จะมีจุดเริ่มต้นเหมือนทางเลือกย่อยที่ 3.1 ลักษณะเป็นทางยกระดับจนถึงซอยวิภาวดีรังสิต 40/1 แล้วจึงเปลี่ยนเป็นเส้นทางใต้ดิน บริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 17 แยก 8 แล้วลอดใต้ถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณซอยพฤกษ์วิชิต แล้วเลี้ยวซ้ายอ้อมออกไปทางถนนรัชดาภิเษก บริเวณซอยรัชดาภิเษก 48 จนถึงซอยวิภาวดีรังสิต 38 จึงเลี้ยวขวาไปตามแนวทางเลือกที่ 3.1
นายสุรเชษฐ์ ยังเปิดเผยถึงส่วนต่อขยายตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ – ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้วยว่า แนวเส้นทางนี้จะมีระยะทางต่อจาก N1 ไปอีก 11.3 กิโลเมตร คาดใช้วงเงินลงทุน 16,960 ล้านบาท ปัจจุบัน กทพ.อยู่ระหว่างเตรียมเสนอบอร์ดในเดือน พ.ค.นี้ เพื่อเห็นชอบเปิดประกวดราคาจัดหาผู้รับเหมางานโยธา โดยคาดว่าจะสามารถเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ชุดใหม่เห็นชอบ และเริ่มเปิดประมูลในปี 2567 และดำเนินการก่อสร้างทันที ระยะเวลาก่อสร้างราว 3-4 ปี เปิดให้บริการประมาณปี 2570 - 2571
สำหรับแนวเส้นทางของทางด่วนตอน N2 มีจุดเริ่มต้นบริเวณ กม.1+000 ของถนนประเสริฐมนูกิจ เป็นทางด่วนยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมต่อทางด่วนฉลองรัชบริเวณทางแยกฉลองรัช สิ้นสุดเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันออก (ทล.9) บริเวณทางแยกต่างระดับลาดบัวขาว